X

เมลาโทนิน อันตรายมั้ย ? ช่วยเรื่องนอนไม่หลับได้จริงหรือเปล่า ? รู้ให้ชัวร์ก่อนใช้ !

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

เมลาโทนิน อันตรายมั้ย ? ช่วยเรื่องนอนไม่หลับได้จริงหรือเปล่า ? รู้ให้ชัวร์ก่อนใช้ !

ปัญหาเรื่องการนอนหลับนั้น นับเป็นปัญหาที่พบเจอได้บ่อยๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเครียดหรือมีเรื่องให้คิดวิตกกังวลจนนอนไม่หลับ บางครั้งก็ต้องใช้ยานอนหลับหรือกินอาหารที่มีทริปโตเฟนสูง ซึ่งมีส่วนช่วยในการนอนหลับได้ อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่มีปัญหาด้านการนอนหลับเป็นประจำอาจจะหาตัวช่วยอื่นๆ อย่างเมลาโทนิน ซึ่งว่ากันว่าเป็นสิ่งที่ช่วยในเรื่องของการนอนหลับได้เช่นกัน มาดูกันว่า เมลาโทนิน คืออะไร ช่วยในเรื่องการนอนหลับได้จริงหรือไม่ เมลาโทนิน อันตรายไหม ? ใช้แล้วจะส่งผลเสียต่อร่างกายหรือเปล่า มารู้จักให้มากขึ้นกันค่ะ

เมลาโทนิน อันตรายไหม ? ชวนรู้จักเมลาโทนินให้มากขึ้น !

เมลาโทนิน อันตรายไหม, เมลาโทนิน คือ
Image Credit : freepik.com

Melatonin หรือ เมลาโทนิน คือ ฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นจากต่อมไพเนียล (Pineal Gland) ที่อยู่เหนือสมอง ซึ่งเมลาโทนินเปรียบเสมือนเป็นกุญแจเปิดประตูสู่การนอนหลับ โดยร่างกายจะเริ่มหลั่งฮอร์โมนชนิดนี้ออกมาตั้งแต่ในเวลาที่พระอาทิตย์เริ่มตกดิน และร่างกายของเราจะมีระดับเมลาโทนินสูงสุดในช่วงกลางคืน นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เรารู้สึกง่วงนอน ซึ่งเป็นกลไกการทำงานของร่างกายที่บ่งบอกว่าถึงเวลานอนหลับแล้ว ทั้งนี้ ความมืดจะเป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเมลาโทนิน ในขณะที่แสงเป็นตัวยับยั้งการหลั่งเมลาโทนินของเรา ในปัจจุบันมีการนำเมลาโทนินไปใช้ในการรักษาโรคต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มโรคที่เกี่ยวกับการนอนหลับ แล้ว เมลาโทนิน อันตรายไหม ? ไปดูกันต่อเลยค่ะ

เกร็ดสุขภาพ : โดยปกติแล้วสมองของเราจะผลิตเมลาโทนินออกมาในช่วงประมาณ 3 ทุ่ม และจะยังคงอยู่ในกระแสเลือดเป็นเวลาประมาณ 12 ชั่วโมง ก่อนจะค่อยๆ ลดลงพร้อมๆ กับการเพิ่มขึ้นของแสงอาทิตย์ จนกระทั่งถึงเวลาประมาณ 9 โมงเช้า ระดับเมลาโทนินในร่างกายจะลดต่ำลงจนไม่สามารถวัดได้ ทั้งนี้ มีการศีกษาพบว่า การได้รับแสงสีฟ้าจากหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือ สามารถยับยั้งหรือชะลอการหลั่งของเมลาโทนินได้ และยังมีการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่สมองจะหลั่งเมลาโทนินน้อยลง ทำให้ผู้สูงอายุมีภาวะนอนหลับยากได้

รู้ให้ชัวร์ก่อนใช้ เมลาโทนินมีแบบไหนบ้าง ?

เมลาโทนิน อันตรายไหม, เมลาโทนิน คือ
Image Credit : vecteezy.com

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เมลาโทนินออกวางขายในตลาดมากมายหลายรูปแบบ ทั้งในรูปแบบเยลลี่หรือรูปแบบชนิดเม็ด และมีหลายยี่ห้อด้วยกัน ซึ่งสามารถจำแนกชนิดของเมลาโทนินได้ดังนี้

  • เมลาโทนินรูปแบบปลดปล่อยทันที ซึ่งมีทั้งที่อยู่ในรูปแบบยาเม็ด หรือรูปแบบอื่น เช่น กัมมี่ มีระดับความแรงตั้งแต่ 3 มิลลิกรัม 5 มิลลิกรัม และ 10 มิลลิกรัม ซึ่งเมลาโทนินรูปแบบนี้ ไม่มีการขึ้นทะเบียนเป็นยาในประเทศไทย 
  • เมลาโทนินรูปแบบออกฤทธิ์เนิ่น ความแรง 2 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีจำหน่ายเป็นยาในประเทศไทย มีข้อบ่งใช้ในการรักษาอาการนอนไม่หลับปฐมภูมิระยะสั้นในผู้ป่วยอายุ 55 ปีขึ้นไป โดยใช้ขนาด 2 มิลลิกรัม รับประทานก่อนเข้านอน 1 ชั่วโมง โดยสามารถใช้ติดต่อกันได้สูงสุดเป็นเวลา 13 สัปดาห์

ทั้งนี้ รูปแบบยาในประเทศไทยนั้นเป็นแบบออกฤทธิ์เนิ่น ซึ่งจะมีการปล่อยตัวยาออกมาทีละน้อย และสามารถเลียนแบบการหลั่งของเมลาโทนินตามธรรมชาติของร่างกายได้ดี แล้วเมลาโทนิน อันตรายไหม ? ในประเทศสหรัฐอเมริกา เมลาโทนินเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อาจมีทั้งรูปแบบปลดปล่อยทันทีและรูปแบบออกฤทธิ์เนิ่น โดยมีจำหน่ายทั่วไป แต่สำหรับประเทศไทย เมลาโทนิน คือยาที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตราย ทำให้สามารถจำหน่ายในร้านขายยาหรือจ่ายยาตามแพทย์สั่งเท่านั้น

ประโยชน์ของเมลาโทนิน ช่วยในเรื่องใดบ้าง ?

เมลาโทนิน อันตรายไหม, เมลาโทนิน คือ
Image Credit : vecteezy.com

เนื่องจากเมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับโดยตรง ประโยชน์ของเมลาโทนินจึงเกี่ยวข้องกับเรื่องของการนอนหลับเป็นส่วนใหญ่ การใช้เมลาโทนินสังเคราะห์เพื่อการรักษาอาการต่างๆ นั้น ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ โดยจะใช้เพื่อการรักษากลุ่มอาการต่างๆ ดังนี้

  1. รักษาความผิดปกติของนาฬิกาชีวภาพในคนตาบอดทั้งเด็กและผู้ใหญ่ 
  2. รักษากลุ่มอาการนอนหลับผิดเวลา หรือ delayed sleep phase syndrome ซึ่งเป็นความผิดปกติด้านการนอนหลับที่ผู้ป่วยจะไม่สามารถนอนหลับได้ก่อนเวลาตีสอง ทั้งยังมีปัญหาในการตื่นนอนตอนเช้า การใช้เมลาโทนินร่วมกับการปรับสภาพแวดล้อมในการนอนให้เหมาะสม จะช่วยบรรเทาความผิดปกติด้านการนอนหลับได้ 
  3. รักษาโรคนอนไม่หลับ หรือ Insomnia ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพการนอนหลับที่ดีขึ้น และสามารถนอนหลับได้นานขึ้น
  4. ช่วยในเรื่องของ อาการ Jet lag  ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของเขตเวลาได้ ทำให้เกิดอาการนอนหลับไม่สนิท รู้สึกตื่นตัว หรืออ่อนเพลียระหว่างวัน เป็นต้น 
  5. ช่วยในเรื่องของการนอนหลับในคนที่ทำงานเป็นกะ

เกร็ดสุขภาพ : นาฬิกาชีวภาพ หรือ Circadian Rhythm คือลักษณะทางชีววิทยาตลอด 24 ชั่วโมงของแต่ละคนที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย ทั้งฮอร์โมน อุณหภูมิของร่างกาย รวมถึงการหลับและการตื่น ซึ่งวงจรการนอนหลับและการตื่นของมนุษย์เราก็เป็นสิ่งที่นาฬิกาชีวภาพมีอิทธิพลเป็นอย่างมาก และมีปัจจัยหลายประการที่มีผลต่อวงจรการนอนหลับ เช่น ระดับฮอร์โมนในกระแสเลือด ระดับเมลาโทนิน อุณหภูมิร่างกาย แสงสว่าง เป็นต้น

เมลาโทนิน อันตรายไหม ? ชวนดูผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้เมลาโทนิน

เมลาโทนิน อันตรายไหม, เมลาโทนิน คือ
Image Credit : vecteezy.com

แม้ว่าเมลาโทนินจะเป็นฮอร์โมนที่สมองของเราสร้างได้เองตามธรรมชาติ แต่การใช้ยาหรืออาหารเสริมที่เป็นเมลาโทนินสังเคราะห์ติดต่อกันในระยะยาว ก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ ดังนี้

  • มีอาการง่วงเหงาหาวนอนในระหว่างวัน
  • ปวดศีรษะ
  • วิงเวียนศีรษะ
  • มีอาการมวนท้อง
  • วิตกกังวล
  • รู้สึกหงุดหงิด
  • มีอาการมึนงง
  • มีภาวะซึมเศร้าระยะสั้น

การใช้เมลาโทนิน ควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น ไม่ควรซื้อมารับประทานเอง และขณะใช้ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ รวมถึงการทำงานที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ทำงานกับเครื่องจักร เพราะอาจเกิดอันตรายได้ ถ้าถามว่าเมลาโทนิน อันตรายไหม คำตอบก็คือ อาจเป็นอันตรายได้หากไม่ได้ใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนี้ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง ผู้ป่วยลมชัก ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ที่มีปัญหาเรื่องตับและไต และผู้ที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการใช้เมลาโทนิน รวมถึงไม่ควรใช้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กดประสาท และไม่ควรใช้กับแอลกอฮอล์ด้วยค่ะ

สำหรับใครที่กำลังหาข้อมูลว่า เมลาโทนิน อันตรายไหม ควรใช้อย่างไร ก็คงจะคลายข้อสงสัยกันไปได้บ้างนะคะ ทั้งนี้ ขอย้ำอีกครั้งว่า ในประเทศไทยมีการขึ้นทะเบียนเมลาโทนินเป็นยาอันตราย ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น ไม่ควรซื้อมารับประทานเองโดยปราศจากการได้รับคำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ หากมีอาการนอนไม่หลับ ควรปรับพฤติกรรมของตนเองเพื่อให้มีการนอนหลับที่มีคุณภาพ ด้วยการปรับสภาพแวดล้อมภายในห้องนอนให้เหมาะสม และพยายามเข้านอนให้ตรงเวลาทุกครั้ง แม้จะเป็นวันหยุดก็ตาม ไม่เล่นมือถือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดก่อนเข้านอนอย่างน้อย 30 นาที และสามารถใช้สมุนไพร แก้อาการนอนไม่หลับร่วมด้วย ทั้งนี้ หากไม่ดีขึ้นหรือมีภาวะนอนไม่หลับเรื้อรัง ควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสมนะคะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : bumrungrad.com, siphhospital.com, pharmacy.mahidol.ac.th, mayoclinic.org

Featured Image Credit : vecteezy.com/photohobo

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save