“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
ฟันคุดเป็นแบบไหน ? ชวนรู้จักลักษณะของฟันคุดพร้อมวิธีการรับมือ !
เมื่อพูดถึงปัญหาสุขภาพปากและฟัน เราเชื่อว่าหลายคนต้องนึกถึง “ฟันคุด” เป็นอันดับแรกๆ ใช่ไหมหล่ะคะ ฟันคุดคือปัญหาช่องปากที่หลายคนไม่อยากเป็น เพราะนอกจากเวลาเป็นจะทำให้เราปวดฟันเป็นประจำแล้ว ยังเป็นที่มาของกลิ่นปาก ฟันผุ และปัญหาอื่นๆ อีกด้วย แต่คุณรู้ไหมว่าจริงๆ แล้วฟันคุดเป็นแบบไหน ทำไมเราจึงปวดเมื่อเกิดฟันคุด และลักษณะฟันคุดมีกี่ประเภท วันนี้ทีมเพื่อสุขภาพมีคำตอบมาฝากแล้วค่ะ
- ฟันคุดคืออะไร
อยากรู้ไหมว่าฟันคุดเป็นแบบไหน ? ฟันคุด ก็คือฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติในช่องปากของเรา อาจเป็นฟันที่โผล่ขึ้นบางส่วน ฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกร หรือขึ้นในทิศทางที่ผิดปกติไปจากฟันซี่อื่นๆ โดยฟันที่พบว่ามีโอกาสเกิดฟันคุดมากที่สุดก็คือฟันกรามล่างซี่สุดท้ายที่อยู่ด้านในสุดของกระดูกขากรรไกร ซึ่งฟันซี่นี้มักขึ้นช่วงอายุ 18 – 25 ปี อาจขึ้นมาในลักษณะตรง เอียง หรือเป็นแนวนอนเลยก็ได้ ซึ่งหากเกิดฟันลักษณะนี้ขึ้นมาก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพช่องปากของเราในหลายๆ ด้านค่ะ
เกร็ดสุขภาพ : เมื่อรู้ตัวว่าเป็นฟันคุดไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก เพราะเราไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อเอาฟันคุดออกเสมอไป ฟันคุดบางประเภทก็สามารถถอนออกได้ หรือบางประเภททันตแพทย์อาจพิจารณาว่าไม่จำเป็นต้องเอาออก แต่อย่างไรก็ตามต้องหมั่นไปพบทันตแพทย์เพื่อสังเกตอาการอยู่เสมอ หากจำเป็นต้องผ่าก็ควรผ่าออกนะคะ
- ฟันคุดเป็นแบบไหน มีกี่ประเภทที่เราต้องรู้จัก
ได้รู้จักความหมายกันไปแล้วว่าฟันคุดคืออะไร คราวนี้เราลองมาดูกันว่าฟันคุดเป็นแบบไหน สามารถขึ้นมาในช่องปากของเราได้อย่างไรบ้าง โดยประเภทของฟันคุดจะถูกแบ่งโดยอาศัยความสัมพันธ์กับฟันที่อยู่ข้างเคียงค่ะ
- ฟันคุดที่หันส่วนครอบฟันเข้าหาฟันกรามแท้ซี่ที่สอง เรียกว่า Mesioangular impaction หรือ Mesial impaction เป็นฟันคุดที่พบได้บ่อยที่สุด
- ฟันคุดที่หันส่วนครอบฟันออกจากฟันกรามแท้ เรียกว่า Distoangular impaction หรือ Distal impaction
- ฟันคุดที่ขึ้นได้ตรงๆ เรียกว่า Vertical impaction เป็นหนึ่งในลักษณะฟันคุดที่สามารถถอนออกได้
- ฟันคุดที่ขึ้นในแนวนอนหรือแนวระนาบ เรียกว่า Horizontal impaction
- เป็นฟันคุดแล้วทำไมต้องถอน ต้องผ่า ?
เมื่อได้รู้ว่าฟันคุดเป็นแบบไหน ทุกคนอาจพอเข้าใจได้ว่าทำไมเราต้องถอนหรือผ่าฟันคุดออก เพราะการขึ้นของฟันที่ผิดปกตินั้นส่งผลกระทบกับฟันซี่อื่นในช่องปากของเรา แถมหากปล่อยไว้ไม่ทำการรักษา ยังทำให้เกิดผลเสียตามมาหลายอย่าง เรียกได้ว่ายิ่งปล่อยไว้ก็ยิ่งส่งผลต่อสุขภาพปากและฟันของเรา แถมเวลาปวดฟันคุดขึ้นมายังทำให้เสียสุขภาพจิตอีกด้วยนะ ส่วนใครปล่อยฟันคุดเอาไว้ อาจเกิดผลเสียตามมา ดังนี้
- ฟันผุและเหงือกอักเสบ เพราะเศษอาหารติดซอกฟันง่ายขึ้น นอกจากนี้บริเวณที่เกิดฟันคุดยังเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรียด้วย
- มีปัญหากลิ่นปาก เนื่องจากเกิดการสะสมของเชื้อแบคทีเรียบริเวณที่เป็นฟันคุด
- มีปัญหาปวดฟันเป็นระยะๆ เนื่องจากแรงดันของฟันคุดที่ไปขัดกับฟันซี่อื่นๆ ทำให้ไม่สามารถขึ้นได้เต็มที่
- เกิดปัญหาฟันยื่นและฟันเก ไปจนถึงอาการกระดูกรอบรากฟันและรากฟันข้างเคียงถูกทำลาย เนื่องจากแรงดันของฟันคุดที่พยายามดันตัวเองขึ้นมา
- เกิดความผิดปกติของเนื้อเยื่อหุ้มฟัน นอกจากนี้อาจเกิดซีสต์และเนื้องอกรอบๆ ฟันคุดได้อีกด้วย
ถ้าเราอยากรู้ว่าฟันคุดเป็นแบบไหน ฟันของเราคุดหรือไม่ ก็ควรไปตรวจกับทันตแพทย์ให้ชัดเจน จากนั้นเมื่อทันตแพทย์เอกซเรย์ฟันของเราแล้วพิจารณาว่าควรถอนหรือผ่าออกก็ควรทำการรักษาตามนั้นเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การผ่าฟันคุดช่วงอายุ 18 – 25 ปีสามารถทำได้ง่ายเพราะแผลผ่าตัดจะหายเร็วและผลแทรกซ้อนต่ำ แต่ถึงอายุจะมากขึ้นก็ยังสามารถผ่าฟันคุดออกได้นะคะ ใครรู้ตัวว่าเราควรผ่าฟันคุดออกก็ควรรีบทำการรักษาจะได้ไม่ต้องมานั่งกังวลภายหลังยังไงหล่ะ
เกร็ดสุขภาพ : เมื่อเกิดปัญหาปวดฟันหรือมีกลิ่นปากจากฟันคุด ลองดื่มชาเขียววันละ 1 – 2 แก้วเพื่อบรรเทาอาการเหล่านั้นได้นะคะ เพราะประโยชน์ชาเขียวมัทฉะคืออุดมไปด้วยสารที่ชื่อว่า สารพอลิฟีนอล มีสรรพคุณช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ลดการผลิตสารประกอบที่ทำให้ลมหายใจเหม็นบูด นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยป้องกันฟันผุเพราะเข้าไปยับยั้งแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดฟันผุ ลดการเกิดคราบหินปูนเกาะฟัน สามารถดื่มหลังอาหารเพื่อสุขภาพปากและฟันที่ดีได้เลย แต่อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงตัวช่วยบรรเทาอาการเท่านั้น เราควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วยการรักษาฟันคุดจึงจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดนะคะ
ได้รู้กันไปแล้วว่าฟันคุดเป็นแบบไหนกันไปแล้ว คราวนี้ลองไปตรวจกับทันตแพทย์ดูอีกครั้งเพื่อความมั่นใจกันดีกว่าว่าเราเป็นฟันคุดหรือไม่ ลักษณะฟันคุดของเราเป็นอย่างไร ควรทำการรักษาแบบไหน ยิ่งรักษาเร็วก็ยิ่งลดอาการปวดฟันได้เร็ว ช่วยลดกลิ่นปาก ลดการเกิดฟันผุ แถมยังป้องกันปัญหาสุขภาพปากและฟันที่อาจตามมาในอนาคตได้อีกด้วยนะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : si.mahidol.ac.th, rama.mahidol.ac.th
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ