“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
ขี้หงุดหงิดเกิดจากอะไร? ทำอย่างไรจึงจะหาย?
ขี้หงุดหงิด ขี้วีน อาการหัวร้อน หรืออะไรก็ตามที่แล้วแต่จะเรียก คำศัพท์เหล่านี้ถูกใช้แทนเวลาที่เรามีอารมณ์โกรธ อารมณ์โมโห ซึ่งการมีอารมณ์เหล่านี้อยู่เป็นเรื่องที่ปกติมาก ทุกๆ คนนั้นต่างต้องเจอกับปัญหาส่วนตัวที่แตกต่างกันในทุกๆ วัน จึงไม่แปลกที่บางครั้งเราจะหงุดหงิดไปบ้าง แต่มันแปลกหรือเปล่าถ้าเราดันมีความรู้สึกหงุดหงิดอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าจะไม่มีปัญหาอะไรเลยก็ตาม ดังนั้นวันนี้เราจึงอยากนำเสนอเกี่ยวกับที่มาที่ไปของอารมณ์หงุดหงิดว่าเกิดมาได้จากสาเหตุใดบ้าง ส่งผลเสียแต่ตัวเราและคนรอบข้างอย่างไร รวมไปถึงวิธีจัดการและแก้ไขอารมณ์เหล่านั้นอีกด้วย
อย่างไรถึงเรียกว่า ขี้หงุดหงิด
อารมณ์โกรธเป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ทุกคน เป็นกลไกลร่างกายที่ติดตัวเรามาตั้งแต่กำเนิดอยู่แล้ว แต่เมื่อเราโกรธบ่อยๆ หรือว่าโมโหอยู่ตลอดเวลา หลายๆ คนเรียกคนประเภทนี้ว่า ขี้หงุดหงิด ซึ่งอาจจะมีอาการณ์หัวใจเต้นแรงและเร็วขึ้น หายใจถี่ขึ้น และรู้สึกเหมือนกับว่าอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น ซึ่งการที่เราเป็นคนหงุดหงิดง่าย ไม่เพียงแต่จะทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ อาจจะทำให้ผู้คนรอบข้างตัวเรารู้สึกแย่ไปด้วย
- สาเหตุ
สาเหตุของความหงุดหงิดของคนเราเกิดได้จากหลายๆ ปัจจัย อาจจะมาจากตัวเราเองหรือคนอื่นที่ทำให้เราหงุดหงิด หรือมาจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น
- เกิดจากเหตุการณ์ที่ทำให้เราเกิดอารมณ์ด้านลบ เช่น การทะเลาะวิวาท ซึ่งสาเหตุนี้มักเป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เรากลายเป็นคนขี้หงุดหงิด เพราะการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ของคนเรานั้นไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะใช้อารมณ์ด้านลบทำให้เรื่องเล็กน้อยกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้
- เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายของเด็กวัยรุ่นที่ทำให้อารมณ์ของวัยรุ่นแปรปรวนเป็นอย่างมาก หรือที่ศัพท์วัยรุ่นชอบเรียกกันว่าอาการหัวร้อน การลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนในวัยทองที่ส่งผลทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายๆ คน กลายเป็นคนขี้โมโห ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในร่างกายนั้น ไม่สามารถควบคุมได้ จึงต้องการความเข้าอกเข้าใจเป็นอย่างมาก
- เกิดจากโรคที่มีความส่งผลถึงการควบคุมอารมณ์ เช่น โรคไบโพลาร์ โรคสมาธิสั้น รวมไปถึงความผิดปกติของโครงสร้างสมองก็สามารถทำให้เป็นคนขี้หงุดหงิดได้
- อาจเกิดจากสภาพแวดล้อม เช่น เติบโตมาในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง
- อาจเป็นพื้นฐานบุคลิกของคนๆ นั้นอยู่แล้ว เช่น เป็นคนเจ้าอารมณ์อยู่แล้ว หรือ เป็นคนที่ใจร้อนอยู่แล้ว
- ความหงุดหงิดส่งผลเสียอย่างไรบ้าง
แน่นอนเลยว่าคนแรกที่ได้รับผลกระทบจากอารมณ์ขี้หงุดหงิดนั่นคือตัวของเราเอง เพราะอาจทำให้เราดูเป็นคนที่น่ากลัว และไม่น่าคบหาด้วย แถมยังอาจจะส่งผลให้เราทำร้ายตัวเองอีกด้วย
- อาจเป็นเหตุที่ทำร้ายผู้อื่นได้ ทำให้ผู้อื่น หรือ สิ่งของได้รับความเสียหาย และทำให้บรรยากาศรอบๆ ตัวดูแย่ลง
- อาจส่งผลเสียหัวใจและหลอดเลือด เพราะว่าการที่เราโกรธ โมโห หงุดหงิด จะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่กระตุ้นการทำงานของหัวใจออกมา ทำให้หัวใจเกิดการบีบเร็วและแรงขึ้น อาจะก่อให้เกิดลิ่มเลือดบริเวณผนังเส้นเลือดที่จะทำให้หลอดเลือดตีบ และไม่สามารถลำเลียงเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้เพียงพอซึ่งเป็นที่มาของโรคหัวใจ
- อาจส่งผลสุขภาพจิต ก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า
เกร็ดสุขภาพ : ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ถือว่าเป็นอีกความรู้สึกพื้นฐานทั่วไปของมนุษย์ ซึ่งความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นนั้น สามารถใช้ระงับความโกรธ ความโมโห ความหงุดหงิดได้ เพราะเราจะคิดถึงความรู้สึกของผู้อื่นว่าจะรู้สึกแย่ไปกับเราด้วยหรือเปล่า
- วิธีแก้ไขและจัดการกับอารมณ์ขี้หงุดหงิด
- อย่างแรกที่สุด คือ การที่เราต้องเข้าใจความรู้สึกตัวเองก่อน ยอมรับความรู้สึกของตัวเองว่าตอนนั้นเรากำลังโกรธ กำลังโมโห และจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น นี่คือพื้นฐานที่จะทำให้เรารับรู้ได้ว่าตอนนี้เรารู้สึกอะไร และควรทำอย่างไรต่อไป
- ทำทุกอย่างให้ช้าลงเมื่อเราหงุดหงิด อาจจะใช้การนับเลขในใจ 1 – 10 หรือ หายใจเข้าออกช้าๆ ก่อนที่จะด่าหรือทำร้ายใคร เพราะในช่วงเวลาที่เราโกรธ เราจะรู้สึกเหมือนกับว่า เราไม่มีสติ ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ การที่ทำทุกอย่างให้ช้าลง จะทำให้เรามีสติอยู่กับตัวเองมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงกับสถานการณ์ที่น่าหงุดหงิดเหล่านั้นไปก่อน การที่เราอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น อาจจะทำให้เราไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ เราอาจจะปลีกตัวไปทำอย่างอื่นที่ทำให้เราสบายใจ เช่น นั่งสมาธิ การอ่านหนังสือ เพื่อทำให้เราได้มีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการพักผ่อนไม่เพียงพอนั้นสามารถเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เราเป็นคนขี้หงุดหงิดตลอดเวลาได้ แถมการนอนน้อยยังส่งผลทำให้เราขี้หลงขี้ลืมบ่อยๆ และอ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย
- การเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางสำหรับการรักษาอาการขี้หงุดหงิดได้ เพราะไม่แน่ว่าอารมณ์เหล่านี้อาจเกิดจากโรคภัยที่เราเองยังไม่ทราบด้วยซ้ำ
- ระบายมันออกมา แน่นอนว่าวิธีนี้ง่ายที่สุด เพียงแค่ต้องการคนที่เราไว้ใจ และสามารถรับฟังเราได้ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ เพื่อน หรือคนรัก แต่ถ้าปัญหานั้นหนักเกินไปและไม่สะดวกใจที่จะระบายให้กับใคร เราควรปรึกษานักจิตบำบัดที่พร้อมจะรับฟังทุกๆ ปัญหาของเรา
เกร็ดสุขภาพ : ดนตรีบำบัดเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการบรรเทาอารมณ์หงุดหงิด โดยการใช้เสียงเพลงเพื่อเชื่อมต่อและตอบสนองต่ออารมณ์ของเรา อาจใช้กิจกรรมทางดนตรีประเภทต่างๆ เข้ามาช่วยในการบำบัด เช่น การฟังท่วงทำนอง การแต่งเพลง การเล่นเครื่องดนตรี
ความโกรธ ความโมโห ความหงุดหงิด อาการหัวร้อน ทุกอย่างล้วนแล้วแต่เป็นอารมณ์ทั่วไปของคนเรา ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกจะแสดงออกอารมณ์นั้นออกมาในแนวทางไหน เรามีสติพอที่จะรับมือกับอารมณ์เหล่านี้หรือเปล่า และเราสามารถแก้ไขมันได้หรือไม่ หวังว่าทุกคนจะได้เอาข้อมูลที่เราเสนอ นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อความรู้สึกของตัวเอง ความรู้สึกของผู้อื่น และหวังว่าทุกคนจะผ่านช่วงเวลาที่แย่ๆ ไปได้ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนนะครับ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : chula.ac.th, mahidol.ac.th, thaihealth.or.th
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ