“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการเป็นอย่างไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร?
อาจจะไม่คุ้นหูกันนักสำหรับ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งโรคนี้ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งชนิดของโรคหัวใจ ถือว่าเป็นภัยเงียบที่หลายๆ ท่านอาจจะไม่เคยระวัง หรือตระหนักถึงโรคนี้เลย วันนี้ เราจึงอยากอาสาพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับโรคนี้ เพื่อให้ทราบถึงโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการเป็นอย่างไร สาเหตุของโรค รวมไปถึงวิธีป้องกัน และวิธีรักษาของโรคนี้
- โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการเป็นอย่างไร
โดยทั่วไปแล้ว อัตราการเต้นของหัวใจของคนทั่วไป จะมีอัตราอยู่ที่ 60 – 100 ครั้ง/นาที แต่ในผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น ถ้ามีอาการหัวใจเต้นช้ากว่าคนปกติ จะมีอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ต่ำกว่า 60 ครั้ง/นาที จะส่งผลทำให้รู้สึกวิงเวียนศีรษะ มึนงง มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ระดับความดันโลหิตต่ำ และอาจทำให้เป็นลมหมดสติได้ แต่ถ้ามีอาการหัวใจเต้นเร็วกว่าคนปกติ จะมีอัตราการเต้นของหัวใจอยู่สูงกว่า 100 ครั้ง/นาที จะส่งผลทำให้รู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าคนทั่วไป มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หน้ามืด และมีโอกาสเสี่ยงที่จะหัวใจวายเฉียบพลันซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตได้
เกร็ดสุขภาพ : เราสามารถตรวจวัดอัตราชีพจรของเราได้ง่ายๆ สามารถทำได้เอง โดยที่ก่อนจะเริ่มทำการวัดชีพจร ควรหยุดทุกกิจกรรม และนั่งพักประมาณ 5 – 10 นาที จากนั้นเริ่มการวัดชีพจรโดยการวางนิ้วชี้และนิ้วกลางวางลงบนข้อมือข้างใดข้างหนึ่ง จากนั้นทำการกดลงไปเบาๆ ให้พอรู้สึกถึงการเต้นของชีพจร ทำการจับเวลา 30 วินาที และนับว่าภายใน 30 วินาทีนั้น ชีพจรเราเต้นกี่ครั้ง จากนั้นนำตัวเลขที่ได้มาคูณด้วย 2 จะได้อัตราการเต้นชีพจรของเราภายใน 1 นาที
- อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดจากสาเหตุใด
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการนั้นเกิดที่หัวใจ แน่นอนว่าสาเหตุนั้นก็ย่อมเกิดที่หัวใจเช่นกัน โดยที่สาเหตุหลักๆ ที่ก่อให้เกิดโรคนี้มาจากการที่ การที่กระแสไฟฟ้าในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งในหัวใจของเราเกิดอาการผิดปกติ หรือ เกิดการลัดวงจรของกระแสไฟฟ้าในหัวใจ ซึ่งจะทำให้ระบบหมุนเวียนเลือดในตำแหน่งนั้นๆ เกิดอาการผิดปกติตามไปด้วย โดยที่ปัจจัยที่ทำให้เกิดความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในหัวใจนั้น มีได้หลายเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการดื่มกาแฟ หรือชาในจำนวนมากจนเกินไป ความเครียด ผลข้างเคียงของยาบางชนิด หรืออาจเกิดจากโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อระบบการทำงานของหัวใจ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ เมื่อเราทราบแล้วว่าอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดจากสาเหตุใด เรามาดูกันว่า เราจะสามารถป้องกันและรักษาโรคนี้ได้อย่างไร
- วิธีการป้องกันและรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- วิธีป้องกัน
การป้องกันโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ คือ การหลีกเลี่ยงความเครียด ความกดดันในชีวิตประจำวัน เพราะถ้าเรารู้สึกเครียดหรือกดดันมากๆ ร่างกายของเราจะหลั่งฮอร์โมนและสารสื่อประสาทที่ไปกระตุ้นระบบการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น และอาจนำไปสู่อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ การหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ส่งผลต่อระบบการทำงานของหัวใจ เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง รวมไปถึงการสูบบุหรี่ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอแต่ต้องไม่หักโหมจนเกินไป และหมั่นตรวจสุขภาพ เพราะเราจะสามารถรับรู้และรักษาอย่างทันเวลา เมื่อเกิดสิ่งผิดปกติกับร่างกายของเรา
- วิธีรักษา
การรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น ขึ้นอยู่กับอาการและความเห็นของแพทย์ผู้รักษา จึงมีหลากหลายวิธีอยู่ด้วยกัน
- การรักษาโดยใช้ยาเพื่อควบคุมการระบบการทำงานของหัวใจ ซึ่งเป็นวิธีรักษาที่ใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการไม่หนักมาก สามารถบรรเทาอาการให้ทุเลาลงได้ สามารถช่วยลดความถี่และระดับความรุนแรงของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ แต่อาจไม่ได้หายขาด
- การรักษาโดยการใช้ไฟฟ้ากระตุกเพื่อปรับการเต้นของหัวใจ (cardioversion) ซึ่งจะทำการแปะแผ่นที่สามารถส่งกระแสไฟฟ้าจากเครื่องส่งภายนอกร่างกาย ลงบนที่หน้าอกของผู้ป่วย เพื่อทำการปรับจังหวะการเต้นของหัวใจใหม่ มักถูกนำมาใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการหัวใจเต้นเร็วจนเกินไป
- การรักษาโดยการฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ (implantable cardioverter defibrillator) ซึ่งจะทำการฝังเครื่องมือที่มีหน้าที่คล้ายกับเครื่องกระตุ้นหัวใจ โดยที่เมื่อผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการหัวใจเต้นช้า เครื่องมือตัวนี้จะทำการกระตุ้นระบบการทำงานของหัวใจให้กลับมาเป็นปกติ ในทางกลับกัน เมื่อผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการหัวใจเต้นเร็ว เครื่องมือตัวนี้จะทำปล่อยพลังงานไฟฟ้าเพื่อชะลอการเต้นของหัวใจเพื่อให้ระบบการทำงานของหัวใจกลับมาอยู่ในระดับที่ปกติ ซึ่งในการรักษาแบบนี้ มักจะถูกใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงหัวใจห้องล่างเต้นผิดปกติ ซึ่งถือว่าส่งผลอันตรายต่อชีวิตเป็นอย่างมาก
- การรักษาโดยการใช้สายสวนเพื่อจี้กล้ามเนื้อหัวใจที่นำไฟฟ้าผิดปกติ (ablation therapy) ซึ่งจะทำการตรวจด้วยระบบการนำไฟฟ้าภายในหัวใจเพื่อหาต้นตอของโรคนี้ก่อน จึงจะทำการสอดสายไปยังตำแหน่งที่เป็นสาเหตุของความผิดปกติ และจะทำการปล่อยคลื่นวิทยุที่มีความถี่สูงเพื่อที่จะทำลายเนื้อเยื่อหัวใจที่เป็นสาเหตุของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งการรักษาแบบนี้สามารถทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่มีสาเหตุมาจากเนื้อเยื่อหัวใจหายขาดได้เลย
เกร็ดสุขภาพ : การออกกำลังกายในผู้สูงอายุนั้น สามารถช่วยป้องกันโรคต่างๆ ได้อย่างดีเยี่ยม แต่จำเป็นต้องทำให้ถูกวิธี คือ ออกกำลังกายเบาๆ ไม่หักโหมจนเกินไป และเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับตัวเราให้มากที่สุด
เมื่อทราบแล้วว่าโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการนั้น รุนแรงและสามารถมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ และทราบแล้วว่าอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดจากสาเหตุใด ดังนั้นเราจึงควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะก่อให้เกิดโรคนี้ หมั่นออกกำลังกายแบบพอดีๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และอาจจะมองหาประกันสุขภาพอันไหนดีและเหมาะสมกับตัวเรา เผื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นในอนาคต
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : bumrungrad.com, phyathai.com
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ