“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
4 โรคที่มากับฝนสุดอันตราย! รู้ไว้ก่อน ดีกว่าแน่นอน
เชื่อว่าในหลายๆ พื้นที่ตอนนี้ของประเทศไทย นอกจากจะประสบปัญหาเรื่องไวรัสโควิด19 แล้ว ในหลายๆ พื้นก็ได้รับความเสียหายจากพายุและฝนตกหนักเช่นกัน และทุกคนทราบหรือไม่ว่า ฝนไม่ได้เพียงแต่สร้างความเสียหายให้แก่บ้านเรือน หรือพืชผลทางการเกษตรเท่านั้น แต่ฝนยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆได้ ดังนั้น เราจึงอาสาทุกคนไปรู้จักกับ 4 โรคที่มากับฝน ที่อันตราย เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุ อาการ และวิธีแก้ไข
โรคปอดบวม
โรคปอดบวมถือว่าเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบหายใจที่เป็นโรคที่มากับฝน เกิดจากการที่ปอดของเราติดเชื้อหรือเกิดจากการอักเสบของปอด ซึ่งเชื้อที่ก่อให้เกิดปอดบวมมีทั้ง เชื้อไวรัส เชื้อรา เชื้อแบคทีเรียที่กระจายอยู่ในอากาศ และความชื้นในหน้าฝนนั้นทำให้เชื้อเหล่านี้ คงสภาพได้นานมากยิ่งขึ้น โรคนี้สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย และจะพบมากเป็นพิเศษนั่นคือ เด็กและผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคเบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง
- อาการ
อาการของโรคปอดบวม คือ ผู้ป่วยจะมีอาการไอ เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ถ้าในกรณีที่อาการรุนแรง อาจมีอาการปากเขียวซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่ากำลังขาดออกซิเจน นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่นๆ เสริม เช่น อาจมีอาการท้องเสีย และอาเจียนได้
- วิธีรักษาและป้องกัน
ถ้าหากมีอาการไม่หนักมาก อาจจะใช้การรักษาโดยการกินยา แต่ถ้ามีอาการขึ้นรุนแรง ควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์ และวิธีป้องกันโรคปอดบวม คือหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด เช่น โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า หมั่นล้างมือบ่อยๆ และล้างให้สะอาด และอาจมีการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันเอาไว้ก่อนเกร็ดสุขภาพ : นอกจากที่โรคเบาหวานจะส่งผลที่อาจก่อให้เกิดโรคปอดบวมแล้ว โรคเบาหวานยังอาจก่อให้เกิดอาการโรคไตระยะแรกอีกด้วย เพราะโรคเบาหวานนั้นจะส่งผลเสียต่อไตของเราโดยตรง นั่นทำให้ความเชื่อของใครหลายๆ คนที่คิดว่าโรคไตสามารถเกิดได้แค่จากการกินเค็มนั้นผิดไป
โรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออก คือโรคที่เกิดจากไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสเดงกี (Dengue Virus) ซึ่งโรคนี้สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ โดยที่มียุงลายเป็นพาหะของโรค และแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายนั่นคือแหล่งน้ำใสที่ขึงอยู่ในภาชนะต่างๆ แน่นอนว่า หน้าฝนนี่แหละ ที่มีน้ำขังเยอะที่สุด จึงทำให้เกิดยุงลายเยอะขึ้นตามไปด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าไข้เลือดออกก็เป็นหนึ่งในโรคที่มากับฝนเช่นกัน
- อาการ
โรคไข้เลือดออกนั้น จะมีด้วยกันอยู่ 3 ระยะ นั่นคือระยะฝักตัว ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 – 7 วัน จึงจะเริ่มมีอาการมีไข้สูงตลอดเวลา รู้สึกเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน มีจุดเลือดออกตามลำตัว แขน และขา จากนั้นจะเข้าสู่ระยะช็อก ซึ่งในระยะนี้ ผู้ป่วยจะมีไข้ที่ลดลง แต่ว่าจะมีอาการหนาวสั่น มือเท้าเย็น ปวดท้อง อาจมีเลือดออกได้ง่ายผิดปกติ เช่น อาเจียนเป็นเลือด เลือดกำเดาไหล และถ้าในกรณีที่มีอาการรุนแรง จะมีความดันโลหิตต่ำ มีอาการช็อก และอาจถึงแก่ชีวิตได้ ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าผู้ป่วยทุกคนจะต้องเข้าสู่ระยะช็อกทุกราย สำหรับระยะสุดท้ายของโรคนี้คือ ระยะฟื้นตัว เป็นระยะที่ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการที่ดีขึ้น ความดันโลหิตกลับมาเป็นปกติ และไม่มีจุดเลือดตามร่างกาย
- วิธีรักษาและป้องกัน
สามารถทำการตรวจดูลักษณะอาการของตัวเอง ว่ามีไข้เกิดสามวันหรือเปล่า ถ้ามีไข้เกินสามวัน ควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์ และวิธีป้องกันโรคไข้เลือดออก คือ ดื่มน้ำให้เยอะๆ และทำการกำจัดเพาะพันธุ์ของยุงลาย เช่น โอ่งน้ำ แจกันดอกไม้ ถ้วยรองขาตู้ แหล่งน้ำขังต่างๆ
โรคฉี่หนู
โรคฉี่หนู คือ โรคที่มากับหน้าฝนอย่างแท้จริง เพราะว่าฝนนั้น จะพัดพาเอาเชื้อโรคที่แหล่งต่างๆ มาไหลรวมกันในบริเวณที่น้ำสามารถท่วมขังได้ โดยที่โรคฉี่หนูเกิดจากเชื้อแบคทีเรียในปัสสาวะของสัตว์ที่เป็นพาหะ เช่น หนู สุนัข หมู โดยที่สัตว์จะมีการติดเชื้อที่ท่อไตซึ่งสัตว์เหล่านั้นจะไม่แสดงอาการ
- อาการ
อาการของผู้ป่วยโรคฉี่หนูนั้นแบ่งออกเป็นสองระยะ นั่นคือ ระยะแรก คือ 4 – 7 วัน หลังจากการได้รับเชื้อ จะมีอาการไข้ขึ้นสูงแบบทันที มีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้อาจเจียน มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง และถ้าหากมีไข้เกินหนึ่งสัปดาห์ขึ้นไป จะถูกนับว่าเป็นระยะที่สอง โดยที่จะมีอาการปวดหัว มีไข้ต่ำ แต่อาการมักจะรุนแรงน้อยกว่าระยะแรก ซึ่งระยะนี้อาจกินเวลาได้นานถึง 30 วัน ทั้งนี้ อาการระยะสองไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคฉี่หนูทุกคน
- วิธีรักษาและป้องกัน
เราสามารถป้องกันโรคฉี่หนูได้โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแหล่งน้ำขังต่างๆ เช่น งดการเดินลุยน้ำ งดการเหยียบโคลนเท้าเปล่า งดการแช่น้ำนานๆ เมื่อมีบาดแผล แต่หากในกรณีที่จำเป็น ควรใส่เครื่องป้องกันให้เรียนร้อย เช่น รองเท้าบูท และควรรีบอาบน้ำทันที หลังจากสัมผัสกับแหล่งน้ำขัง เพื่อป้องกันเชื้อโรคต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดโรคที่มากับหน้าฝน
โรคมือเท้าปาก
โรคมือเท้าปากคือโรคที่มากับฝนที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชื่อ Enterovirus ซึ่งสามารถแพร่ได้ดีในอากาศเย็นและชื้น กลุ่มที่พบได้บ่อยคือ กลุ่มเด็กทารกและเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี โรคมือเท้าปากนี้สามารถติดต่อได้ผ่านทางการสัมผัส น้ำลาย น้ำมูก และผื่นของผู้ป่วย
- อาการ
มีอาการไอ มีไข้ เจ็บคอ มีตุ่มหรือแผลในปาก เกิดผื่นตรงบริเวณมือ เท้า หรืออาจเกิดผื่นตามบริเวณลำตัว มีอาการอาเจียน ในกรณีที่มีอาการหนัก อาจมีอาการอื่นๆ เช่น มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส และมีไข้นานกว่า 48 ชั่วโมง รับประทานอาหารได้น้อย หรือไม่สามารถรับประทานอาหารได้เลย มีอาการชัก แขนขาอ่อนแรง
- วิธีรักษาและป้องกัน
เมื่อมีอาการแล้ว อย่างแรกที่ควรทำคือ การแยกตัวออกมา ถ้าผู้ป่วยยังอยู่ในช่วงเด็ก ให้แยกตัวออกมาและให้ทำการหยุดเรียน รับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำ ส่วนวิธีป้องกันคือ ควรที่จะล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังจากสัมผัสตัวผู้อื่น หรือสิ่งของต่างๆ เพื่อป้องกันเชื้อโรคต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดโรคที่มากับฝน
เกร็ดสุขภาพ : จริงๆแล้ว เมื่อมีผู้ป่วยที่กำลังชัก เราไม่ควรเอาของแข็งงัดหรือสอดเข้าไปในปากเป็นอันขาด เพราะจะทำให้เกิดการบาดเจ็บในช่องปากได้ ควรใช้ผ้าที่นุ่มๆ และควรค่อยๆ จับผู้ป่วยนอนตะแคงตัว เพื่อให้ทางเดินหายใจโล่งและหายใจในวิธีหายใจที่ถูกต้องและปลอดภัย
โรคที่มากับฝน ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดจากน้ำฝนที่ขังอยู่ตามบริเวณต่างๆ ทางทีดี เราควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแหล่งน้ำเหล่านั้น และหมั่นทำความสะอาดมือด้วยการล้างมือ เพื่อให้เราสามารถมั่นใจได้ว่า มือที่หยิบจับสิ่งต่างๆ ของเรานั้น จะสะอาดและปลอดภัย ห่างไกลกับโรคที่มากับหน้าฝน
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : saintlouis.or.th, thonburihospital.com, siphhospital.com, sikarin.com
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ