“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
ทำยังไงดีหยุดกินไม่ได้! โรคกินไม่หยุด หรือ Binge Eating Disorder (BED) ภัยร้ายที่ใกล้ตัวที่มีสาเหตุมากกว่าความหิว
เชื่อว่าหลายๆคนคงได้เห็นข่าวของนักแสดง นักร้องชายท่านหนึ่งออกมาประกาศว่าตนเองนั้นกำลังเผชิญอยู่กับ โรคกินไม่หยุด หรือ Binge Eating Disorder (BED) ซึ่งเป็นโรคที่ไม่ค่อยคุ้นหูซักเท่าไหร่และถึงจะเคยได้ยินมาบ้างแล้ว ก็อาจจะไม่รู้ข้อมูลจริงๆ ของโรคชนิดนี้จึงทำให้หลายๆ คนอดสงสัยไม่ได้ว่าโรคนี้มีลักษณะอาการ ผลที่ตามมาและวิธีรักษาของโรคกินไม่หยุดเป็นยังไงกัน วันนี้เราจึงขออาสาพาทุกคนมาทำความรู้จักกับโรคนี้มากขึ้นเพื่อเตรียมตัวรับมือกับภัยร้ายใกล้ตัวที่สาเหตุไม่ได้มาจากแค่ความหิว
อะไรคือ โรคกินไม่หยุดหรือ Binge Eating Disorder (BED) ?
พูดง่ายๆ เลยก็คือไม่สามารถควบคุมการกินของตัวเองได้หรือหยุดกินไม่ได้ตามชื่อนั่นแหละ ไม่ว่าตอนนั้นตัวเองจะหิวหรือไม่หิวก็ตาม จะกินมากกว่าปกติกว่าที่เคย ไม่สามารถรับรู้ได้ว่าตัวเองอิ่มหรือยัง และที่สำคัญคือคนที่ป่วยเป็นโรคนี้จะรู้สึกโกรธและรังเกียจตัวเองหลังจากกินอาหารเข้าไปโดยที่สาเหตุนั้นยังไม่มีการได้รับการยืนยันอย่างแน่ชัดแต่นักวิจัยคาดว่าอาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น โรคซึมเศร้าปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ความพึงพอใจในตนเอง ความเครียดสะสม และมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นกับคนที่ไม่พอใจในรูปร่างของตัวเอง คนที่เคยลดน้ำหนักแบบผิดวิธีและคนที่มีความเครียดในการใช้ชีวิตประจำวัน ฮั่นแน่ แอบสงสัยกันบ้างแล้วหล่ะสิว่าตัวเองจะเป็นโรคนี้อยู่หรือเปล่านะ งั้นลองมาเช็คดูอาการกันเลย
- อาการของโรคกินไม่หยุด
หลายคนอาจจะคิดว่าแค่การเราหิวบ่อยๆ การแอบกินขนมตอนดึกๆ เช่น แอบกินขนมหรือกรีกโยเกิร์ตในตู้เย็นเพราะรู้สึกว่าคงไม่อ้วนสักเท่าไหร่หรือแม้แต่การที่นานๆ ทีกินบุฟเฟต์ในปริมาณที่มากๆจะเข้าค่ายโรคกินไม่หยุดหรือเปล่านะ วันนี้เรามีอาการของโรคนี้มาฝาก อาการเหล่านี้สามารถบอกได้ว่าทุกคนกำลังเผชิญอยู่กับโรคนี้อยู่หรือเปล่า ให้ลองสังเกตอาการเหล่านี้ว่ามีข้อไหนตรงกับเราบ้าง
- กินอาหารในจำนวนที่มากภายในเวลาอันรวดเร็ว รู้สึกว่ากินไวกว่าปกติที่เคยมากๆ
- ควบคุมการกินไม่ได้ รู้สึกอยากกินตลอดเวลา ถึงแม้ว่าตอนนั้นจะไม่หิวหรือไม่หิวก็ตาม
- ไม่สามารถรับรู้ถึงความอิ่มได้ แต่จะกินต่อไปเรื่อยๆ จนจุกเสียด
- น้ำหนักตัวขึ้นลงแบบไม่คงที่
- อาจจะซ่อนหรือกักตุนอาหารไว้ในที่ต่างๆ เก็บไว้ในที่ที่อาหารไม่ควรอยู่
- รู้สึกเกลียดตัวเอง รู้สึกไม่มั่นใจในตัว ความมั่นใจลดลงอย่างมาก ไม่สามารถร่วมกินข้าวกับคนอื่นได้อย่างสบายใจ หรือไม่สามารถร่วมโต๊ะกับคนอื่นได้เลย ต้องแอบมาหาที่ลับตาคน
- มีอาการรู้สึกผิดหวังหลังจากกินเสร็จ มีอาการกังวลเรื่องน้ำหนักหลังจากกินเสร็จแล้ว
- มีความรู้สึกไม่สบายใจ ลำบากใจและหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์
เกร็ดสุขภาพ : ความถี่ของอาการนั้นสามารถบ่งบอกได้ถึงความรุนแรงอีกด้วย โดยผู้ป่วยที่มีอาการของโรคติดต่อกัน 1 – 2 สัปดาห์ อาจจะถูกจัดไว้ในกลุ่มอาการไม่รุนแรง และถ้ามีอาการติดต่อกัน 12 สัปดาห์หรือ 3 เดือนขึ้นไป หรือว่าอาจจะมีอาการเล็กน้อยแต่เป็นติดต่อกันเป็นเวลานานจะถูกจัดไว้ในกลุ่มอาการรุนแรง ให้ลองสังเกตอาการของตัวเองสักพักจึงค่อยไปพบแพทย์
- ผลเสียที่ตามมาจากโรคกินไม่หยุด
- โรคทางด้านร่างกาย เช่น โรคอ้วน ภาวะน้ำหนักเกิน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน
- โรคทางด้านจิตใจ เช่น โรควิตกกังวล โรคไบโพลาร์ ภาวะซึมเศร้า
- การรักษาโรคกินไม่หยุด
การรักษานั้นจำเป็นต้องใช้วิธีการรักษาหลายแบบควบคู่กันไปทั้งการบำบัดความคิด และพฤติกรรมหรือที่เรียกว่า Cognitive Behavioural Therapy ( CBT ) ที่เน้นไปยังความคิดด้านลบที่สัมพันธ์กับการกระทำต่างๆให้รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น มองเห็นคุณค่าของตัวเอง เลือกวิธีการควบคุมน้ำหนักให้เหมาะกับตัวเอง การเข้ารับคำปรึกษาทางโภชนาการว่าควรเลือกรับประทานแบบไหน เช่น การเลือกระหว่างน้ำมันทั่วไปกับน้ำมันมะกอก และการใช้ยาควบคู่ไปจนกว่าอาการจะดีขึ้นและปรับการกินให้เหมือนเดิมทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าสภาพจิตของผู้ป่วยจะดีขึ้นมากน้อยเพียงใด
เกร็ดสุขภาพ : ถึงว่าแม้ว่าโรคนี้อาจดูน่ากลัวและไม่สามารถทราบถึงที่มาได้อย่างแน่ชัดทำให้ยากต่อการคาดเดาว่าเราเป็นโรคนี้แล้วหรือยัง แต่เราก็สามารถหลีกเลี่ยงได้โดยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นออกกำลังกาย บริหารสุขภาพจิตให้ดีอยู่ตลอดเวลาและทำกิจกรรมต่างๆเพื่อกำจัดความเครียด พบปะผู้คนเพื่อไม่ให้รู้สึกโดดเดี่ยวจนเกินไปแต่ถ้ายังกังวลอยู่อาจจะมองหาประกันสุขภาพที่น่าเชื่อถือเอาไว้เพื่อความสบายใจ
ไม่ว่าการที่เราหยุดกินไม่ได้จะฟังดูร้ายแรงและน่ากลัวซักแค่ไหนแต่ทุกอย่างนั้นเริ่มที่จิตใจของเรา หมั่นดูแลสุขภาพจิตไปพร้อมๆกับสุขภาพกาย มอบความรักให้ตัวเองมากๆ หลายครั้งที่ท้อแท้หรือไม่สามารถก้าวข้ามปัญหาต่างๆไปได้ เราอาจจะต้องพึ่งพาใครซักคนที่เราไว้ใจ เช่น พ่อแม่ คนรักหรือเพื่อนฝูง หวังว่าทุกคนที่ได้อ่านจะนำความรู้ที่ได้จากบทความนี้ไปปรับใช้กันนะครับ รับรองว่าห่างไกลจากโรคนี้แน่นอน
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : khaosod.co.th, healthline.com, ramamental.com
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ