“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
อะไรคือ ผื่นแพ้จากอาการสัมผัส ? เหมือนหรือต่างจากผื่นชนิดอื่นอย่างไร ?
คุณเคยใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวตัวใหม่ หรือผิวสัมผัสกับผงซักฟอกหรือน้ำยาล้างจาน แล้วผิวเกิดอาการเป็นผื่นสีแดงและระคายเคืองไหมคะ ถ้าเป็นแบบนี้นั่นอาจหมายความว่าคุณอาจจะกำลังเผชิญกับอาการผื่นแพ้สัมผัสที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบ ภาวะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อสารเคมีที่คุณสัมผัสทำให้เกิดปฏิกิริยากับผิวได้ และเพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจกับอาการนี้เรามารู้จักกันดีกว่าว่า ผื่นแพ้จากอาการสัมผัส นั้นเป็นยังไง มีวิธีดูแลป้องกันได้อย่างไรบ้าง
ผื่นแพ้จากอาการสัมผัส คืออะไร ? รู้จักวิธีดูแลตนเองเบื้องต้นกัน
ผื่นแพ้จากอาการสัมผัส (Allergic contact dermatitis) เป็นปฏิกิริยาผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส อาการคือจะเป็นผื่นแดงและคันที่เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับสารเคมีต่างๆ หรือเกิดอาการแพ้ ผื่นที่เป็นนั้นจะไม่ติดต่อหรือเป็นอันตรายถึงชีวิต และส่วนใหญ่อาการมักไม่รุนแรง แต่อาจทำให้รู้สึกไม่สบายใจจนกว่าอาการคันนั้นจะหายไป สาเหตุนั้นเกิดจากสารหลายชนิดสามารถทำให้เกิดผื่นแพ้สัมผัสดังกล่าวได้ รวมทั้งสบู่ เครื่องสำอาง น้ำหอม เครื่องประดับ และพืชต่างๆ หลายคนอาจจะเคยศึกษาเกี่ยวกับการเตรียมตัวฉีดวัคซีนแล้วพบว่าอาจมีอาการแพ้เป็นผื่นขึ้นได้ ซึ่งผื่นนั้นจะเป็นคนละอย่างกับโรคนี้ค่ะ
อาการของโรค
โรคผื่นแพ้จากอาการสัมผัสมักเกิดขึ้นกับส่วนต่างๆ ของร่างกายที่สัมผัสกับสารที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาโดยตรง ผื่นมักจะพัฒนาภายในไม่กี่นาทีถึงหลายชั่วโมงหลังจากได้รับสัมผัส และสามารถอยู่ได้นาน 2-4 สัปดาห์ และสัญญาณและอาการของโรคผื่นแพ้สัมผัส ได้แก่
- มีผื่นแดง
- อาการคันซึ่งอาจรุนแรง
- ผิวแห้ง แตก ตกสะเก็ด เป็นขุย
- มีตุ่มหนองและตุ่มน้ำ มีแผลพุพอง
- มีอาการแสบร้อน ผิวไหม้
- ลมพิษ
- แพ้แสงแดด
- บวม โดยเฉพาะบริเวณดวงตา ใบหน้า หรือขาหนีบ
สาเหตุ
โรคผื่นแพ้จากอาการสัมผัสเกิดจากสารที่เราสัมผัสซึ่งระคายเคืองผิวหรือทำให้เกิดอาการแพ้ โดยการเกิดผื่นนั้นจะเกิดขึ้นจากการสัมผัสกับข้อใดข้อหนึ่ง ได้แก่
- สารระคายเคือง สารที่พบบ่อย ได้แก่ ตัวทำละลาย แอลกอฮอล์ล้างแผล สารฟอกขาวและผงซักฟอก ฟอร์มาลดีไฮด์ซึ่งอยู่ในสารกันบูด ยาฆ่าเชื้อ สารในอากาศ เช่น ขี้เลื่อย ฝุ่นขนสัตว์ หรือละอองเกสร พืช ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง
- สารก่อภูมิแพ้ จะเกิดขึ้นเมื่อสารที่เรามีความรู้สึกไวจะกระตุ้นปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันในผิวหนังของเรา มักมีผลเฉพาะบริเวณที่สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้เท่านั้น แต่อาจถูกกระตุ้นโดยบางสิ่งที่เข้าสู่ร่างกายผ่านอาหาร สารปรุงแต่ง ยารักษาโรค หรือหัตถการทางการแพทย์หรือทันตกรรมได้ รวมถึงสารก่อภูมิแพ้ที่รุนแรง เช่น ไม้เลื้อยพิษและยางมะม่วงซึ่งมีสารก่อภูมิแพ้สูงเรียกว่า urushiol นอกจากนี้สารก่อภูมิแพ้ทั่วไป ได้แก่ นิกเกิล ยา เช่น ครีมยาปฏิชีวนะและยาแก้แพ้ในช่องปาก น้ำหอม เครื่องสำอาง น้ำยาบ้วนปาก ครีมระงับกลิ่นกาย ครีมอาบน้ำ ครีมย้อมผม และยาทาเล็บ และผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเมื่ออยู่กลางแดด เช่น ครีมกันแดดและยากินบางชนิด
เกร็ดสุขภาพ : โรคผื่นแพ้จากอาการสัมผัสที่ระคายเคืองสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อผิวหนังสัมผัสกับสารที่ระคายเคืองน้อยกว่า เช่น สบู่ หรือแม้แต่น้ำบ่อยเกินไป ผู้ที่มือโดนน้ำบ่อยๆ เช่น ช่างทำผม บาร์เทนเดอร์ และบุคลากรทางการแพทย์ มักประสบปัญหาผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสที่มือได้ รวมถึงงานที่ทำและงานอดิเรกบางอย่างทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคติดต่อทางผิวหนังได้เช่นกัน อาทิ พนักงานดูแลสุขภาพและทันตกรรม ช่างโลหะ คนงานก่อสร้าง ช่างยนต์ นักประดาน้ำหรือนักว่ายน้ำเนื่องจากยางในหน้ากากหรือแว่นตา ชาวสวนและคนงานเกษตร รวมถึงกุ๊กและคนอื่นๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับด้านอาหาร
- การรักษา
กรณีส่วนใหญ่ของโรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสกับผิวหนังจะหายไปได้เองเมื่อสารนั้นไม่ได้สัมผัสกับผิวหนังอีกต่อไป ในการรักษาโรคผื่นแพ้จากอาการสัมผัส สิ่งแรกเลยจะต้องระบุและหลีกเลี่ยงสาเหตุของปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น หากสามารถหลีกเลี่ยงสารที่ก่อให้เกิดอันตรายได้ผื่นมักจะหายไปภายในสองถึงสี่สัปดาห์ ในบางคนอาจตอบสนองต่อสารระคายเคืองที่รุนแรงหลังจากสัมผัสเพียงครั้งเดียว หรือบางคนอาจมีอาการแสดงหลังจากได้รับสารระคายเคืองเล็กน้อยซ้ำๆ นอกจากนี้ยังมีทิปส์ที่เราสามารถลองทำเองที่บ้านเพื่อรักษาอาการได้ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการเกาผิวที่ระคายเคือง การเกาอาจทำให้การระคายเคืองแย่ลง หรือแม้กระทั่งทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังซึ่งต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
- ทำความสะอาดผิวด้วยสบู่อ่อนๆ และน้ำอุ่นเพื่อขจัดสารระคายเคือง
- หยุดใช้ผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่คุณคิดว่าอาจเป็นสาเหตุของปัญหา
- ทาปิโตรเลียมเจลลี่ เช่น วาสลีน เพื่อบรรเทาอาการบริเวณนั้น
- ลองใช้การรักษาป้องกันอาการคัน เช่น โลชั่นคาลาไมน์ หรือครีมไฮโดรคอร์ติโซน
- หากจำเป็นให้กินยาต้านฮีสตามีนหรือยาแก้แพ้ เช่น ไดเฟนไฮดรามีน เพื่อลดอาการคันและลดการตอบสนองต่อการแพ้
- การดูแลตนเองและป้องกัน
การสัมผัสผิวหนังอักเสบอาจนำไปสู่การติดเชื้อ หากเกาบริเวณที่ได้รับผลกระทบซ้ำแล้วซ้ำเล่าจะทำให้มันเปียกและไหลซึม และอาจทำให้แบคทีเรียหรือเชื้อราเติบโตที่บริเวณแผลและอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ดังนั้น นอกจากไม่ควรเกาแล้วเรายังสามารถดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากโรคผื่นแพ้จากการสัมผัสและป้องกันโรคนี้ได้ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงสารระคายเคืองและสารก่อภูมิแพ้ พยายามระบุและหลีกเลี่ยงสารที่ระคายเคืองผิวหรือทำให้เกิดอาการแพ้ แม้ว่าเราควรรับวิตามินจากแสงแดด แต่ควรระวังอาการแพ้แสงแดดที่เกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์บางชนิด
- หากมีอาการหลังสัมผัส สามารถกำจัดสารที่ก่อให้เกิดผื่นส่วนใหญ่ออกได้ด้วยการล้างผิวหนังทันทีหลังจากสัมผัสสารนั้น โดยใช้สบู่อ่อนๆ ปราศจากน้ำหอม และใช้น้ำอุ่นล้างออกให้หมด รวมถึงควรรีบซักเสื้อผ้าหรือสิ่งของอื่นๆ ที่อาจสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้จากพืช เช่น ไม้เลื้อยพิษ
- สวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย แว่นตา ถุงมือ และอุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ เพื่อป้องกันตัวเราจากสารระคายเคืองต่างๆ เช่น น้ำยาทำความสะอาดในครัวเรือน น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก
- ทาครีมหรือเจล ผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถให้ชั้นปกป้องผิวของเราได้ ตัวอย่างเช่น ครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของเบนโตควอแทม อาจป้องกันหรือลดปฏิกิริยาของผิวหนังต่อพิษได้ หรือใช้มอยเจอร์ไรเซอร์ เพราะการใช้โลชั่นให้ความชุ่มชื้นเป็นประจำจะช่วยฟื้นฟูชั้นนอกสุดของผิวและทำให้ผิวอ่อนนุ่ม ลดอาการระคายเคือง
เกร็ดสุขภาพ : หากคุณรู้ว่าคุณมีผิวแพ้ง่าย ให้ทดสอบเฉพาะจุดกับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยสามารถลองผลิตภัณฑ์ใหม่บนปลายแขน และอย่าให้โดนน้ำหรือสบู่ ตรวจสอบปฏิกิริยาใดๆ ใน 48 และ 96 ชั่วโมงหลังการใช้ หากมีรอยแดงหรือระคายเคือง นั่นหมายความว่าอาจเป็นผื่นแพ้จากอาการสัมผัส ดังนั้นอย่าใช้ผลิตภัณฑ์นี้
ส่วนใหญ่แล้วผื่นแพ้จากอาการสัมผัสไม่ได้ทำให้เกิดความกังวลมากนัก แต่อย่างไรก็ตามควรไปพบแพทย์หากผื่นอยู่ใกล้ตาหรือปาก หรือครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ของร่างกาย หรืออาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจให้ใช้ครีมสเตียรอยด์ที่มีฤทธิ์มากขึ้นได้หากการรักษาตนเองที่บ้านไม่ช่วยปลอบประโลมผิว นอกจากนี้อย่าลืมดูแลตนเองง่ายๆ ด้วยการหลีกเลี่ยงสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคือง และดื่มน้ำเพื่อให้ผิวชุ่มชื้นจะได้ลดอาการคัน แห้ง แตกเป็นขุย เมื่อมีอาการแพ้จากการสัมผัสได้ และการดื่มน้ำวันละกี่ลิตรจำเป็นแค่ไหน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของเราเลยค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : dermnetnz.org, mayoclinic.org, healthline.com, skinhospital.co.th
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ