“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
นอนกลางวันกี่นาที ถึงจะดีต่อสุขภาพ ? มาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการนอนกลางวันกันเถอะ !
มีใครที่นอนกลางวันเป็นประจำหรืองีบหลับสั้นๆ ในช่วงพักกลางวันบ้างคะ ? เราอาจจะเห็นเด็กๆ นอนกลางวันบ่อยๆ โดยเฉพาะในวัยอนุบาลที่จะต้องนอนกลางวันที่โรงเรียน แต่ในวัยผู้ใหญ่ บางคนก็งีบหลับตอนบ่ายในช่วงวันหยุด หรือในบางวันที่รู้สึกง่วงนอนมากๆ ก็อาจะงีบหลับสั้นๆ ในตอนพักกลางวันบ้าง แต่บางคนก็นอนกลางวันเป็นประจำเลยทีเดียว จริงๆ แล้วการนอนกลางวันนั้นดีต่อสุขภาพหรือเปล่า ? เราควร นอนกลางวันกี่นาที ถึงจะได้ประโยชน์มากที่สุด ไปหาคำตอบกันเลยค่ะ
นอนกลางวันกี่นาที ? ถึงจะดีต่อสุขภาพ มาหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน
ก่อนจะไปดูว่า ควรจะนอนกลางวันประมาณกี่นาที ถึงจะดีต่อสุขภาพของเรา มาไขข้อข้องใจกันก่อนว่านอนกลางวัน ดีไหม ? จริงๆ แล้วการนอนกลางวันหรือการงีบหลับ (Power Nap) นั้นมีข้อดีหลายอย่างด้วยกัน อย่างน้อยก็ช่วยลดความง่วงในระหว่างวันที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงเวลาเข้านอนตามปกติของแต่ละคน การนอนกลางวันก็จะทำให้ร่างกายได้ชาร์จพลังงานและรู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น รู้สึกสดชื่นและมีพลังมากขึ้น การนอนกลางวันยังมีข้อดีต่างๆ ดังนี้
- ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานระหว่างวัน
- ทำให้รู้สึกตื่นตัวและกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น
- ช่วยลดอุบัติเหตุจากการขับรถ รวมถึงการทำงานกับเครื่องจักรที่มีความเสี่ยงสูง
- เพิ่มทักษะการเรียนรู้ การมีสมาธิจดจ่อ สามารถจดจำและเรียนรู้สิ่งใหม่ได้ดีขึ้น
- ปรับอารมณ์ให้รู้สึกแจ่มใสมากขึ้น ลดความอ่อนล้าและความหงุดหงิดจากการนอนไม่พอ
- การงีบหลับช่วงสั้นๆ ระหว่างวันเป็นวิธีธรรมชาติในการลดความดันโลหิต เพราะการนอนหลับไม่เพียงพออาจทำให้คอร์ติซอลสูงขึ้นซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียด ทำให้หลอดเลือดแดงแคบลงและถึงขั้นตีบตัน ซึ่งอาจส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้
สำหรับคำถามที่ว่า นอนกลางวันกี่นาที ถึงจะดีที่สุด ? การนอนกลางวันให้เกิดประโยชน์นั้น ควรนอนประมาณ 30 นาทีหรือน้อยกว่า หลายคนเข้าใจว่าการงีบหลับนานขึ้นให้ประโยชน์มากกว่า แต่จริงๆ แล้ว การงีบหลับระหว่าง 10-30 นาที นั้นมักเป็นประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะหลังจากอดนอนเป็นระยะเวลาหนึ่ง การงีบหลับเพียง 5-10 นาทีในตอนกลางวันจะส่งผลให้เกิดข้อดีเมื่อเทียบกับการไม่งีบเลย นอกจากนี้การนอนเวลากลางวันให้ได้ประมาณ 20 นาทียังช่วยเพิ่มความแข็งแรงและสมรรถภาพทางจิตใจ
และในทางกลับกันการงีบหลับเกินกว่า 30 นาที มักจะมีความสัมพันธ์กับความเหนื่อยล้าและความเฉื่อยชาทันทีหลังจากงีบหลับ และอาจทำให้บางคนนอนกลางวันแล้วปวดหัวได้ นอกจากนี้ไม่ควรนอนเป็นเวลานานเกินไปเพราะอาจรบกวนตารางการนอนหลับตอนกลางคืนของเราได้ แล้วเราควรนอนกลางวันกี่นาที ? ช่วงที่ดีที่สุดสำหรับคนส่วนใหญ่มักจะอยู่ระหว่าง 10 – 30 นาทีนั่นเองค่ะ แต่อย่างไรก็ตาม ในคนที่มีภาวะอดนอนหรือนอนน้อย แนะนำให้งีบหลับประมาณ 1.5 – 2 ชั่วโมง เพื่อให้คลายความอ่อนเพลียจากการนอนไม่พอนั่นเองค่ะ
เคล็ดลับการนอนกลางวันให้ดีต่อสุขภาพ
ตอนนี้ก็ได้ทราบแล้วว่า ควรนอนกลางวันกี่นาทีถึงจะดีต่อสุขภาพของเรา ซึ่งก็คือช่วงประมาณ 10 – 30 นาทีนั่นเองค่ะ ทั้งนี้ ถ้าอยากนอนกลางวันให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และดีต่อสุขภาพจริงๆ เรามีเคล็ดลับในการนอนกลางวันมาฝากกันค่ะ
1. ควรนอนกลางวันให้เป็นเวลา
การนอนกลางวันให้ดีต่อสุขภาพ นอกจากควรนอนกลางวันกี่นาทีแล้ว เวลาที่งีบหลับก็สำคัญเช่นกัน เพราะวงจรการนอนหลับของเราเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงานในร่างกาย ซึ่งระดับพลังงานมักจะลดลงในช่วงบ่ายทำให้เป็นเวลายอดนิยมในการงีบหลับ เวลางีบหลับที่เหมาะสมก็คือ ช่วงเวลาประมาณ 13.00 – 15.00 น. ซึ่งจะทำให้เรารู้สึกสดชื่นและกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น ทั้งนี้ ควรระวังการงีบหลับระหว่าง 15.00 -17.00 น. เพราะการงีบหลับตอนเย็นส่งผลให้เกิดความเฉื่อยในการนอนหลับมากขึ้นทำให้เรารู้สึกสดชื่นน้อยลง
เกร็ดสุขภาพ : คนเราควรนอนหลับวันละกี่ชั่วโมงถึงจะดีต่อสุขภาพ ผู้ใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 18-64 ปีนั้นควรนอนวันละ 7 – 9 ชั่วโมงต่อวัน ไม่แนะนำให้นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงหรือมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน สำหรับใครที่นอนหลับยากหรือมีปัญหานอนไม่หลับ อาจทำให้เรานอนไม่พอซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ แนะนำให้ลองจิบชาสมุนไพร แก้อาการนอนไม่หลับอย่างชาคาโมมายล์หรือชาเปปเปอร์มินต์ จะช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้นค่ะ
2. ควรนอนกลางวันให้เป็นนิสัย
สำหรับคนที่งีบหลับบ่อยๆ นั้น ควรงีบหลับให้เป็นประจำและงีบหลับในช่วงเวลาเดิมๆ เพื่อให้ร่างกายของเราคุ้นชินกับการนอนหลับในระยะเวลาสั้นๆ ช่วงกลางวัน ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อการนอนหลับในเวลากลางคืน การนอนช่วงเวลากลางวันให้เป็นนิสัยจะได้รับประโยชน์โดยรวมมากกว่าและยังสามารถทำให้เรางีบหลับได้เร็วขึ้นอีกด้วย
3. ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการนอน
ในการนอนกลางวันกี่นาที แม้ว่าจะเป็นการงีบหลับในช่วงสั้นๆ แต่ก็ควรปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการนอนหลับ และนอนในท่าทางที่สบาย ไม่ฟุบบนโต๊ะหรือนั่งหลับในท่าที่ผิดสรีระเพราะอาจทำให้ปวดเมื่อยได้ ควรนอนหลับบนโซฟาหรือที่นอนให้เป็นกิจลักษณะ และงีบหลับในห้องที่มืดสนิทหรือใช้ผ้าปิดตา ใช้ที่อุดหูป้องกันเสียงรบกวน เพื่อป้องกันอาการหลับๆ ตื่นๆ ที่อาจทำให้รู้สึกงัวเงียและตื่นมาปวดหัว ไม่สดชื่นได้
ข้อควรระวังในการนอนกลางวัน
นอกจากสิ่งที่ต้องกังวลอย่าง ควรนอนกลางวันกี่นาที ? การงีบหลับในช่วงกลางวันก็อาจส่งผลเสียได้เช่นกัน เช่น ในผู้ที่เป็นโรคเตียงดูด ควรหลีกเลี่ยงการนอนกลางวันและลุกจากเตียงไปทำกิจกรรมอื่นๆ ควรนอนหลับในช่วงกลางคืนเท่านั้น หรือในผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า โรคอ้วน รวมถึงผู้ที่พยายามลดน้ำหนักอยู่ควรหลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เพราะการมีคุณภาพการนอนที่ย่ำแย่ นอนหลับไม่สนิท หลับๆ ตื่นๆ นอนไม่เต็มอิ่ม เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเกิดโรคอ้วนได้ และการนอนในตอนกลางวันอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวและมึนงงหลังจากตื่นนอนจากการงีบหลับ และในบางคนนอนกลางวันแล้วปวดหัวอีกด้วย
เกร็ดสุขภาพ : นอนกลางวัน ดีไหมสำหรับทุกคน ? การงีบหลับอาจส่งผลตรงกันข้ามในบางคน โดยเฉพาะในคนที่มีปัญหานอนไม่หลับหรือนอนหลับยากในตอนกลางคืน การนอนกลางวันอาจทำให้หลับยากมากยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงไม่ควรงีบหลับกลางวัน เพราะอาจทำให้ตื่นมาแล้วไม่สดชื่น ปวดหัว และประสิทธิภาพการทำงานลดลงได้
ตอนนี้ก็ได้ทราบกันแล้วนะคะว่า นอนกลางวัน ดีไหม และควรนอนกลางวันประมาณกี่นาทีถึงจะดีต่อสุขภาพของเราจริงๆ หากเรานอนกลางวันอย่างเหมาะสมในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ประมาณ 10 – 30 นาที ก็จะช่วยส่งเสริมในด้านสุขภาพและทำให้สมองสดชื่นกระปรี้กระเปร่าได้อีกด้วย แต่ในขณะเดียวกัน หากเรานอนกลางวันมากผิดปกติไปจากเดิม หรือง่วงนอนอยู่ตลอดเวลาจนผิดปกติ แม้จะงีบหลับแล้วก็ไม่รู้สึกสดชื่น นั่นอาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพได้ เพราะอาจเกิดจากการกินยาบางประเภท หรือเป็นโรคการนอนหลับ หรือภาวะทางการแพทย์อื่นๆ เช่น มีภาวะ Sleep Deprivation หรืออดนอนเรื้อรัง เพราะฉะนั้น ควรปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด และที่สำคัญอย่าลืมดูแลสุขภาพและพักผ่อนตอนกลางคืนให้เพียงพอ เพราะการนอนหลับที่ดีนั้นสำคัญต่อสุขภาพของเรามากๆ ค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : everydayhealth.com, health.clevelandclinic.org
Featured Image Credit : freepik.com
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ