“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
เต้นลีลาศ จังหวะบีกิน เต้นยังไง ? ชวนมาฝึกเต้นจังหวะง่ายๆ ผู้สูงอายุเต้นตามได้ สนุก เพลิดเพลิน และดีต่อสุขภาพ
มีใครเคยเรียนเต้นลีลาศกันมาก่อนไหมคะ ? ในบางโรงเรียนนั้นจะมีหลักสูตรการเต้นลีลาศสอนให้กับเด็กนักเรียนด้วย เป็นวิชานันทนาการที่ทำให้นักเรียนได้ขยับเขยื้อนร่างกายไปพร้อมๆ กับการฝึกสมาธิ ฝึกความจำในการจำท่าทางการเต้นในจังหวะต่างๆ ซึ่งจังหวะเริ่มต้นที่นิยมฝึกกันก็คือ จังหวะบีกิน แต่ปัจจุบันนี้เราอาจจะเห็นผู้สูงอายุนิยมไปเต้นลีลาศกันตามสโมสรหรือตามสถานที่ต่างๆ ที่ได้จัดไว้ให้กันเสียมากกว่า ซึ่งก็เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ช่วยสร้างความเพลิดเพลินได้เป็นอย่างดี และยังเป็นการออกกำลังกายทางอ้อมที่ดีต่อสุขภาพด้วย ถ้าใครอยากจะลองฝึกเต้นดูบ้าง ก็ตามมาดูกันเลยค่ะ
การเต้นลีลาศ จังหวะบีกิน ( (BEGUINE) คืออะไร ? เต้นยากมั้ย ?
การเต้นลีลาศ จังหวะบีกิน (Beguine) เป็นจังหวะลีลาศประเภทเบ็ดเตล็ด (POP AND SOCIAL DANCES) ปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างมากในการเต้นลีลาศตามงานสังคมทั่วไป แต่เป็นจังหวะที่ไม่นิยมในต่างประเทศ ประวัติของการเต้นจังหวะบีกินในไทยนั้นไม่ปรากฎว่าเริ่มเป็นที่นิยมมาตั้งแต่สมัยไหน แต่จากความเป็นมาตามตำราลีลาศ กล่าวว่า ตั้งแต่ยุคของครูอัตถ์ พึ่งประยูร ครูสอนลีลาศของไทยที่เต้นรำมาตั้งแต่พ.ศ. 2492 ในยุคนั้นก็มีการเต้นจังหวะนี้กันแล้ว โดยเข้าใจว่าครูสอนลีลาศชาวฟิลิปปินส์เป็นผู้นำการเต้นจังหวะนี้เข้ามาในประเทศไทย
ดนตรีและการนับจังหวะนั้นจะนับแบบ 4/4 หรือ 4 จังหวะในหนึ่งห้องเพลง โดยจังหวะที่ 1 2 และ 3 จะเป็นเสียงหนัก ส่วนจังหวะที่ 4 จะเป็นการพักเท้าซึ่งผู้เต้นจะทำการแตะหรืองอเข่าในจังหวะนี้ โดยจะนับต่อเนื่องกันไปตามสเต็ปคือ 1-2-3-4 วนไปจนจบเพลง
เกร็ดสุขภาพ : การเต้นลีลาศเป็นการออกกำลังกายที่ดีต่อร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ซึ่งจะต้องฝึกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ฝืน และที่สำคัญต้องฝึกในลานโล่ง ไม่มีสิ่งกีดขวาง และพื้นต้องไม่ลื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจลื่นล้มได้ ที่สำคัญอย่าลืมเลือกรองเท้าส้นแบนที่ช่วยซัพพอร์ทเท้าและยึดเกาะพื้นได้ดีระหว่างฝึก ส่วนใครฝึกเต้นในบ้านก็สามารถเต้นได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องสวมรองเท้า และไม่ควรสมถุงเท้าเพราะอาจทำให้ลื่นล้มได้ง่าย ที่สำคัญคือต้องเน้นความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรกด้วยการเก็บสิ่งของที่วางบนพื้นออกรวมถึงพรมด้วยนะคะ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุได้ค่ะ
ประโยชน์ของการเต้นลีลาศในผู้สูงอายุ
การเต้นลีลาศนั้นเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุที่สร้างความสนุกสนานและสร้างความผ่อนคลายได้ดี ทั้งยังเป็นการออกกำลังกายทางอ้อมที่ทำให้ผู้สูงอายุได้ขยับเขยื้อนร่างกายและเพลิดเพลินไปกับเสียงเพลง อย่างการเต้นจังหวะบีกินก็เป็นสเต็ปการเต้นที่ไม่ยากจนเกินไป สามารถเต้นตามได้ง่าย เหมาะแก่การเริ่มต้น ประโยชน์ของการเต้นลีลาศสำหรับผู้สูงอายุมีอะไรบ้าง มาดูกันเลยค่ะ
- ช่วยให้ผู้สูงอายุมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ทำให้ไม่รู้เหงาและโดดเดี่ยว
- ช่วงส่งเสริมสุขภาพ ให้ร่างกายมีความแข็งแรงและมีความยืดหยุ่น
- ช่วยลดความเสี่ยงในการลื่นล้ม เพราะการเต้นลีลาศจะช่วยให้ผู้สูงอายุทรงตัวได้ดีขึ้น แข็งแรงมากขึ้น
- เป็นการออกกำลังกายทางอ้อม ทำให้ผู้สูงอายุมีน้ำหนักตัวที่สมดุล
- ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด ทำให้อารมณ์แจ่มใสเบิกบาน ลดภาวะซึมเศร้า
- ช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นในตนเอง ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนมีคุณค่า
- ช่วยให้มีสุขภาพสมองที่ดีขึ้น ช่วยป้องกันความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมได้
- เป็นการฝึกสมาธิ ฝึกความจำในผู้สูงอายุไปในตัว
- ช่วยพัฒนาระบบหัวใจและหลอดเลือด ส่งเสริมสุขภาพหัวใจให้แข็งแรง
- ช่วยลดความดันโลหิต เพิ่มไขมันดี (HDL) และลดไขมันชนิดไม่ดี (LDL)
ชวนฝึกเต้นจังหวะบีกิน มือใหม่ก็ฝึกได้ เต้นอย่างไร มาดูกันเลย !
เคล็ดลับการเต้นลีลาศจังหวะนี้ก็คือการก้าวเท้าทุกก้าวไม่ว่าจะเดินหน้าหรือถอยหลังต้องก้าวให้เต็มฝ่าเท้ารวมถึงงอเข่าเล็กน้อยระหว่างก้าว พยายามก้าวอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด อย่าฝืนตัว หากรู้สึกไม่ชินให้เพิ่มการงอเข่าเข้ามาช่วยจะทำให้ก้าวเท้าได้เป็นธรรมชาติมากขึ้น สะโพกจะบิดเป็นธรรมชาติ ดูสวยงามและลื่นไหล นอกจากนี้ พยายามจัดระเบียบร่างกายช่วงลำตัวส่วนบนและลำคอให้ตั้งตรงเพื่อให้การเต้นรำออกมาสวยงามสบายตามากที่สุดด้วย
การเต้นลีลาศจังหวะบีกินเป็นการเต้นรำแบบง่ายๆ สบายๆ เน้นการเคลื่อนที่อย่างมั่นคงและพลิ้วไหว เมื่อฝึกเดินหน้าและถอยหลังจนคุ้นเคยแล้วจึงเพิ่มความซับซ้อนเข้าไปด้วยการหมุนตัวตามจังหวะเพลงได้เลย พร้อมกับออกท่าทางอย่างการเคลื่อนไหวมือและแขนไปตามจังหวะเพลง สำหรับผู้ที่อยากจะเริ่มฝึกเต้นจังหวะบีกิน มาดูกันค่ะว่ามีท่าทาง หรือ Figures แบบไหนกันบ้าง จะได้เอาไปลองทำตามกันดูค่ะ
1. แฮนด์ ทู แฮนด์ (Hand to Hand)
แฮนด์ ทู แฮนด์ เป็นท่าเต้นพื้นฐานที่ทำตามได้ไม่ยาก นับจังหวะง่ายๆ คือ 1 2 3 และ 4 โดยแตะเท้าในจังหวะที่ 4 ร่วมกับการใช้ท่ามือและการหมุนตัวเพื่อให้มีความสวยงามมากขึ้น มีสเต็ปดังนี้
ฝ่ายชาย :
- ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า นับ 1
- จากนั้นก้าวเท้าขวา ซ้าย นับ 2 และ 3 และพักเท้าขวาในจังหวะที่ 4
- ก้าวถอยหลัง นับ 1 2 3 และพักเท้าในจังหวะที่ 4
- หมุนตัวออกด้านข้าง ปล่อยมือฝ่ายหญิง ก้าวถอยหลังนับ 1 และ 2 พักเท้าในจังหวะที่ 2
- ก้าวไปด้านหน้า นับ 1 2 และหมุนตัวเข้าหาคู่เต้น
- ทำซ้ำแบบนี้จนครบ 6 จังหวะ
ฝ่ายหญิง :
- ถอยเท้าขวาไปด้านหลัง นับ 1
- จากนั้นก้าวถอยหลังเท้าซ้าย ขวา นับ 2 และ 3 และพักเท้าซ้ายในจังหวะที่ 4
- ก้าวไปด้านหน้า นับ 1 2 3 และพักเท้าในจังหวะที่ 4
- หมุนตัวออกด้านข้าง ปล่อยมือฝ่ายชาย ก้าวถอยหลังนับ 1 และ 2 พักเท้าในจังหวะที่ 2
- ก้าวไปด้านหน้า นับ 1 2 และหมุนตัวเข้าหาคู่เต้น
- ทำซ้ำแบบนี้จนครบ 6 จังหวะ
2. เบสิกวอล์ค (Basic Walk)
เบสิกวอล์คคือท่าเดินถอยหลังและก้าวไปข้างหน้าแบบง่ายๆ เป็นการเดินแบบตรงๆ 3 จังหวะและแตะ (หรือพักเท้า) ในจังหวะที่ 4 มีสเต็ปดังนี้
- เดินถอยหลังด้วยเท้าขวา 3 ก้าว นับจังหวะ 1-2-3 และแตะเท้าซ้ายในจังหวะที่ 4
- ก้าวไปข้างหน้าด้วยเท้าซ้าย นับจังหวะ 1-2-3 และแตะเท้าหลังในจังหวะที่ 4
3. นิวยอร์ก (New York Step)
ท่านิวยอร์กเป็นสเต็ปการเต้นจังหวะบีกินที่ซับซ้อนขึ้นมาเล็กน้อย สามารถทำได้โดยก้าวเท้าซ้ายผ่านไปด้านหน้าเท้าขวา จากนั้นก้าวเท้าขวาตาม ตามด้วยการถอยเท้าซ้ายผ่านส้นเท้าขวาไปทางขวา นับ 1 – 2 – 3 และแตะเท้าขวาในจังหวะที่ 4 ร่วมกับการใช้ท่ามือเพื่อให้มีความสวยงามมากขึ้น มีสเต็ปดังนี้
ฝ่ายชาย :
- ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า นับ 1
- หมุนไปทางขวา 1 ใน 4 หันข้างให้คู่เต้น ก้าวเท้าขวา ปล่อยมือขวา จับเฉพาะมือซ้าย นับ 2
- ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า นับ 3
- ยกเท้าขวามาแตะด้วยปลายเท้าข้างซ้าย น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าซ้าย นับ 4
- ถอยเท้าขวามาข้างหลัง นับ 1
- หมุนไปทางซ้าย 1 ใน 4 หันข้างให้คู่เต้น ก้าวเท้าซ้าย ปล่อยมือซ้าย จับเฉพาะมือขวา
- ก้าวเท้าขวาไขว้หน้าเท้าซ้าย ก้าวออกนอกคู่ หมุนตัวไปทางซ้าย 1 ใน 8 นับ 3
- ยกเท้าซ้ายมาแตะด้วยปลายเท้าข้างเท้าขวา น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าขวา นับ 4
ฝ่ายหญิง :
- ถอยเท้าขวาไปข้างหลัง นับ 1
- หมุนไปทางซ้าย 1 ใน 4 หันข้างเข้าหาคู่เต้น ก้าวเท้าซ้าย ปล่อยมือซ้าย จับเฉพาะมือขวา นับ 2
- ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า นับ 3
- ยกเท้าซ้ายมาแตะด้วยปลายเท้าข้างเท้าขวา น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าขวา นับ 4
- ถอยเท้าซ้ายมาข้างหลัง นับ 1
- หมุนไปทางขวา 1 ใน 4 หันข้างเข้าหาคู่เต้น ก้าวเท้าขวา ปล่อยมือขวา จับเฉพาะมือซ้าย นับ 2
- ก้าวเท้าซ้ายไขว้หน้าเท้าขวาก้าวออกนอกคู่เต้น หมุนตัวไปทางขวา 1 ใน 8 นับ 3
- ยกเท้าขวามาแตะด้วยปลายเท้าข้างเท้าซ้าย น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าซ้าย นับ 4
- หมุนตัวลากเท้าซ้าย มาวางข้างเท้าขวาแล้วก้าวเท้าขวาไปหลัง จบจังหวะ
4. สปอต เทิร์น (Spot Turn)
ท่าสปอต เทิร์น เป็นท่าหมุนตัวทั้งผู้ชายและผู้หญิง เป็นหนึ่งในท่าของจังหวะแบบบีกินที่ต่อเนื่องมาจากท่านิวยอร์ก ซึ่งจะทำให้การเต้นลีลาศมีความสมูทมากขึ้นแล้วก็สวยงามมากขึ้นค่ะ
ฝ่ายชาย :
- ก้าวเท้าซ้ายไปด้านหน้า น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าซ้าย นับ 1
- ก้าวเท้าขวาไปด้านหน้า น้ำหนักอยู่ที่เท้าขวา นับ 2
- ก้าวเท้าซ้ายไปด้านหน้า น้ำหนักอยู่ที่เท้าซ้าย นับ 3
- งอเข่าขวาในจังหวะพัก นับ 4
- ถอยเท้าขวาไปด้านหลังพร้อมหมุนตัว นับ1
- ก้าวเท้าซ้ายแล้วหมุนตัว 90 องศา นับ 2
- ถอยเท้าขวาลากเท้าซ้ายมาแตะข้างเท้าขวา นับ 3
- งอเข่าซ้ายในจังหวะพัก นับ 4
ฝ่ายหญิง :
- ถอยเท้าขวาไปด้านหนัง แล้วหมุนตัว นับ 1
- ก้าวเท้าซ้ายแล้วหมุนตัว 90 องศา นับ 2
- ถอยเท้าขวาลากเท้าซ้ายมาแตะข้างเท้าขวา นับ 3
- งอเข่าซ้ายในจังหวะพัก นับ 4
- ก้าวเท้าซ้ายไปด้านหน้า น้ำหนักอยู่ที่เท้าซ้าย นับ 1
- ก้าวเท้าขวาไปด้านหน้า น้ำหนักอยู่ที่เท้าขวา นับ 2
- ก้าวเท้าซ้ายไปด้านหน้า น้ำหนักอยู่ที่เท้าซ้าย นับ 3
- งอเข่าขวาในจังหวะพัก นับ 4
5. การหมุน (Underarm Turn)
การหมุนหรืออันเดอร์ อาร์ม เทิร์นคือการเต้นลีลาศจังหวะบีกินที่ฝ่ายหญิงหมุนตัวใต้วงแขนของฝ่ายชาย เป็นท่าที่ช่วยสร้างสีสันให้การเต้นรำและยังเพิ่มความสวยงามอีกด้วย มีสเต็ปดังนี้
ฝ่ายชาย :
- ก้าวเท้าซ้ายไปทางซ้ายและยกมือขึ้นสูงเหนือศีรษะฝ่ายหญิง นับ 1
- หมุนตัวไปทางซ้ายครึ่งรอบ นับ 2
- หมุนตัวไปทางซ้ายครึ่งรอบพร้อมก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า นับ 3
- แตะเท้าขวา นับ 4
ฝ่ายหญิง :
- ยกมือขวาขึ้นเหนือศีรษะ หมุนตัวไปทางขวาพร้อมก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า นับ 1
- หมุนตัวไปทางขวาพร้อมก้าวเท้าขวา นับ 2
- หมุนตัวไปทางขวาอีกครึ่งรอบพร้อมก้าวเท้าขวาถอยหลัง นับ 3
- แตะเท้าซ้าย นับ 4
6. โชเดอร์ ทู โชเดอร์ (Shoulder to Shoulder)
โชเดอร์ ทู โชเดอร์ เป็นการวาดแขนให้อยู่ในระดับไหล่ของฝ่ายหญิง เคลื่อนไหวในลักษณะหมุนตัวเล็กน้อย และฝ่ายหญิงยังสามารถหมุนตัวใต้วงแขนของฝ่ายชายได้ด้วย เป็นอีกท่าหนึ่งที่มีความสวยงาม ช่วยเพิ่มความสง่าให้กับคู่เต้นได้เป็นอย่างดี โดยมีสเต็ปดังนี้
ฝ่ายชาย :
- ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า นับ 1
- ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า เยื้องไปทางขวา หมุนตัวไปทางขวาเล็กน้อย นับ 2
- ก้าวเท้าซ้ายไขว้หน้าเท้าขวา ก้าวออกนอกคู่เต้น หมุนตัวไปทางขวา 1 ใน 8 นับ 3
- ยกเท้าขวามาแตะด้วยปลายเท้าที่ข้างเท้าซ้าย น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าซ้าย นับ 4
- ถอยเท้าขวามาข้างหลัง นับ 1
- ก้าวเท้าซ้ายมาด้านข้างเยื้องไปข้างหน้าเล็กน้อย นับ 2
- ก้าวเท้าขวาไขว้หน้าเท้าซ้าย ก้าวออกนอกคู่เต้น หมุนตัวไปทางซ้าย 1 ใน 8 นับ 3
- ยกเท้าซ้ายมาแตะด้วยปลายเท้าที่ข้างเท้าขวา น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าขวา นับ 4
ฝ่ายหญิง :
- ถอยเท้าขวาไปข้างหลัง นับ 1
- ถอยเท้าซ้ายไปข้างหลังเยื้องไปทางซ้าย หมุนตัวไปทางขวา นับ 2
- ถอยเท้าขวาไขว้หลังเท้าซ้ายหมุนตัวไปทางขวา 1 ใน 8 นับ 3
- ยกเท้าซ้ายมาแตะด้วยปลายเท้าที่ข้างเท้าขวา น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าขวา นับ 4
- ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า นับ 1
- ก้าวเท้าขวาไปด้านหน้าเยื้องไปข้างหน้าเล็กน้อย นับ 2
- ถอยเท้าซ้ายไขว้หลังเท้าขวา หมุนตัวไปทางซ้าย 1 ใน 8 นับ 3
- ยกเท้าขวามาแตะด้วยปลายเท้าที่ข้างซ้าย น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าซ้าย นับ 4
เกร็ดสุขภาพ : การเต้นลีลาศต้องใช้กล้ามเนื้อขา น่อง ใช้ข้อเท้า เข่า เท้า และการทรงตัวเพื่อความสมดุล เป็นการฝึกความแข็งแรงให้กับร่างกาย เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการออกกำลังกายเพื่อฝึกกล้ามเนื้อให้แข็งแรง เพื่อป้องกันโรคในผู้สูงอายุที่อาจเกิดขึ้นได้หากขาดการออกกำลังกาย เช่น กล้ามเนื้อไม่มีแรง อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อตึง เป็นพังผืด กระดูกพรุน เป็นต้น
ชวนฝึกเต้นลีลาศจังหวะ Advance สำหรับผู้มีพื้นฐานเบื้องต้น
ตอนนี้เราก็ได้ทราบแล้วว่าการเต้นจังหวะแบบบีกินมีสเต็ปการเต้นอย่างไรบ้าง การดูวิดีโอประกอบการฝึกไปด้วยจะทำให้เราเต้นตามได้ง่ายขึ้นค่ะ และสำหรับใครที่มีพื้นฐานการเต้นเบื้องต้นมาก่อนแล้ว อยากกฝึกจังหวะที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ก็ลองเต้นตามจังหวะเหล่านี้ดูได้เลย
1. จังหวะสโลว์ ฟอกซ์ทรอท (Slow Foxtrot)
จังหวะสโลว์ ฟอกซ์ทรอท ถูกเปรียบให้เป็นหัวใจของการเต้นรำแบบบอลรูม บางคนบอกว่า หากสามารถเต้นจังหวะนี้ได้แล้ว ก็จะมีพื้นฐานไปโดยปริยาย และทำให้เต้นจังหวะอื่นๆ ได้ดี การเต้นลีลาศจังหวะนี้จะมีความสง่างาม เสริมบุคลิกได้เป็นอย่างดี ดูพริ้วไหวและเคลื่อนที่อย่างเป็นอิสระ
2. จังหวะวอลซ์ ( Waltz)
จังหวะวอลซ์ เป็นจังหวะที่สวิงและเลื่อนไหล มีความนุ่มนวล เคลื่อนที่เป็นวง เปรียบได้กับการแกว่งของลูกตุ้มระฆัง ทำให้นักเต้นรำมีการเคลื่อนที่ไปอย่างเป็นธรรมชาติและมีอิสระ มีความสมดุล สำหรับดนตรีจะมีความโรแมนติกชวนฝัน มีจังหวะช้าๆ เป็นการเต้นรำแบบเพลงช้านั่นเองค่ะ ซึ่งเป็นจังหวะการเต้นที่นิยมมากๆ ในงานเลี้ยงเต้นรำหรืองานสังคมต่างๆ ต้องฝึกไว้เลยค่ะ
3. จังหวะรุมบ้า (Rumba)
การเต้นลีลาศจังหวะรุมบ้า เป็นการเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ และนิ่มนวล ซึ่งมีจังหวะก้าวเท้าแบบไสเท้าติดกับพื้นฟลอร์ตลอดเวลา ไหล่และแขนผ่อนคลาย เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายระดับเบา (Light Physical activity) ในลักษณะนวยนาด แต่มีความหนักหน่วงและมั่นคง เน้นการเคลื่อนไหวด้วยสะโพกเป็นหลัก เพื่อให้ดูพลิ้วไหวและสวยงาม
4. จังหวะพาโซโดเบล (Paso Doble)
จังหวะพาโซโดเบล เป็นการเต้นลีลาศสไตล์ละติน – อเมริกัน ให้กลิ่นอายบรรยากาศการสู้วัวกระทิงตามแบบฉบับของชาวสเปน มีการเคลื่อนไหวร่างกายระดับเบาถึงปานกลางจากการเดินด้วยปลายเท้า มีท่าทางที่ดูสง่างาม ดูภูมิฐาน มีความเฉียบคม เน้นลีลาของแขน ข้อศอก ข้อมือ และนิ้วมือตามแบบการเต้นฟลาเมงโก้นั่นเอง
5. จังหวะ ช่า ช่า ช่า (Cha cha cha)
จังหวะช่า ช่า ช่า เป็นการเต้นลีลาศที่ต้องอาศัยความแข็งแรงของร่างกาย เป็นการเคลื่อนไหวในระดับปานกลาง ที่ใช้การเดินค่อนข้างเร็ว เป็นจังหวะลาตินที่เป็นที่นิยมในคนส่วนใหญ่ ให้ความรู้สึกเบิกบาน สนุกสนาน สดใส และการเคลื่อนไหวท่าทางนั้นจะให้ความสำคัญกับจังหวะดนตรีเป็นหลัก มีความฉับไวและต่อเนื่อง มีเคล็ดลับในการนับจังหวะคือ ก้าว ย่ำ แยก ชิด แยก / ถอย ย่ำ แยก ชิด แยก
การชวนผู้สูงอายุไปเต้นลีลาศหรือชักชวนผู้สูงอายุฝึกเต้นลีลาศร่วมกันกับสมาชิกภายในบ้านก็เป็นวิธีดูแลผู้สูงอายุอีกวิธีหนึ่ง ที่สามารถดูแลผู้สูงอายุได้ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ เพราะนอกจากจะทำให้ผู้สูงอายุไม่เหงาแล้ว ยังทำให้มีสุขภาพแข็งแรง มีจิตใจแจ่มใส เพราะได้พบปะกับผู้คนในชมรมลีลาศอันเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในสังคม ให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนยังเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่รู้สึกเหงาหรือโดดเดี่ยว และบางคนอาจจะได้เพื่อนใหม่วัยเดียวกัน เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อผู้สูงวัยทั้งด้านร่างกายและจิตใจเลยทีเดียวค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : bangkokhospital.com
Featured Image Credit : freepik.com/gpointstudio
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ