“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
อาการโรคฉี่หนูในคนเป็นยังไง ? ลองมาทำความรู้จักเพื่อรู้เท่าทันกัน !
หน้าฝนมาเยือนเมื่อไร หนึ่งในโรคร้ายกวนใจที่หลายคนมองข้ามก็คือโรคฉี่หนู วันนี้ทีมเพื่อสุขภาพจึงอยากชวนมาดูกันว่า อาการโรคฉี่หนูในคน เป็นอย่างไร อาการแบบไหนที่ต้องไปพบแพทย์ และโรคฉี่หนูสาเหตุเกิดมาจากอะไรกันแน่ รู้ก่อน ป้องกันตัวเองได้ก่อน ลองมาดูคำตอบไปพร้อมกับเราได้เลยค่ะ
ทำความรู้จักกับ อาการโรคฉี่หนูในคน
อาการโรคฉี่หนูในคนหรือโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อ Leptospira ที่มีพาหะมาจากสัตว์ฟันแทะ ส่วนใหญ่มักเกิดการระบาดในช่วงฤดูฝน แม้ตัวของหนูเหล่านั้นจะไม่เป็นโรค แต่เมื่อพวกมันปัสสาวะออกมาจะเกิดการปนเปื้อนของเชื้อดังกล่าวทำให้เป็นที่มาของชื่อโรคฉี่หนูนั่นเอง แต่นอกจากโรคฉี่หนูสาเหตุจะเกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อจากปัสสาวะหนูแล้ว ยังสามารถพบเชื้อได้จากสุนัข วัว และควายด้วย
คนเราสามารถติดโรคฉี่หนูได้ผ่าน 2 ช่องทาง คือ
- การติดเชื้อทางตรง : เกิดจากการสัมผัสกับสัตว์หรือบริเวณที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่โดยตรง
- การติดเชื้อทางอ้อม : เกิดจากการสัมผัสเชื้อทางอ้อมโดยรับเชื้อผ่านทางบาดแผล เช่น เดินลุยน้ำท่วมขังในบริเวณที่มีเชื้อโรคหรือกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป
- อาการโรคฉี่หนูในคน อาการเป็นอย่างไรบ้าง
โรคฉี่หนูสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย เมื่อติดเชื้อผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการของโรค ซึ่งโดยทั่วไปมักมีอาการไม่รุนแรง อาจมีอาการบางส่วนคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ
- คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ
- ตัวร้อน มีไข้สูง รู้สึกหนาวสั่น
- ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ มีอาการเจ็บช่องท้อง
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลียง่าย
- ตาแดงหรือระคายเคืองที่ตา
- มีผื่นขึ้นตามตัว
- ไม่อยากอาหาร ท้องเสีย
อาการโรคฉี่หนูในคนอาจแสดงอาการรุนแรงได้ ดังนี้
- เยื่อบุตาบวมแดวงและอาจลุกลามจนกลายเป็นอาการเลือดออกที่ตาขาวข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง
- เมื่อกดบริเวณกล้ามเนื้อจะรู้สึกเจ็บอย่างรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณกล้ามเนื้อน่อง
- มีเลือดออกแบบต่างๆ เช่น เลือดออกเป็นจุดตามผิวหนัง มีผื่นเลือด เลือดออกใต้เบื่อบุตา หรือมีเสมหะเป็นเลือด
- อาจมีผื่นขึ้นหลายแบบ เช่น ผื่นแดงราบ ผื่นแดง หรือผื่นลมพิษ
- มีอาการเหลืองและดีซ่าน
เกร็ดสุขภาพ : ความร้ายแรงของโรคนี้ก็คืออาการโดยทั่วไปอาจไม่ต่างจากไข้หวัดใหญ่หรือไข้หวัด ทำให้วินิจฉัยยาก กว่าจะรู้ตัวอาการของผู้ป่วยบางรายอาจเข้าขั้นรุนแรงไปแล้ว เพราะฉะนั้นการป้องกันตัวเองไว้ก่อนย่อมดีกว่า
- การป้องกันตัวเองจากโรคฉี่หนู
- กำจัดพาหะของโรคอย่างหนูและสัตว์ฟันแทะอื่นๆ
- เมื่อต้องเดินลุยพื้นที่น้ำท่วมหรือน้ำขังควรสวมอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง เช่น รองเท้าบูท
- ไม่สัมผัสสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค
- หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในพื้นที่ที่อาจมีเชื้อโรคเจือปนอยู่
- ไม่กินอาหารที่ทิ้งไว้ค้างคืนโดยไม่มีภาชนะปิด เช่น ไม่ปิดฝา หรือไม่เก็บใส่ตู้
- เมื่อต้องเดินลุยน้ำ ควรรีบอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าและทำความสะอาดร่างกายทันทีเมื่อกลับถึงบ้าน
- การรักษาโรคฉี่หนูทำได้โดยวิธีใดบ้าง
- หากมีไข้และอ่อนเพลียดื่มน้ำวันละกี่ลิตร คำตอบคือสามารถดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิห้องประมาณ 1 – 2 ลิตรได้เพื่อชดเชยน้ำที่ร่างกายสูญเสียไปและเพื่อป้องกันอาการอ่อนเพลีย
- ส่วนใหญ่แล้วโรคฉี่หนูมักหายได้เองหรืออาจกินยาปฏิชีวนะเพื่อการรักษาก็ได้ ซึ่งการกินยาต้องกินจนหมดตามปริมาณที่แพทย์กำหนดเพื่อให้มั่นใจว่ายาทำการฆ่าเชื้อจนหมดและจะไม่กลับไปติดเชื้อจนเกิดอาการของโรคอีก
- สามารถกินยาแก้ปวดอย่างไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อบรรเทาอาการมีไข้ ปวดศีรษะ และตัวร้อนได้ หรือกินยาแก้ปวดท้องท้องเสียร่วมด้วยก็ได้หากมีอาการ
- ในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงต้องไปพบแพทย์เพื่อรักษาที่โรงพยาบาล อาจต้องนอนพักรักษาตัว ฉีดยาปฏิชีวนะเข้าเส้นเลือด หรือหากมีอวัยวะเสียหายจากการติดเชื้อก็ต้องใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น ใส่เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น
- ระยะเวลาในการพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยแต่ละคน บางรายอาจกลับบ้านได้ในระยะเวลาไม่กี่วัน หรือบางรายอาจต้องรักษาตัวนานเป็นเดือน ขึ้นอยู่กับอาการและดุลยพินิจของแพทย์
- หากผู้ป่วยเป็นหญิงที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ต้องระวังเป็นพิเศษเพราะโรคฉี่หนูสามารถแพร่เชื้อไปสู่ทารกได้ด้วย ความรุนแรงของการแพร่เชื้อไปสู่ทารกนั้นร้ายแรงถึงขนาดอาจทำให้ทารกเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากหญิงตั้งครรภ์คนไหนมีอาการของโรคฉี่หนูต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วนและต้องเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิดด้วย
เกร็ดสุขภาพ : ไม่ว่าสภาพบ้านเมืองจะเจริญขึ้นมากแค่ไหน แต่โรคฉี่หนูก็ยังคงแอบแฝงอยู่ เพราะไม่ว่าจะเป็นเมืองใหญ่หรือตามเรือกสวนไร่นา หากเกิดฝนตก น้ำท่วมขัง และมีสัตว์ฟันแทะอย่างหนูอาศัยอยู่แล้วหล่ะก็ สถานที่นั้นก็มีโอกาสกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงแพร่เชื้อโรคฉี่หนูทั้งสิ้น ดังนั้นเราต้องเริ่มจากการเติมความรู้ให้ตัวเองเข้าใจและรู้จักโรคนี้กันมากขึ้น รู้จักกำจัดพาหะและไม่เอาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการติดโรคนะคะ
อาการโรคฉี่หนูในคนแม้จะไม่รุนแรงและสามารถหายได้เอง ไม่เหมือนอาการป่วยภายในร่างกายที่เกิดจากภาวะผิดปกติอย่างเช่น ความดัน หรือไตรกลีเซอไรด์ เกิดจากพฤติกรรมส่วนตัวของเราที่ทำให้เกิดโรค แต่ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อจนอาการเข้าสู่ภาวะรุนแรงได้เช่นกัน ใครที่อยากรู้ว่าโรคฉี่หนูสาเหตุเกิดจากอะไร มีวิธีป้องกันและรักษาอย่างไรก็คงได้คำตอบไปแล้ว คราวนี้อย่าลืมสังเกตสภาพแวดล้อมรอบตัวเราว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหรือไม่ และพยายามเลี่ยงรวมถึงป้องกันตัวเองเอาไว้ก่อนจะดีที่สุดนะคะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : cdc.gov, siphhospital.com, sikarin.com
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ