X

PTSD คืออะไร ? ชวนทำความรู้จักโรคทางจิตใจโรคนี้ให้ดียิ่งขึ้น

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

PTSD คืออะไร ? ชวนทำความรู้จักโรคทางจิตใจโรคนี้ให้ดียิ่งขึ้น

ในยุคสมัยปัจจุบันเราได้เริ่มรู้จักโรคทางจิตเวชที่เรียกว่า โรคซึมเศร้า กันอย่างแพร่หลาย และเข้าใจถึงคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น แต่ยังมีหลายคนที่อาจจะยังไม่รู้จักโรคทางจิตเวชอีกโรคหนึ่ง ที่คนใกล้ชิดต้องดูแลและใส่ใจไม่แพ้โรคซึมเศร้า รวมถึงผู้ที่เป็นหากมีอาการรุนแรงก็ต้องเข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์เฉกเช่นเดียวกัน โรคที่เรากำลังพูดถึงนั้นก็คือ PTSD และโรค PTSD คืออะไร มีสาเหตุมาจากไหน เรามารู้จักไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ

  • PTSD คืออะไร ? รู้จักให้มากขึ้นพร้อมวิธีรับมือ
post traumatic stress disorder คือ, PTSD คืออะไร

โรค PTSD คืออะไร ? โรค PTSD หรือ post traumatic stress disorder คือ โรคทางจิตเวชที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ที่เคยสัมผัสหรือพบเห็นเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น ภัยธรรมชาติ อุบัติเหตุร้ายแรง การก่อการร้ายสงคราม การต่อสู้ การข่มขืน ความรุนแรงทางเพศ หรือผู้ที่ถูกคุกคามจนถึงแก่ชีวิต หรือการบาดเจ็บสาหัส เป็นต้น ซึ่งเป็นภาวะสุขภาพจิตที่นึกถึงเหตุการณ์ย้อนหลัง ฝันร้าย และมีความวิตกกังวลอย่างรุนแรง รวมถึงความคิดที่ไม่สามารถควบคุมได้เกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นๆ ที่เคยเจอ

ในคนส่วนใหญ่ทั่วไปที่ผ่านเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอาจมีปัญหาในการปรับตัวและรับมือชั่วคราว แต่เมื่อเวลาผ่านไปและการดูแลตนเองที่ดีก็มักจะทำให้รู้สึกดีขึ้น แต่หากว่าอาการกลับแย่ลงเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี และรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน นั่นหมายถึงคุณอาจจะกำลังเป็นโรค PTSD คืออะไรที่น่ากังวลและต้องได้รับการเยียวยาและรักษาโดยเร็ว เพราะการได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพหลังจากเกิดอาการ PTSD อาจมีความสำคัญต่อการลดอาการของโรคได้

เกร็ดสุขภาพ : post traumatic stress disorder คือ อาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกคนทุกเชื้อชาติและทุกวัย และมีผลกระทบต่อผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก รวมถึงผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชายถึงสองเท่า ผู้ที่เป็น PTSD จะมีความคิดและความรู้สึกที่รุนแรงและรบกวน ซึ่งเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ของพวกเขาที่ยังคงอยู่หลังจากเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจสิ้นสุดลง และมักจะมีปฏิกิริยาเชิงลบอย่างรุนแรงต่อบางสิ่งบางอย่างที่กระตุ้นเตือนให้นึกถึงเหตุการณ์นั้นๆ เช่น เสียงดัง การสัมผัสโดยบังเอิญ หรือแม้แต่เพลย์ลิสต์ของเพลงที่ถูกเปิดในช่วงเวลานั้น

  • สาเหตุของการเกิด PTSD คืออะไร ?
post traumatic stress disorder คือ, PTSD คืออะไร

PTSD เกิดขึ้นได้อย่างไร ? ในระหว่างการบาดเจ็บ ร่างกายของเราจะตอบสนองต่อภัยคุกคามและปล่อยฮอร์โมนความเครียด เช่น อะดรีนาลีน และนอร์อิพิเนฟรินออกมา ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น และสมองของเราจะติดอยู่ในโหมดอันตรายแม้ว่าเราจะไม่ตกอยู่ในอันตรายอีกต่อไป แต่สมองจะยังคงเตือนอยู่เสมอ ร่างกายของเรายังคงส่งสัญญาณความเครียดซึ่งนำไปสู่อาการ PTSD  เพราะสมองส่วนที่จัดการกับความกลัวและอารมณ์นั้นมีบทบาทมากขึ้นในผู้ที่มีโรคเครียดหลังเกิดบาดแผล ซึ่ง post traumatic stress disorder คือ อาการที่สามารถเกิดขึ้นได้หลังจากเหตุการณ์ที่เครียด น่ากลัว หรือน่าวิตก หรือหลังจากประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจเป็นเวลานาน

  • ประเภทของเหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่ PTSD คืออะไรบ้าง
  • อุบัติเหตุร้ายแรง
  • การทำร้ายร่างกายหรือทางเพศ
  • การล่วงละเมิด รวมถึงการล่วงละเมิดในวัยเด็กหรือในครอบครัว
  • การสัมผัสกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ
  • ปัญหาสุขภาพที่รุนแรง เช่น การเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยหนัก
  • มีประสบการณ์การคลอดบุตรที่ไม่ดี เช่น การสูญเสียทารก
  • เคยอยู่ในระหว่างสงครามและความขัดแย้ง
  • การรักษา
post traumatic stress disorder คือ, PTSD คืออะไร

ไม่ใช่ทุกคนที่มีประสบการณ์การบาดเจ็บทั้งทางร่างกายหรือจิตใจแล้วจะพัฒนาเป็น PTSD และไม่ใช่ทุกคนที่เป็น PTSD จะต้องได้รับการรักษาทางจิตเวช เพราะสำหรับบางคนอาการของ PTSD จะบรรเทาลงหรือหายไปเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งอาจจะดีขึ้นด้วยความช่วยเหลือของคนในครอบครัวหรือเพื่อน แต่หลายคนก็จำเป็นต้องได้รับการรักษาเพื่อให้หายจากความทุกข์ทางจิตใจซึ่งอาจรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งวิธีการรักษานั้น จิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตจะเลือกใช้วิธีการต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหายจากอาการ PTSD ดังนี้

  1. บำบัดด้วยการพูดคุย หรือที่เรียกว่าจิตบำบัด ด้วยการมุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนอารมณ์เชิงลบที่เจ็บปวดอันเนื่องมาจากบาดแผล และนักบำบัดจะช่วยให้บุคคลนั้นเผชิญหน้ากับความทรงจำเหล่านั้น
  2. บำบัดด้วยการกระตุ้น เป็นการบำบัดด้วยการใช้การจินตนาการซ้ำๆ เพื่อให้เป็นตัวกระตุ้นในวิธีที่ปลอดภัยและควบคุมได้ ช่วยให้บุคคลนั้นเผชิญหน้าเพื่อควบคุมความกลัวและความทุกข์และเรียนรู้ที่จะรับมือได้ เช่น ใช้โปรแกรมความเป็นจริงเสมือนเพื่อช่วยให้ทหารผ่านศึกที่มีอาการ PTSD ได้สัมผัสกับสนามรบอีกครั้งด้วยวิธีการควบคุมและบำบัด
  3. การบำบัดแบบกลุ่ม วิธีนี้จะกระตุ้นให้ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจที่คล้ายคลึงกันมาแบ่งปันประสบการณ์กัน ซึ่งการบำบัดทั้งครอบครัวอาจช่วยได้เช่นกัน เนื่องจากพฤติกรรมและความทุกข์ของผู้ที่เป็นโรคนี้อาจส่งผลกระทบต่อทั้งครอบครัว
  4. ใช้ยาในการรักษา ยาสามารถช่วยในการควบคุมอาการของ PTSD ได้ นอกจากนี้การบรรเทาอาการด้วยยาจะช่วยให้หลายๆ คนที่มีส่วนร่วมในจิตบำบัดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ยาที่ใช้อาจเป็นยาในกลุ่มยาซึมเศร้าบางชนิดเช่น SSRIs และ SNRIs มักถูกนำมาใช้เพื่อรักษาอาการหลักของ PTSD อาจใช้เพียงอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกับจิตบำบัดหรือการรักษาอื่นๆ
  • เราจะช่วยเหลือผู้ป่วย PTSD ได้อย่างไร
post traumatic stress disorder คือ, PTSD คืออะไร

เมื่อคนในครอบครัว หรือคนที่เรารักต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคเครียดหลังกระทบกระเทือนจิตใจ เราสามารถช่วยพวกเขาให้ดำเนินชีวิตต่อไปได้ด้วยวิธีเหล่านี้

  1. ให้การสนับสนุนทางสังคม

เป็นเรื่องปกติที่ผู้ที่เป็นโรค PTSD จะปลีกตัวออกจากครอบครัวและเพื่อนฝูง การปลอบโยนและการสนับสนุนของเราจะสามารถช่วยให้พวกเขาเอาชนะความรู้สึกหมดหนทาง เศร้าโศก และสิ้นหวังได้

  1. เป็นผู้ฟังที่ดี

ควรบอกพวกเขาว่าเรายินดีที่จะรับฟังเมื่อพวกเขาต้องการพูดคุย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรกดดันให้ผู้ที่เป็น PTSD พูดคุยหรือเล่าเรื่องราว แต่หากพวกเขาเลือกที่จะแบ่งปัน ให้เราพยายามฟังโดยไม่ต้องคาดหวังหรือตัดสิน ให้ทำตัวเป็นผู้ฟังอย่างตั้งใจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่คุณรักอย่างมาก

  1. ทำทุกอย่างให้เป็นปกติ

ทำสิ่งที่ปกติกับคนที่คุณรัก หรือกระตุ้นให้คนที่คุณรักหางานอดิเรกที่ทำให้พวกเขามีความสุขและมีส่วนร่วม อาจจะชวนไปออกกำลังกายด้วยกัน ทำกิจกรรมสนุกๆ ด้วยกัน หรือนัดกินอาหารกลางวันกับเพื่อนและครอบครัวเป็นประจำ

  1. สร้างความไว้วางใจและความปลอดภัยอีกครั้ง

การบาดเจ็บมักทำให้บุคคลนั้นมองโลกเปลี่ยนไป และรู้สึกเหมือนเป็นสถานที่ที่อันตรายและน่ากลัว สิ่งที่คนใกล้ตัวควรทำคือ สร้างความรู้สึกปลอดภัยของคนที่คุณรักขึ้นมาใหม่ ลดความเครียดที่บ้านให้น้อยที่สุด และพยายามทำให้พวกเขามีเวลาพักผ่อน เพราะการผ่อนคลายเหล่านี้จะช่วยให้พวกเขาฟื้นตัวได้

  1. จัดการกับทริกเกอร์

ทริกเกอร์ คืออะไรก็ได้ไม่ว่าจะเป็นบุคคล สถานที่ สิ่งของ หรือสถานการณ์ที่เตือนคนที่คุณรักถึงบาดแผลและทำให้เกิดอาการ PTSD เช่น เสียงที่ดังเหมือนเสียงปืน หรือการได้ยินเพลงที่กำลังเล่นเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจในอดีต รวมถึงสถานที่หรือกลิ่นที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บ ผู้คนหรือสิ่งของที่ระลึกถึงการบาดเจ็บ วันที่หรือเวลาที่สำคัญ และเรื่องของธรรมชาติ เช่น สภาพอากาศ ฤดูกาล เป็นต้น

  • ผู้ที่ป่วยเป็น PTSD ควรดูแลตนเองอย่างไร

เมื่อรู้แล้วว่า PTSD คืออะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร หากเรารู้ตัวเองแล้วว่าเรากำลังมีอาการดังกล่าว นอกจากเข้ารับการรักษาด้วยการบำบัดหรือการใช้ยาแล้วนั้น ควรดูแลตนเองทางด้านร่างกายร่วมด้วย ด้วยการนอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารให้ถูกต้อง และปรึกษาแพทย์สม่ำเสมอ รวมถึงลองหาเวลาให้กับชีวิตของคุณเอง ไม่ว่าจะเป็นงานที่รัก งานอดิเรกที่ชอบ หรือกิจกรรมที่ทำให้คุณมีความสุข สิ่งสำคัญคือต้องมีสิ่งต่างๆ ในชีวิตที่คุณรอคอย เพื่อให้คุณเข้มแข็งและผ่านมันไปได้

เกร็ดสุขภาพ : สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับการให้กำลังใจคนซึมเศร้า และคนที่เป็น PTSD คือ การให้คำตอบง่ายๆ หรือบอกแค่ว่าทุกอย่างจะโอเค การเสนอคำแนะนำที่เขาไม่ได้ร้องขอ หรือบอกคนที่คุณรักว่าควรทำอะไร ตำหนิความสัมพันธ์หรือปัญหาครอบครัว ทำให้คนที่คุณรักรู้สึกอ่อนแอ ด้วยเพราะพวกเขาไม่สามารถรับมือได้เหมือนคนอื่นๆ บอกคนที่คุณรักว่าโชคดีที่ไม่เลวร้ายไปกว่านี้

post traumatic stress disorder คือ, PTSD คืออะไร

เมื่อเราได้รู้จักโรค PTSD กันมากขึ้นแล้วว่า PTSD คืออะไร เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง และมีวิธีการดูแลรักษาอย่างไร หากเรามีคนใกล้ตัวหรือคนในครอบครัวเป็น ขอให้ใส่ใจและสนใจในการช่วยเยียวยาสภาพจิตใจของผู้ป่วย และนำผู้ป่วยไปรับการรักษาทางการแพทย์ที่ถูกต้อง เพื่อให้เขากลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติและมีความสุขดังเดิม สามารถปรึกษาจิตแพทย์ที่ไหนได้บ้างนั้น ในปัจจุบันมีหลายช่องทางให้เลือกปรึกษาทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ สามารถเลือกได้ตามต้องการเลยค่ะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : helpguide.org, webmd.com, nhs.uk, psychiatry.org, mayoclinic.org

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save