X

ค่า BMI มาตรฐานคืออะไร ? คำนวณอย่างไร จำเป็นไหมที่ต้องรู้ ?!

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

ค่า BMI มาตรฐานคืออะไร ? คำนวณอย่างไร จำเป็นไหมที่ต้องรู้ ?!

รูปร่างของคนเราสามารถบ่งบอกได้ว่าเรามีลักษณะอ้วน ผอม หรือสมส่วน แต่นั่นเป็นเพียงสายตาที่มองภายนอกเท่านั้น เพราะแท้จริงแล้วในทางการแพทย์ เขาได้มีการคำนวณหาค่ามาตรฐานน้ำหนัก ส่วนสูง เพื่อให้รู้ถึงรูปร่างที่เหมาะสมของแต่ละคน และได้รู้ถึงความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ได้อีกด้วย ซึ่งค่าที่ว่านี้เรียกว่า ค่า BMI นั่นเอง และเพื่อความรู้ความเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น เราจะมาพาทุกคนไปรู้จักกับค่า BMI มาตรฐาน ว่าคืออะไร ? คำนวณอย่างไร และทำไมเราถึงจำเป็นต้องรู้

  • ค่า BMI มาตรฐาน ค่านี้คืออะไร สำคัญแค่ไหนที่ต้องรู้
มาตรฐานน้ำหนัก ส่วนสูง, ค่า BMI มาตรฐาน
Image Credit : nabtahealth.com

ค่า BMI (Body Mass Index) หรือ ค่าดัชนีมวลกาย เป็นค่าที่ใช้คำนวณและวัดขนาดของร่างกาย ว่ามีน้ำหนักกับส่วนสูงอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งค่า BMI มาตรฐานนั้น จะสามารถใช้เป็นเครื่องมือคัดกรองเพื่อระบุว่าเรามีน้ำหนักเกิน หรืออยู่ในภาวะอ้วน หรือมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ ซึ่งหากค่าดัชนีมวลกายของเราอยู่ในช่วงที่มีสุขภาพดี ก็เท่ากับว่าเรามีความเสี่ยงต่อสุขภาพน้อยลง

ในขณะเดียวกันหากคำนวณแล้วได้ค่า BMI ที่สูงเกินไป และถูกวินิจฉัยว่ามีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน อาจนำไปสู่ภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพที่หลากหลายได้ เช่น โรคเบาหวานประเภทที่ 2 โรคความดันโลหิตสูง และปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงมีความเสี่ยงโรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี โรคข้อเข่าเสื่อม ภาวะการหยุดหายใจขณะหลับหรือปัญหาในการหายใจ และโรคมะเร็งชนิดต่างๆ อีกด้วย

  • การวัดค่า BMI มาตรฐาน
มาตรฐานน้ำหนัก ส่วนสูง, ค่า BMI มาตรฐาน

การคำนวณหาค่า BMI มาตรฐาน หรือค่าดัชนีมวลกายนั้น จะเกี่ยวข้องกับการวัดส่วนสูงและน้ำหนักตัวของแต่ละบุคคล และการคำนวณค่าดัชนีมวลกายจะใช้วิธีเดียวกันทั้งชายและหญิง โดยมีสูตรในการคำนวณ BMI คือ ค่าของน้ำหนักตัวหน่วยเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงหน่วยเป็นเมตรยกกำลัง 2 หรือ BMI = kg/m2 และเนื่องจากคนส่วนใหญ่จะวัดความสูงเป็นเซนติเมตร ให้หารความสูงเป็นเซนติเมตรด้วย 100 ก่อน เพื่อให้ได้ความสูงเป็นเมตร และนำไปคำนวณตามสูตรเพื่อหาค่ามาตรฐานน้ำหนัก ส่วนสูงได้ค่ะ

หลังจากที่เราได้คำนวณหาค่า BMI ได้แล้ว ก็มาดูการอ่านค่าและแสดงประเภทของสถานะมาตรฐานน้ำหนัก ส่วนสูงที่เกี่ยวข้องกับช่วง BMI สำหรับผู้ใหญ่ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ดังนี้

  • ค่า BMI น้อยกว่า 18.5

ค่าดัชนีมวลกายที่น้อยกว่า 18.5 แสดงว่าคุณมีน้ำหนักตัวน้อยเกินไป และมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ อาจเสี่ยงกับการได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลียได้ง่าย ดังนั้น เพื่อสุขภาพที่ดีคุณอาจต้องเพิ่มน้ำหนักและออกกำลังกายเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ

  • ค่า BMI 18.5 – 24.9

ค่าดัชนีมวลกาย 18.5 – 24.9 เป็นค่า BMI มาตรฐานที่แสดงว่าคุณมีน้ำหนักที่เหมาะสมสำหรับความสูงของคุณ หรือเรียกว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ จะห่างไกลจากโรคต่างๆ และเสี่ยงต่อการเกิดโรคน้อย ซึ่งการรักษาน้ำหนักและร่างกายให้แข็งแรงนั้น จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงได้

  • ค่า BMI 25 – 29.9

ค่าดัชนีมวลกาย 25 – 29.9 แสดงว่าคุณมีน้ำหนักเกินเล็กน้อย และเสี่ยงกับการเป็นโรคอ้วนระดับที่ 1 มีความเสี่ยงในการเกิดโรคที่มาจากความอ้วนได้ เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ ควรปรับพฤติกรรมในการกินอาหารและเพิ่มการออกกำลังกาย

  • ค่า BMI มากกว่า 30

ค่าดัชนีมวลกายที่มากกว่า 30 แสดงว่าคุณมีน้ำหนักเกินมาก ค่อนข้างอันตราย และสุขภาพของคุณอาจมีความเสี่ยงหากคุณไม่ลดน้ำหนัก ควรปรับพฤติกรรมในการกินและออกกำลังกายให้มากขึ้น เพื่อให้น้ำหนักลดลงมาอยู่ที่ค่า BMI มาตรฐาน ก็จะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ค่ะ และต้องระวังอย่าให้ค่า BMI เกินกว่า 40 เพราะนั่นหมายถึงคุณกำลังอยู่ในภาวะอ้วนมาก และเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมากด้วยค่ะ

เกร็ดสุขภาพ : การออกกำลังกายเพื่อรักษาค่า BMI นั้น ควรออกกำลังกายด้วยกิจกรรมที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของเรา จะเลือกเป็นเดิน เต้นแอโรบิก ปั่นจักรยาน หรือวิ่งลดน้ำหนักก็ได้ และควรออกกำลังกายอย่างน้อย 150-300 นาทีต่อสัปดาห์ หรืออย่างน้อยวันละ 30-45 นาที ซึ่งการออกกำลังกายนั้นสามารถทำได้ทุกที่ แค่ทำงานบ้านด้วยตนเอง หรือลดการใช้ลิฟต์แล้วเดินขึ้นบันไดแทน เท่านี้ก็ถือว่าเป็นการออกกำลังกายที่ดีแล้วค่ะ

  • ประโยชน์ของค่า BMI
มาตรฐานน้ำหนัก ส่วนสูง, ค่า BMI มาตรฐาน

ค่า BMI หรือ ค่าดัชนีมวลกายนั้นจัดว่าเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการทำความเข้าใจว่าน้ำหนักของเราอยู่ช่วงไหน ตั้งแต่น้ำหนักน้อยเกินไป จนถึงน้ำหนักเกิน นอกจากนี้ยังสามารถช่วยให้คนที่มีน้ำหนักในเกณฑ์มาตรฐาน ได้ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ ได้ เช่น

  • โรคเบาหวานประเภทที่ 2
  • โรคข้อเข่าเสื่อม
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • มะเร็งบางชนิด
  • โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี
  • การอักเสบเรื้อรัง
  • ภาวะการหยุดหายใจขณะหลับ หรือปัญหาในการหายใจ

และหากเราพบว่าค่า BMI ของเราไม่ได้อยู่ในช่วงของสุขภาพดีนั้น เราก็จะสามารถเริ่มเปลี่ยนแปลงอาหารและวิถีชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงของโรคต่างๆ เหล่านี้ และโรคอื่นๆ ที่อาจตามมาได้

หากมีค่า BMI ที่เกินค่า BMI มาตรฐาน นอกจากส่งผลต่อสุขภาพร่างกายแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจได้อีกด้วย อาจทำให้สูญเสียความมั่นใจ ไม่กล้าแสดงออก เก็บตัว และมีปัญหาในการเข้าสังคม ดังนั้น เพื่อการมีสุขภาพกายที่ดี และมีสุขภาพจิตที่ดีด้วยนั้น ควรรักษาค่า BMI ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติให้ได้ตลอดไป โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารด้วยการควบคุมอาหารหรือลดน้ำหนัก อาจจะเลือกลดด้วยวิธีกินคีโตและใช้เมนูคีโต 1 เดือนมาเป็นตัวช่วยในการเลือกกินอาหารให้เหมาะสม และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้น้ำหนักเป็นไปตามเกณฑ์ของสุขภาพดีค่ะ

เกร็ดสุขภาพ : การรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกตินั้น ควรเลือกการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น ธัญพืช ผัก ผลไม้ ลดการกินอาหารที่มีไขมันหรือน้ำตาลสูง รวมถึงของมัน ของทอด และเนื้อสัตว์ติดมัน งดการดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลสูง น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์ โดยเลือกดื่มน้ำเปล่าแทนจะดีที่สุดค่ะ นอกจากนี้ไม่ควรกินอาหารมื้อหลักเกินวันละ 3 มื้อ ไม่กินจุบจิบ หลีกเลี่ยงหรือลดการกินอาหารมื้อหนักที่ต้องกินมากจนเกินไป เช่น อาหารบุฟเฟ่ต์ค่ะ

ได้รู้จักกับค่า BMI มาตรฐานและวิธีการคำนวณที่ถูกต้องกันไปแล้ว ซึ่งค่า BMI หรือค่าดัชนีมวลกายนั้นเป็นการคัดกรองเบื้องต้นที่จะใช้เพื่อประเมินรูปร่างและสุขภาพของเรา แต่ก็ไม่ควรยึดติดกับค่า BMI มากจนเกินไป เพราะไม่ได้หมายความว่าค่า BMI เกินมาตรฐานจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเสมอไป เพราะต้องนำปัจจัยอื่นๆ มาประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรม ปริมาณกล้ามเนื้อ รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต อาหารการกิน และการออกกำลังกายด้วยนั่นเองค่ะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : medicalnewstoday.com, pobpad.com, si.mahidol.ac.th

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save