“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
เทโลเมียร์ คือ อะไร ? ชวนเข้าใจเรื่องอายุยืนกันตั้งแต่ DNA !
ด้วยการกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุในปัจจุบัน ทำให้การมีอายุที่ยืนยาวขึ้นจึงกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของสุขภาพหลายประการ สังเกตหรือไม่ว่า บางคนมักมีปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ เจ็บไข้ได้ป่วยบ่อยขึ้น และความรุนแรงก็เพิ่มขึ้นด้วย แต่บางคนกระฉับกระเฉงมีสุขภาพดีไปจนวัยชรา ความลับเหล่านี้คืออะไร ทำอย่างไรเพื่อให้ชราอย่างมีคุณภาพดี มีทฤษฎีหนึ่งที่อธิบายถึง ความสัมพันธ์ของ เทโลเมียร์ กับการมีอายุยืนยาวและสุขภาพดี เทโลเมียร์ คือ อะไร มาทำความเข้าใจ การมีอายุยืนตั้งแต่ DNA กันค่ะ
เทโลเมียร์ คือ อะไร ? ทำไมใครๆ ถึงให้ความสนใจกัน หาคำตอบได้ในบทความนี้ !
Telomeres/เทโลเมียร์ คือส่วนของหมวก ที่ปิดส่วนท้ายของโครโมโซม มีหน้าที่ปกป้อง DNA จากความเสียหาย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับอายุขัยที่มากขึ้น ในทางทฤษฎี เทโลเมียร์ที่ยาวมีหมายความว่าเซลล์สามารถแบ่งตัวได้บ่อยขึ้นก่อนที่จะเข้าสู่วัยชราหรือตาย ซึ่งส่งผลให้มีอายุยืนยาวขึ้น การศึกษาในสัตว์ทดลองแสดงให้เห็นว่าเทโลเมียร์ในสัตว์อายุสั้นจะสั้นลงเร็วกว่าในสัตว์ที่มีอายุยืนยาว ดังนั้นเทโลเมียร์ที่สั้นกว่าจึงมีความเกี่ยวเนื่องกับอุบัติการณ์ของโรคที่เพิ่มขึ้นและการรอดชีวิตที่ลดลง
(จากภาพ) ภายในทุกเซลล์ของร่างกายมนุษย์มีโครโมโซมทั้งหมด 23 คู่ ซึ่งโครโมโซมแต่ละอันประกอบด้วย DNA ที่พันรอบโปรตีน มียีนที่เป็นเป็นตัวควบคุมลัษณะทางพันธุกรรมเป็นส่วนประกอบของ DNA หรือเกาะอยู่บน DNA นั่นเอง ส่วนเทโลเมียร์ คือ บริเวณปลายสุดของแต่ละโครโมโซม ซึ่งตรงส่วนนี้ไม่มียีนอยู่ และแต่ละครั้งที่เซลล์แบ่งตัว โครโมโซมจะถูกสร้างขึ้นใหม่ เทโลเมียร์จะหดสั้นลง เพื่อช่วยให้เซลล์แบ่งตัวโดยไม่สูญเสียยีนที่สำคัญไป จนในที่สุดเทโลเมียร์ก็สั้นเกินกว่าที่เซลล์จะแบ่งตัวต่อไปได้อีก และเซลล์จะกลายเป็นเซลล์ชราหรือตายไปโดยไม่มีเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทน ทำให้การทำงานเสื่อมลง มีสัญญาณของความชราของอวัยวะ เช่น โรคข้อเข่าเสื่อม หลอดเลือดแข็ง สมองเสื่อม เป็นต้น
เกร็ดสุขภาพ : โรคที่เกี่ยวข้องกับอายุ หรือโรคในผู้สูงอายุบางอย่างอาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากความผิดปกติของเทโลเมียร์ แม้ว่าผลของเทโลเมียร์ต่อการแก่ชรานั้นแสดงได้ทางคลินิก แต่ความผิดปกติของเทโลเมียร์ก็ยังขึ้นอยู่กับการกลายพันธุ์ของยีน โครงสร้างเทโลเมียร์สั้นที่ตรวจพบในเลือด และเซลล์ของเนื้อเยื่อที่เกี่ยวข้องกับโรค ถึงอาจะเป็นการทำนายโรค NCDs ที่เกี่ยวข้องกับอายุหลายชนิด แต่การวัดความยาวเทโลเมียร์เพื่อชี้บ่งการเกิดโรคนั้นก็ยังไม่เข้าสู่ขั้นตอนทางคลินิก
ปัจจัยที่มีผลต่อ เทโลเมียร์ คืออะไรบ้าง ?
จากทฤษฎีนี้จะเห็นได้ว่า ความยาวของเทโลเมียร์ คือ “นาฬิกาชีวภาพ” เทโลเมียร์ที่สั้นลงจะบ่งบอกถึงอายุทางชีวภาพที่มากขึ้น มีการศึกษาที่ชี้ให้เห็นบทบาทสำคัญของ นิสัย การใช้ชีวิต อาหาร ความเครียดและการออกกำลังกายล้วนเป็นปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับความยาวของเทโลเมียร์ อีกทั้งอาหารเสริมด้วยพืชตระกูลถั่ว ธัญพืชไม่ขัดสี ผัก ผลไม้สด และอาหารเพื่อสุขภาพที่อุดมไปด้วยเส้นใยอาหารและกรดไขมันไม่อิ่มตัว มีบทบาทในการปกป้องความยาวของเทโลเมียร์ เพราะมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบของเซลล์ ในขณะที่การบริโภคน้ำตาลและไขมันอิ่มตัวในปริมาณมากจะทำให้เกิดเซลล์เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นเกิดการอักเสบระดับเซลล์ที่ทำให้เทโลเมียร์สั้นลง
การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่แนะนำเพื่อสุขภาพโดยทั่วไป แต่หลักฐานที่แสดงถึงผลของการออกกำลังกายต่อความยาวของเทโลเมียร์ คือ ยังไม่ชัดเจน ยังไม่สามารถระบุถึงการออกกำลังกายที่เหมาะสมที่สุดได้ การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า การออกกำลังกายระดับปานกลางจะช่วยรักษาความยาวเทโลเมียร์ แต่ประโยชน์จะลดลงเมื่อออกกำลังกายมากเกินไป มีหลักฐานว่าหลังการออกกำลังกายทันทีนั้น มีผลบรรเทาความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันซึ่งส่งผลเชิงบวกต่อโครงสร้างความยาวของเทโลเมียร์ เมื่อเทียบกับการไม่ออกกำลังกาย และการออกกำลังกายแบบแอโรบิกความเข้มข้นปานกลางต่อเนื่องอย่างน้อยหกเดือน มีประสิทธิภาพในการชะลออัตราการสั้นลงของเทโลเมียร์ได้มากกว่า
การศึกษาอื่นๆ แสดงให้เห็นว่าการนอนหลับไม่เพียงพอ การสูบบุหรี่และน้ำหนักส่วนเกิน ทำให้เทโลเมียร์สั้นลงและเข้าสู่กระบวนการชราได้เร็วขึ้น แม้ว่าเทโลเมียร์ คือ สั้นลงตามอายุที่มากขึ้นเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ผลจากการเจ็บป่วยและความเครียดยังเร่งการสึกกร่อนของเทโลเมียร์ตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งส่งผลต่อการตั้งค่าความยาวเทโลเมียร์ตั้งแต่ช่วงแรกเกิด ทำให้แต่ละบุคคลมีภาวะสุขภาพที่แตกต่างกัน
แนวคิดเทโลเมียร์ปัจจุบันและอนาคต
การศึกษาพบว่า เทโลเมียร์ทั้งที่ยาวหรือที่สั้นกว่าค่าเฉลี่ยมากๆ มีความสัมพันธ์กับความอ่อนแอของเซลล์ ซึ่งมีผลต่อการเกิดโรคต่างๆ เทโลเมียร์สั้นเชื่อมโยงกับความล้มเหลวของอวัยวะ เทโลเมียร์ยาวเชื่อมโยงกับมะเร็งหลายชนิด และจริงอยู่ที่ว่าเทโลเมียร์ที่สั้นกว่านั้นสัมพันธ์กับอายุขัยที่สั้นลงและการแก่ชราทางชีวภาพที่รวดเร็วยิ่งขึ้น แต่เทโลเมียร์ที่ยาวขึ้นอาจไม่ใช่กุญแจสำคัญในการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดี การศึกษาใหม่ชี้ให้เห็นว่าเทโลเมียร์ที่ยาวอาจทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่เซลล์ที่มีการกลายพันธุ์มีอายุยาวขึ้น ซึ่งเพิ่มโอกาสที่จะเกิดเนื้องอกและภาวะโรคเรื้อรังอื่นๆ ได้ด้วย
ตัวอย่างการศึกษาที่สนับสนุนแนวคิดนี้ ได้แก่ ศึกษาการทำให้เทโลเมียร์ยาวขึ้น พบว่าในขณะที่บางคนแสดงสัญญาณของความอ่อนเยาว์ เช่น ไม่มีผมหงอกในช่วงอายุ 70 ปี บางคนกลับมีอุบัติการณ์ของเนื้องอกที่ไม่ร้ายแรงและเป็นมะเร็งสูงกว่าซึ่งอาจมาจากมียีนการกลายพันธุ์อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปของการทดลองนี้ชี้ว่าเทโลเมียร์ที่ยาวขึ้นอาจสัมพันธ์กับความเสี่ยงมะเร็งที่เพิ่มขึ้น แต่ก็อาจลดความเสี่ยงของโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอายุ และทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นด้วย
ในทางกลับกัน วิธีดำเนินชีวิตที่ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคก็ส่งผลให้เทโลเมียร์ยาวขึ้นได้ ดังนั้น ถึงแม้พันธุกรรมจะมีบทบาทในการกำหนดอายุขัย แต่ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและรูปแบบการดำเนินชีวิตก็มีอิทธิพลอย่างมากต่อสุขภาพและการมีอายุยืนยาวของแต่ละบุคคลด้วยเช่นกัน การเสริมสร้างความยาวของเทโลเมียร์ อาหาร หรือการเสริมด้วยสารอาหารที่ดี การเลือกทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพและการใช้ชีวิต จึงสามารถลดความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวข้องกับวัย และเพิ่มโอกาสในการมีชีวิตที่ยืนยาวและมีสุขภาพที่ดีได้เช่นกัน
เกร็ดสุขภาพ : The National Institutes of HealthTrusted Source (NIH) ให้คำแนะนำต่อไปนี้เพื่อส่งเสริมการมีสุขภาพดีในผู้สูงวัยว่า
1) ให้พยายามเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งจากการวิจัยฉบับหนึ่งพบว่า การเดินประมาณ 8,000 ก้าวต่อวัน จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากสาเหตุใดๆ ลงถึง 51% เมื่อเทียบกับการเดิน 4,000 ก้าวต่อวัน
2) ให้รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น ถั่วเมล็ดแห้ง อาหารที่มีไฟเบอร์สูงจำพวกผักและผลไม้สด และไขมันไม่อิ่มตัว
3) รักษาน้ำหนักไม่ให้อ้วนเกินไป ซึ่งการออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพช่วยให้ควบคุมน้ำหนักให้ดี
4) นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หากผู้สูงอายุท่านไหนมีปัญหาการนอน ลองอ่านตำแนะนำเพิ่มเติมกันได้เลยนะคะ
5) ไม่สูบบุหรี่ หรือหยุดสูบบุหรี่หากเป็นนักสูบ
6) จำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ ไม่ดื่มจัด
7) รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ
8) ดูแลสุขภาพจิต ด้วยการเข้าสังคมและจัดการระดับความเครียด
เทโลเมียร์ คือ องค์ประกอบที่มีผลต่ออายุขัยและสุขภาพ แต่เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ อีกทั้งหลักฐานที่แสดงถึงประโยชน์ของเทโลเมียร์ และอาหารเสริมนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารคลีน และการดำเนินชีวิตที่ดีสามารถยืดอายุให้ยืนนานและลดโอกาสที่จะเกิดโรคได้แม้แต่ในผู้ที่มีความบกพร่องทางพันธุกรรม การศึกษาต่างๆ แค่บอกว่าเกิดอะไรขึ้นในเซลล์ของเรา เพื่อนำมาเป็นหลักคิดในการสรรหาวิธีการดูแลสุขภาพ แต่เครื่องมือที่สำคัญที่สุดอยู่ที่การลงมือปฎิบัติของตัวเราเอง เริ่มตั้งแต่วันนี้เพื่อการมีสุขภาพดีตลอดไปกันนะคะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : medicalnewstoday.com, physio-pedia.com
Featured Image Credit : vecteezy.com/integralism.id
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ