“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
Dyshidrotic Eczema คือ อะไร ? เกิดจากอะไร ? รักษาได้มั้ย เรามีคำตอบ !
ในช่วงเวลาที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ง่าย ในผู้ที่มีอาการแพ้ง่ายก็อาจมีผื่นคันขึ้นมาตามผิวหนัง ซึ่งผื่นแพ้ที่ขึ้นตามผิวหนังก็มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน รวมถึง Dyshidrotic Eczema คือ อาการของผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่งที่จะมีตุ่มน้ำใสขึ้นมาตามบริเวณผิวหนัง แม้จะไม่ร้ายแรงมากแต่ก็อาจสร้างความรำคาญใจให้กับผู้ที่เป็นได้ มารู้จักโรคผิวหนังอักเสบชนิดนี้ให้มากขึ้นกันค่ะ
Dyshidrotic Eczema คือ อะไร ?
Dyshidrotic Eczema คือ อาการผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ เป็นโรคผิวหนังอักเสบที่ไม่ร้ายแรง โดยจะเกิดตุ่มน้ำใสๆ บริเวณนิ้ว ฝ่ามือ และฝ่าเท้า ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่เป็นรู้สึกปวดและคันอย่างรุนแรง ทั้งนี้ สามารถหายได้เองภายใน 2 – 3 สัปดาห์ แต่ก็มีโอกาสจะกลับมาเป็นซ้ำได้เช่นกัน หรืออาจเป็นเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ ซึ่งสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในผู้ที่ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคผิวหนังอักเสบมาก่อน รวมถึงผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องด้วย
เกร็ดสุขภาพ : โรคผิวหนังอักเสบ เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งการสัมผัสกับสิ่งที่ทำให้เกิดการแพ้ เช่น ฝุ่น เชื้อโรค เชื้อรา เกิดจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ หรือเกิดจากความเครียด เป็นต้น จัดอยู่ในกลุ่มโรคที่เกิดจากภูมิแพ้ ทำให้เกิดผื่นแดงตามผิวหนัง มีอาการบวม คัน บางรายอาจเป็นแผลพุพอง มีตุ่มน้ำ มีน้ำหนองหรือตกสะเก็ดร่วมด้วย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย
อาการของ Dyshidrotic Eczema คืออะไร ?
- เริ่มมีผื่นแดงตามผิวหนัง
- มีตุ่มน้ำใสขนาดเล็กขึ้นเป็นกลุ่มบริเวณฝ่ามือและด้านข้างของนิ้วมือ รวมถึงฝ่าเท้าด้วย
- รู้สึกคัน ปวด แสบร้อน ในบริเวณที่มีตุ่มน้ำ
- หากมีอาการรุนแรง อาจมีตุ่มใสขนาดใหญ่และลุกลามไปที่หลังมือ เท้า แขนและขา
- อาจมีหนองข้างในตุ่มใส
- ตุ่มใสแตกออกและกลายเป็นสะเก็ดแข็งรอบๆ และอาจทำให้รู้สึกเจ็บ แสบที่ผิวหนังได้
ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว อาการผื่นผิวหนังอักเสบแบบ Dyshidrotic Eczema จะหายได้เองภายใน 2 – 3 สัปดาห์ แต่ถ้ามีจำนวนตุ่มน้ำใสเยอะขึ้น รู้สึกปวด แสบร้อนจนทนไม่ไหว ผิวหนังบวม มีหนองข้างในตุ่มน้ำ หรือมีอาการรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี เพราะอาจติดเชื้อและมีอาการรุนแรงมากขึ้นได้
สาเหตุของการเกิด Dyshidrotic Eczema คืออะไร ?
อย่างที่กล่าวไปว่า ผิวหนังอักเสบ เกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่นเดียวกับอาการผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใสแบบ Dyshidrotic Eczema ที่อาจเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน ดังนี้
- เกิดจากโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Eczema) หรือโรคภูมิแพ้อื่นๆ
- เกิดจากผิวหนังแพ้ง่าย จากการสัมผัสกับสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคือง เช่น น้ำหอม น้ำยาทำความสะอาด ปูนซีเมนต์ โคบอลต์ นิกเกิล โครเมี่ยม เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดผื่นแพ้จากอาการสัมผัสได้
- เกิดจากการสัมผัสกับความชื้นเป็นเวลานาน
- เกิดจากการติดเชื้อราที่ผิวหนัง
- มีภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ
- มีภาวะติดเชื้อ HIV (อ่านเพิ่มเติม โรคเอดส์ เกิดจากเชื้อโรคชนิดใด)
- มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจากความเจ็บป่วยอื่นๆ
- เกิดจากความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ
Dyshidrotic Eczema รักษาได้หรือไม่ มีวิธีการรักษาอย่างไร ?
โดยทั่วไปแล้ว ภาวะผิวหนังอักเสบชนิด Dyshidrotic Eczema คืออาการที่สามารถหายได้เองภายใน 2 – 3 สัปดาห์ ซึ่งถ้าหากมีอาการไม่รุนแรงก็สามารถดูแลตัวเองได้ด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบบริเวณที่มีตุ่มน้ำใส เพื่อลดอาการคัน และใช้ครีมมอยเจอร์ไรเซอร์บำรุงผิวที่ปราศจากแอลกอฮอล์ สี และนำหอม เพื่อป้องกันอาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้นได้ และควรหลีกเลี่ยงการเกาเพราะอาจทำให้แผลถลอกและติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตาม หากต้องไปพบแพทย์ แพทย์จะมีแนวทางการรักษาดังนี้
- การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นยาทาในรูปแบบครีมหรือขี้ผึ้งที่ช่วยลดอาการอักเสบ ทั้งนี้ ไม่ควรใช้เป็นเวลานานเพราะอาจเกิดผลข้างเคียงกับผู้ป่วยได้
- การใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อลดอาการพองหรือระคายเคือง สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการใช้สเตียรอยด์รักษา อย่างไรก็ตาม ก็อาจทำให้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อทางผิวหนังเพิ่มมากขึ้น
- ยาต้านฮิสตามีน เพื่อลดอาการคันและบรรเทาอาการแพ้ต่างๆ
- การฉายแสง UV ในบริเวณที่มีอาการ ซึ่งเป็นรักษาด้วยแสง
- การระบายของเหลว ในกรณีที่ตุ่มใสมีหนองหรือของเหลวอยู่ภายใน แพทย์จะทำการดูดหรือระบายของเหลวออก อย่างไรก็ตาม ไม่ควรทำเองเด็ดขาดเพราะอาจเกิดการติดเชื้อได้
เกร็ดสุขภาพ : อาการแทรกซ้อนของผิวหนังอักเสบ เกิดจากการที่ผู้ป่วยมีอาการแสบและคันอย่างรุนแรงจนเกาอย่างแรงและทำให้มีเลือดไหล มีน้ำเหลืองซึมออกมาได้ และบางรายมีการติดเชื้อร่วมด้วย ทั้งยังทำให้ใช้ชีวิตยากลำบากมากขึ้นในกรณีที่มีตุ่มใสบริเวณมือ เท้า เพราะหยิบจับสิ่งของลำบาก เดินลำบากมากขึ้นเพราะรู้สึกแสบร้อน มีอาการปวดตรงบริเวณที่มีตุ่มใสนั่นเอง
วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นผิวหนังอักเสบ Dyshidrotic Eczema
- ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ โดยเฉพาะในเวลาที่สัมผัสกับสิ่งสกปรก เพื่อช่วยขจัดสิ่งสกปรกและเชื้อโรคบนผิวหนัง โดยเฉพาะหลังจากการเล่นกีฬาหรือหลังจากการออกกำลังกาย
- ประคบเย็นในบริเวณที่มีตุ่มใส วันละ 2 – 4 ครั้ง เป็นเวลา 15 นาที เพื่อช่วยบรรเทาอาการคัน
- ทามอยเจอร์ไรเซอร์วันละ 3 – 4 ครั้ง เพื่อป้องกันผิวแห้งและบรรเทาอาการคัน
- ไม่ควรเกา บีบ หรือแกะตุ่มน้ำ แผลพุพอง เนื่องจากอาจทำให้อาการแย่ลงได้
- หลังอาบน้ำหรือล้างมือ ควรซับบริเวณที่มีตุ่มใสให้แห้งสนิท เพื่อป้องกันการอับชื้นที่อาจทำให้เกิดตุ่มใสขึ้นมาอีกได้ และควรแยกผ้าขนหนูที่ใช้เช็ดตัวกับที่ใช้ซับคนละผืน หากใช้ร่วมกันอาจทำให้เกิดตุ่มใสขึ้นบริเวณอื่นๆ ได้
- นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอและผ่อนคลายอารมณ์เมื่อเกิดความเครียด
- หากได้รับยาจากแพทย์ ควรใช้ยาอย่างสม่ำเสมอจนกว่าอาการจะดีขึ้น และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
Dyshidrotic Eczema ป้องกันได้หรือไม่
ภาวะผิวหนังอักเสบแบบมีตุ่มน้ำใส หรือ Dyshidrotic Eczema คือสิ่งที่ป้องกันได้ อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าสาเหตุของการเกิดอาการแพ้นั้น เกิดขึ้นจากหลายปัจจัยด้วยกัน วิธีป้องกันสามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อาทิ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีต่างๆ ด้วยมือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นน้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาทำความสะอาดต่างๆ โดยการสวมถุงมือทุกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย ทั้งนี้ เมื่อล้างมือก็ควรเช็ดให้แห้งอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการอับชื้น และสำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนังอยู่แล้ว ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งที่ทำให้เกิดการแพ้ต่างๆ และประการสุดท้ายคือ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงการผ่อนคลายความเครียดอย่างเหมาะสม เพราะ Dyshidrotic Eczema ก็มีสาเหตุมาจากความเครียดและการพักผ่อนไม่เพียงพอด้วยเช่นกัน
แม้ว่า Dyshidrotic Eczema คือภาวะผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่งที่ไม่รุนแรงมากนักและสามารถหายได้เอง แต่ถ้าปล่อยให้อาการลุกลามหนักขึ้นโดยไม่ไปพบแพทย์ก็อาจทำให้อาการแย่ลงได้ และยังเสี่ยงติดเชื้อในกรณีที่มีการเกาอย่างรุนแรงหรือบางคนก็อาจจะเจาะตุ่มน้ำใสออกเองซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตาม หากดูแลตัวเองด้วยวิธีที่กล่าวไปข้างต้นและระมัดระวังตัวเองโดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ก็อาจช่วยป้องกันการเกิดผิวหนังอักเสบชนิดนี้ได้ รวมถึงการกินวิตามินภูมิแพ้ที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย และถ้ามีอาการรุนแรงก็ควรไปพบแพทย์ทันที จะได้รักษาอย่างถูกวิธีนะคะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : phukethospital.com, my.clevelandclinic.org, nhs.uk, nationaleczema.org
Featured Image Credit : freepik.com
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ