“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
Empty Nest Syndrome คือ อะไร ? ชวนเข้าใจความเหงาของผู้สูงวัย เมื่อลูกออกจากบ้านไปใช้ชีวิตห่างพ่อแม่
หากพูดถึงการเป็นพ่อแม่ สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตก็คงจะเป็นลูกๆ ผู้เป็นดั่งแก้วตาดวงใจที่พ่อแม่เลี้ยงดูฟูมฟักมาอย่างดีตั้งแต่เด็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และเมื่อลูกๆ ก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว บางคนก็ต้องไปทำงานต่างจังหวัดหรือแยกตัวออกไปอยู่คนเดียว บางคนก็แต่งงานและสร้างครอบครัวของตัวเอง ทำให้ต้องออกจากบ้านไปและอยู่ห่างพ่อแม่ สำหรับพ่อแม่บางคนที่ดูแลลูกๆ มาตลอดยี่สิบสามสิบปี เมื่อถึงคราวที่ตัวเองแก่ตัวลงและต้องอยู่คนเดียวเพราะลูกๆ ต่างแยกตัวออกไปใช้ชีวิตตัวเองก็จะเกิดภาวะ Empty Nest Syndrome คือ ความรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว มีความเครียดวิตกกังวลเมื่อต้องห่างจากลูกเพราะปรับตัวไม่ทัน ซึ่งถือเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ มารู้จักภาวะนี้ให้มากขึ้นกันเลยค่ะ
Empty Nest Syndrome คือ อะไร ? เมื่อลูกๆ เติบใหญ่ และทำให้พ่อแม่รู้สึกโดดเดี่ยว
คำว่า Empty Nest หากแปลตรงตัวก็จะมีความหมายว่า “รังที่ว่างเปล่า” ให้นึกถึงภาพรังนกที่เคยมีลูกนกอาศัยอยู่ เมื่อคราวที่ลูกนกยังบินไม่ได้ หาอาหารด้วยตัวเองไม่ได้ พ่อแม่ของลูกนกก็ต้องคอยดูแลหาอาหารและให้ความอบอุ่นจนกระทั่งลูกนกเติบใหญ่และบินออกจากรังไป ทำให้กลายเป็นรังที่ว่างเปล่า Empty Nest Syndrome คือภาวะที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว ว่างเปล่า เคว้งคว้าง อ้างว้าง วิตกกังวล รู้สึกเศร้าเสียใจ หรือมีความรู้สึกสูญเสียอะไรบางอย่างในชีวิตไป อันมีสาเหตุมาจากการที่ลูกๆ หลานๆ ของตัวเองเติบโตขึ้นและออกจากบ้านไปใช้ชีวิตของตัวเอง ทำให้ผู้สูงวัยที่อยู่บ้านรู้สึกเศร้าใจหรือใจหายเพราะปรับตัวไม่ทัน เนื่องจากคุ้นชินการอยู่ใกล้ชิดกับลูกๆ หลานๆ ของตัวเองที่เลี้ยงดูมาตลอดยี่สิบสามสิบปี และโหยหาช่วงเวลาที่เคยอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน
ภาวะ Empty Nest Syndrome คือสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในทุกครอบครัว และอาจต้องใช้เวลาปรับตัวสักระยะเพื่อให้คุ้นชินกับสถานการณ์ที่ลูกๆ ไม่อยู่ในบ้านซึ่งอาจจะต้องอยู่กันสองคนกับคู่ชีวิต หรือบางคนอาจจะต้องอยู่คนเดียว และจะต้องหาวิธีแก้เหงาผู้สูงอายุเพื่อบรรเทาความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว ทั้งนี้ ในผู้สูงอายุบางคนที่ไม่สามารถปรับตัวได้หรือรับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น ก็อาจทำให้เกิดเป็นภาวะซึมเศร้าได้เลยทีเดียว
เกร็ดสุขภาพ : เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ จะมีความเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม จากเมื่อก่อนที่ต้องทำงานนอกบ้าน เมื่อเกษียณงานก็ต้องอยู่บ้าน ไม่ได้ออกไปทำงาน อาจทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ประกอบกับถ้าต้องอยู่คนเดียวเนื่องจากลูกๆ ต้องออกจากบ้านไปใช้ชีวิตของตนเองก็จะยิ่งทำให้รู้สึกเหงา โดดเดี่ยว อ้างว้าง เกิดความเครียด วิตกกังวล และอาจมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย ทั้งนี้ ยังมีโรคจิตเวชในผู้สูงอายุอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในวัยสูงอายุได้เช่นกัน เช่น โรคสมองเสื่อม โรค PTSD ภาวะสับสน โรคจิตเภท เป็นต้น
สัญญาณของ Empty Nest Syndrome คือ อะไร ?
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ผู้สูงอายุมีภาวะ Empty Nest Syndrome เพื่อที่จะได้หาวิธีแก้ไขหรือหาวิธีแก้เหงาผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถปรับตัวได้และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขแม้จะไม่ได้ใกล้ชิดกับลูกๆ เหมือนแต่ก่อนก็ตาม มาดูสัญญาณของภาวะ Empty Nest Syndrome กันเลยค่ะ
1. รู้สึกสูญเสียเป้าหมายในชีวิต
ในช่วงที่ต้องดูแลลูกๆ นั้น พ่อแม่ก็จะใช้เวลาไปกับลูกๆ เสียส่วนใหญ่ ทั้งการไปรับส่งที่โรงเรียน การทำกับข้าวให้ลูกๆ ซักเสื้อผ้า – รีดผ้า การไปประชุมผู้ปกครอง การพาลูกไปเที่ยว ฯลฯ เป้าหมายในแต่ละวันก็คือการดูแลลูกให้ดีที่สุด และเมื่อลูกๆ เติบโตจนใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเองแล้ว กิจกรรมเหล่านี้ก็จะหายไป ซึ่งพ่อแม่บางคน โดยเฉพาะแม่ที่ต้องดูแลลูกๆ อยู่ตลอดเวลาอาจจะรู้สึกว่างเปล่าและเหมือนสูญเสียเป้าหมายในชีวิตไป เมื่อแรกเริ่มนั้นอาจจะต้องใช้เวลาปรับตัวสักระยะหนึ่ง และหากิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุทำเพื่อที่จะได้ไม่เหงา เช่น เข้าร่วมชมรมต่างๆ ไปเที่ยว ทำสวน ปลูกต้นไม้ เป็นต้น
2. รู้สึกหงุดหงิดเมื่อลูกมีโลกส่วนตัว
ในช่วงวัยเด็ก พ่อแม่บางคนอาจสนิทสนมกับลูกๆ มากและทำกิจกรรมร่วมกับลูกๆ ตลอดไม่ว่าจะเป็นการไปกินข้าว ไปเที่ยว ดูหนัง ช็อปปิ้ง ฯลฯ แต่เมื่อลูกๆ เริ่มโตและเริ่มมีโลกส่วนตัว เริ่มไปออกเดท ไปเที่ยวกับเพื่อนๆ หรือไปทำงาน พ่อแม่บางคนอาจจะรู้สึกหงุดหงิดหรือรู้สึกอึดอัดเพราะต้องปล่อยให้ลูกได้มีเวลาของตัวเอง อาจทำให้เกิดความรู้สึกห่วง หวง หรือรู้สึกห่างเหินกับลูก ซึ่งการหาวิธีแก้เหงาผู้สูงอายุ โดยการหันเหความสนใจไปที่การทำกิจกรรมอื่นๆ รวมถึงการทำงานอดิเรกของตัวเอง ก็จะช่วยบรรเทาความรู้สึกหงุดหงิดไม่สบายใจได้
3. มีความเครียด คิดมาก
ภาวะ Empty Nest Syndrome คือ สิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกเหล่านี้
- รู้สึกเสียใจเมื่อลูกโตเป็นผู้ใหญ่
- โกรธตัวเองที่อาจเป็นพ่อแม่ที่ไม่ดีในอดีตที่ผ่านมา
- กังวลเกี่ยวกับสถานะการแต่งงานของตัวเอง โดยเฉพาะในคู่ที่อยู่ด้วยกันเพื่อลูก
- กังวลเกี่ยวกับอายุที่มากขึ้น กลัวการเจ็บป่วย
- รู้สึกผิดหวังที่ลูกไม่อยู่ในชีวิตของตัวเองเหมือนเดิม
4. มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับบุตรหลานของตัวเอง
เมื่อลูกก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่และมีชีวิตเป็นของตนเอง บางคนแต่งงานมีครอบครัว ในขณะที่พ่อแม่ก็ก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ พ่อแม่บางคนอาจมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับลูกๆ ของตนเองว่าจะมีชีวิตอย่างไร ทำงานหนักไหม หรือมีชีวิตครอบครัวที่มีความสุขดีหรือเปล่า ต้องการความช่วยเหลือจากตนเองหรือไม่ และบางคนอาจเกิดความเครียดเนื่องจากมีความเป็นห่วง ไม่เห็นลูกอยู่ในสายตาเหมือนเมื่อก่อน ก็อาจทำให้มีความวิตกกังวลและมีปัญหาทางสุขภาพจิต มีภาวะซึมเศร้าได้ด้วย
ชวนดู 3 ระยะของ Empty Nest Syndrome
ข้อมูลจากหนังสือ Beyond the Mommy Years ที่เขียนโดย Carin Rubenstein ได้แบ่งภาวะ Empty Nest Syndrome ออกเป็น 3 ระยะคือ
1. ระยะโศกเศร้า
เมื่อลูกๆ แยกตัวออกจากบ้านไปใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ความรู้สึกแรกที่พ่อแม่จะต้องเผชิญก็คือ ความรู้สึกเศร้า โหยหา ในบางคนอาจร้องไห้หรือมีน้ำตาซึมเมื่อเห็นสิ่งของที่ลูกเคยใช้ หรือเวลาไปทำกิจกรรมร่วมกันเหมือนแต่ก่อนแต่ขาดสมาชิกในบ้านอย่างลูกๆ ไปก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกคิดถึง โหยหา ซึ่งความโศกเศร้านี้ อาจทำให้พ่อแม่บางคนเก็บตัวหรือออกห่างหากสังคม เพื่อปรับตัวและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
2. ระยะโล่งอก
หลังจากช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้าผ่านไป พ่อแม่ที่เป็นผู้สูงอายุเริ่มคุ้นเคยกับสภาวะที่เป็นอยู่ พ่อแม่มักจะรู้สึกโล่งใจและเริ่มรู้สึกว่าตนเองมีอิสระมากขึ้น มีเวลาดูแลตัวเองมากขึ้น ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ได้ทำงานอดิเรกที่เป็นวิธีแก้เหงาผู้สูงอายุซึ่งมีความสนุกสนานเพลิดเพลิน ในบางคนได้พบเจอสังคมใหม่ๆ และตระหนักได้ว่าชีวิตในวัยสูงอายุก็ไม่ได้แย่อย่างที่เคยกังวลไว้
3. ระยะสงบสุข
ช่วงสุดท้ายของภาวะ Empty Nest Syndrome คือ ระยะสงบสุข เป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่สามารถปรับตัวให้คุ้นเคยกับชีวิตที่ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับลูกๆ เหมือนแต่ก่อนและสามารถปรับตัวให้เข้ากับกิจวัตรประจำวันใหม่ๆ เข้าใจความเป็นไปของชีวิตได้มากขึ้น มีความสบายใจเกิดขึ้นและรู้สึกมีความสุข สงบ ไม่วิตกกังวลหรือเครียดกับลูกๆ เหมือนช่วงใหม่ๆ อีกต่อไป
เกร็ดสุขภาพ : รูปแบบการเลี้ยงดูลูกและพ่อแม่บางลักษณะมีแนวโน้มว่าจะเผชิญความยากลำบากจากภาวะ Empty Nest Syndrome มากกว่าพ่อแม่ลักษณะอื่นๆ ซึ่งพ่อแม่ที่จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงได้แก่ พ่อแม่ที่เฝ้าดูลูกตลอดเวลา พ่อแม่ฟูลไทม์ พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เปรียบเหมือนลูกเป็นเพื่อนสนิท เป็นที่ปรึกษาข้างกาย พ่อแม่ที่ใช้บทบาทพ่อแม่เพื่อเติมเต็มคุณค่าในชีวิต และพ่อแม่ที่อยู่ด้วยกันเพื่อลูก เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ลูกต้องแยกตัวจากพ่อแม่ออกไปใช้ชีวิตตัวเอง พ่อแม่กลุ่มนี้มักจะปรับตัวได้ยากกว่าพ่อแม่ทั่วๆ ไป
แนวทางรับมือกับภาวะ Empty Nest Syndrome คืออะไร ?
เมื่อเกิดภาวะ Empty Nest Syndrome ขึ้นในผู้สูงอายุ นอกจากวิธีแก้เหงาผู้สูงอายุอย่างการทำงานอดิเรก การทำกิจกรรมที่สนใจ หรือการออกไปพบเจอเพื่อนและเข้าสังคมใหม่ๆ พ่อแม่จะมีวิธีการรับมือกับภาวะ Empty Nest Syndrome ได้อย่างไร ไปดูกันค่ะ
- มองโลกตามความจริงและยอมรับความเปลี่ยนแปลง : พ่อแม่ต้องยอมรับได้ว่า ในวันหนึ่งลูกน้อยของเราก็จะต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่และมีชีวิตของตัวเอง เป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกเศร้าหรือใจหายเพราะดูแลลูกๆ มานานเป็นสิบยี่สิบปี แต่เมื่อมองโลกตามความเป็นจริงว่าเป็นปกติของคนเรา เช่นเดียวกับตอนที่ตนเองต้องแยกจากพ่อแม่มาสร้างครอบครัวของตัวเอง ก็จะสามารถเปิดใจยอมรับได้ และให้เวลาช่วยเยียวยาความเหงาที่เกิดขึ้น
- ปรับมุมมองวิธีคิดที่มีกับลูกๆ : แม้จะไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ดูแลลูกๆ เหมือนเมื่อก่อน เพราะลูกๆ สามารถดูแลรับผิดชอบชีวิตตัวเองได้แล้ว พ่อแม่ก็ยังอยู่ในฐานะที่ปรึกษาที่ดีของลูกๆ ได้ เพราะมีประสบการณ์ทั้งเรื่องการงานหรือเรื่องครอบครัว เรื่องชีวิตคู่ คอยอยู่เคียงข้างและพร้อมยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเสมอ หรือเป็นกำลังใจ เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับลูกหลานต่อไป
- มีเป้าหมายใหม่ในชีวิต : สำหรับพ่อแม่หลายๆ คน การเลี้ยงดูลูกๆ ให้เติบโตอย่างดีและดูแลตัวเองได้อาจเป็นเป้าหมายสูงสุดในชีวิต และเมื่อสามารถทำสำเร็จแล้ว ลูกๆ สามารถดูแลตัวเองได้แล้ว ก็อาจจะรู้สึกเคว้งคว้างเพราะไม่มีเป้าหมายอื่น ดังนั้น การตั้งเป้าหมายใหม่ๆ ในชีวิตจะช่วยให้พ่อแม่รู้สึกเศร้าน้อยลงและมีชีวิตชีวามากขึ้นได้ เป้าหมายใหม่ๆ อาจเป็นการดูแลตัวเอง การท่องเที่ยว การทำในสิ่งที่อยากทำ การลงเรียนคอร์สใหม่ๆ การเลี้ยงสัตว์หรือ Pet Therapy เพื่อคลายความเหงา เป็นต้น
- กระชับความสัมพันธ์ให้คงอยู่ : อาจจะมีการตั้งข้อตกลงกับลูกๆ ว่า อย่างน้อยมาหาที่บ้านอาทิตย์ละครั้งในช่วงวันหยุด มากินข้าวด้วยกัน หรืออาจจะเป็นเราที่ไปหาลูกๆ ได้ เพื่อให้หายคิดถึง ไปทำกับข้าวให้ ไปพูดคุยกับลูกๆ เพื่อให้ไม่รู้สึกห่างเหินกับลูกๆ และยังช่วยให้ครอบครัวยังคงมีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน
- ให้สำคัญกับคู่ชีวิตมากขึ้น : เมื่อครั้งที่ลูกยังเล็กๆ พ่อแม่ก็ต่างให้ความสำคัญกับลูกมาเป็นอันดับหนึ่งจนละเลยความสุขในชีวิตคู่ไป เช่น อาจจะไม่ได้ไปเที่ยวด้วยกันสองคนแบบคู่รักแต่ไปกันแบบพ่อแม่ลูก หรือไม่ได้มีช่วงเวลาโรแมนติกด้วยกันเพราะต้องดูแลลูกๆ เป็นหลัก แต่เมื่อถึงคราวที่ลูกๆ สามารถดูแลตัวเองได้แล้ว ก็เป็นโอกาสดีที่จะใช้เวลากับคู่ชีวิตของเราให้มากขึ้นและดูแลกันได้อย่างเต็มที่ อาจจะหาเวลาไปเที่ยวพักผ่อนด้วยกัน ทำกิจกรรมร่วมกันให้มากขึ้น นอกจากจะคลายความเหงาได้แล้ว ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ได้มากขึ้นอีกด้วย
ภาวะ Empty Nest Syndrome คือสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับพ่อแม่ทุกคน โดยเฉพาะพ่อแม่ที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง จากเดิมที่เคยดูแลลูกๆ อย่างใกล้ชิด เมื่อลูกเติบโตขึ้นจนออกไปใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้ บทบาทหน้าที่ของตนเองก็เปลี่ยนไป ทั้งกำลังก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุที่มีความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม ในบางคนที่เกษียณงานและต้องออกจากงานมาอยู่บ้านคนเดียวก็อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวและว้าเหว่ยิ่งกว่าเดิม การหาเป้าหมายใหม่ๆ ในชีวิตรวมถึงใช้เวลาว่างที่มีไปกับสิ่งที่ตัวเองอยากทำให้เต็มที่ก็จะช่วยบรรเทาความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวได้ อย่างไรก็ตาม โปรดระลึกไว้ว่า ลูกๆ เพียงแค่เติบโตและออกไปใช้ชีวิตของตนเองเท่านั้น ลูกๆ ไม่ได้ทอดทิ้งตนเองและยังคงเป็นลูกๆ ที่เรารักอยู่เสมอ และเราก็สามารถอยู่เคียงข้างคอยให้ความช่วยเหลือ เป็นกำลังใจ เป็นเบาะรองรับในยามที่ลูกๆ ล้มตราบเท่าที่เราจะทำได้ค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : plus.thairath.co.th, empowerliving.doctor.or.th, manarom.com, verywellfamily.com, betterup.com, bangkokhospital.com, psychcentral.com
Featured Image Credit : freepik.com/gpointstudio
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ