X

TIA คือโรค อะไร ? ชวนรู้จักโรคสมองขาดเลือดชั่วคราวให้มากขึ้นกัน !

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

TIA คือโรค อะไร ? ชวนรู้จักโรคสมองขาดเลือดชั่วคราวให้มากขึ้นกัน !

บางคนอาจจะเคยได้ยินชื่อของโรค TIA กันมาบ้าง และเกิดความสงสัยว่า คือโรคอะไรกันแน่ ? TIA คือโรค สมองขาดเลือดชั่วคราว บางครั้งก็เรียกว่า “มินิสโตรก” แต่คำว่า “มินิ” นั้น ไม่ได้หมายความว่าเป็นเพียงอาการเล็กน้อยแต่อย่างใด ซึ่งความจริงแล้ว ไม่มีอะไรเป็นเรื่องเล็กน้อยเลยกับโรคสมองขาดเลือด ไม่ว่าจะเป็นเพียงระยะเวลาชั่วคราวก็ตาม และการเกิด TIA ยังเป็นสัญญาณเตือนของ โรคหลอดเลือดสมองที่ร้ายแรงอื่นๆ ที่อาจตามมาได้ TIA  ถือเป็นเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ต้องไม่ละเลย เพราะเป็นโอกาสสำคัญที่จะสามารถป้องกันความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมองได้ มารู้จักโรคนี้ให้มากขึ้นกันเลยค่ะ

TIA คือโรค อะไร ? ชวนรู้จักโรคสมองขาดเลือดชั่วคราวให้มากขึ้น

tia คือโรค, สมองขาดเลือด
Image Credit : freepik.com

TIA คือโรคหลอดเลือดสมองอย่างหนึ่ง แต่เกิดจากการที่สมองขาดเลือดชั่วคราว จึงเรียกว่าTransient Ischemic Attacks (TIAs) อาการเหมือนกับโรคหลอดเลือดสมองตีบทุกประการ แต่อาการ TIA จะหายไปภายใน 24 ชั่วโมง (ส่วนใหญ่จะหายในไม่กี่นาที) และส่วนมากตรวจไม่พบความผิดปกติของร่างกายใดๆ ทั้งนี้ TIA คือโรคฉุกเฉินทางการแพทย์เช่นเดียวกับโรคหลอดเลือดสมองอื่นๆ ที่ไม่มีทางคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด และอาการจะคงอยู่นานเท่าใด จึงต้องเร่งรีบให้การรักษา เพราะถึงแม้ว่าสมองจะขาดเลือดไปเลี้ยงบางส่วนเพียงชั่วคราว แต่ถ้าหากเลือดไม่มีการไหลเวียนไปเลี้ยงเซลล์สมองได้อย่างทันท่วงที ก็ทำให้เซลล์สมองทำงานผิดปกติและเริ่มตายในที่สุด จึงต้องขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ทันทีหากมีสัญญาณของโรคหลอดเลือดสมอง  เช่น เสียการทรงตัว การมองเห็นเปลี่ยนไป ใบหน้าและแขนขาอ่อนแรง หรือแม้กระทั่งการพูดผิดปกติ เป็นต้น

ชวนสังเกต อาการของ TIA หรือโรคสมองขาดเลือดชั่วคราว

อาการหลักของ TIA ย่อได้ว่า FAST ตรงตามความเป็นเหตุเร่งด่วนทางการแพทย์  ดังนี้

  • Face ใบหน้า  – การทำงานของใบหน้าอาจมีความผิดปกติ 1 ข้าง เช่น ยิ้มเบี้ยว หน้าเบี้ยว  ปากตก ตาตก หรืออัมพาตครึ่งซีก เป็นต้น
  • Arm  แขน/ขา – อาจยกแขนไม่ขึ้นข้างหนึ่งหรือสองข้าง แขนขาอ่อนแรงหรือชาแขนขาครึ่งซีก 
  • Speech /การพูด – พูดไม่ออกหรือพูดไม่เป็นคำ พูดไม่ชัด อาจรวมถึงความเข้าใจภาษาหายไป อ่านไม่ได้ ไม่เข้าใจภาษาพูด   
  • Time /เวลา – หลงลืมเวลา ไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นช่วงกลางวันหรือกลางคืน รวมทั้งหลงลืมสถานที่ อาจหมดสติชั่วคราว จำเหตุการณ์ไม่ได้ เป็นต้น

เกร็ดสุขภาพ : TIA คือโรคที่รุนแรงและอันตราย ถ้าเกิดขึ้นต้องรีบโทรแจ้ง  1669 ทันที (หรือหมายเลขบริการฉุกเฉินอื่นๆ ในพื้นที่) อย่ารีรอให้อาการดีขึ้นเอง และถึงแม้ว่าอาการจะดีขึ้นหลังจากพักไม่กี่นาที TIA ก็ยังเป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดสมองอยู่ดี จึงควรไปพบแพทย์ทันทีแม้ว่าอาการผิดปกติต่างๆ จะหายไปแล้วก็ตาม เพื่อที่จะได้ทำการวิเคราะห์วินิจฉัย รวมทั้งรับการประเมินต่างๆ จากแพทย์เพื่อทำการรักษาและป้องกันการเกิดโรคสมองขาดเลือดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

TIA เกิดจากอะไร ?

tia คือโรค, สมองขาดเลือด
Image Credit : freepik.com

TIA คือโรคที่มีสาเหตุเดียวกันกับการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งมักเกิดขึ้นเนื่องจากลิ่มเลือดไปอุดตันในหลอดเลือดแดงที่ทำหน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง เมื่อไม่มีการไหลเวียนของเลือดอย่างสม่ำเสมอ สมองจะขาดออกซิเจนและไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้มีอาการ FAST ดังที่กล่าวมา เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือพูดอ้อแอ้ เปรียบเหมือนกับท่อน้ำมันอุดตันในเครื่องยนต์รถ รถก็ไม่สามารถขับเคลื่อนได้นั้นเอง

เกร็ดสุขภาพ : หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยอย่างรวดเร็วก็จะเพิ่มโอกาสในการรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยแพทย์จะทำการตรวจหาความผิดปกติและตรวจหาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) ด้วยการตรวจเลือด การตรวจเอกซเรย์ทรวงอก การทำ CT Scan ตรวจอัลตราซาวด์ และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนการรักษาต่อไป

ใครมีแนวโน้มที่จะมี TIA มากที่สุด?

tia คือโรค, สมองขาดเลือด
Image Credit : freepik.com

TIA คือโรคหลอดเลือดสมองชนิดหนึ่ง ปัจจัยเสี่ยงก็เช่นเดียวกับของโรคหลอดเลือดสมองทุกอย่าง ซึ่งมีการแบ่งปัจจัยเสี่ยงออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

1. ความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น

  • อายุ อัตราการเกิด TIA หรือภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราวจะสูงขึ้นมาก   เมื่ออายุมากกว่า 55 ปี
  • ประวัติครอบครัว แม้ว่าโรค TIA จะเป็นโรคที่ไม่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ แต่จะมีโอกาสสูงมากขึ้นเมื่อมีปู่ย่าตายาย พ่อแม่ หรือพี่น้องคนใดคนหนึ่งเป็นเคยโรคหลอดเลือดสมอง
  • เชื้อชาติ ชาวแอฟริกัน – อเมริกัน รวมถึงผู้ที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เอเชียใต้และแคริบเบียน มีโอกาสเกิด TIA สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ
  • เพศ ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองและ TIA มากกว่าผู้ชาย

2. ความเสี่ยงที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น

  • น้ำหนักเกิน อ้วนลงพุง 
  • โรคหลอดเลือดแดงคาโรติด (หลอดเลือดแดงหลักจากหัวใจไปยังสมอง) ตีบหรืออุดตัน
  • โรคเบาหวาน
  • โรคหัวใจรวมถึง ความบกพร่องของหัวใจและปัญหาเกี่ยวกับจังหวัการเต้นของหัวใจ  เช่นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ความดันโลหิตสูง
  • คอเลสเตอรอลสูง
  • โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน

จะป้องกันการเกิดโรค TIA ได้อย่างไร ?

tia คือโรค, สมองขาดเลือด
Image Credit : freepik.com

จะเห็นว่า TIA คือโรคที่มีสาเหตุมาจากทั้งตัวบุคคลเอง เช่น เพศ เชื้อชาติ อายุ และเกิดการดำเนินชีวิตด้วยเช่นกัน ดังนั้น TIA สามารถป้องกันได้ด้วยการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดี  สิ่งที่ดีที่สุดที่สามารถทำได้คือ การตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพตัวเอง ตามนี้

  1. อย่าสูบบุหรี่ การหยุดสูบบุหรี่ช่วยลดความเสี่ยงของTIA และโรคหลอดเลือดสมองได้
  2. ควบคุมระดับคอเลสเตอรอลและไขมันในร่างกาย หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีคอเลสเตอรอลและไขมัน โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ จะช่วยลดการสะสมของคราบจุลินทรีย์ในหลอดเลือดแดง และช่วยให้เลือดไหลเวียนสะดวกได้มากขึ้น 
  3. รับประทานผักและผลไม้ให้มาก อาหารเหล่านี้ประกอบด้วยวิตามินแร่ธาตุต่างๆ เช่น โพแทสเซียม โฟเลต และสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งอาจช่วยป้องกันการเกิดโรค TIA หรือโรคหลอดเลือดสมองได้
  4. จำกัดปริมาณโซเดียมหากมีความดันโลหิตสูง การหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มและการไม่เติมเกลือลงในอาหารช่วยให้ความดันโลหิตไม่สูงขึ้นได้ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดสมองได้ 
  5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  การออกกำลังกายเป็นประจำเป็นหนึ่งในไม่กี่วิธีที่สามารถลดความดันโลหิต และป้องกันโรคได้โดยไม่ต้องใช้ยา
  6. จำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะ  ขีดจำกัดที่แนะนำคือไม่เกินหนึ่งแก้วต่อวันสำหรับผู้หญิง และไม่เกิน 2 แก้วต่อวันสำหรับผู้ชาย
  7. รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม การมีน้ำหนักเกินทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และเบาหวาน การลดน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายอาจลดความดันโลหิตและลดระดับคอเลสเตอรอลได้
  8. อย่าใช้สารเสพติด ยาเสพติด เช่น โคเคน มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของ TIA และโรคหลอดเลือดสมองอื่นๆ 
  9. ควบคุมเบาหวาน การเป็นโรคเบาหวานจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค TIA ได้ ซึ่งทำได้โดยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก และใช้ยาเมื่อจำเป็น

โรค TIA คือโรคสมองขาดเลือดชั่วคราวซึ่งมีความรุนแรงและอันตรายไม่แพ้กับโรคหลอดเลือดสมองอื่นๆ เมื่อมีอาการแล้ว ควรนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด และถึงแม้ว่าจะหายได้เองก็จำเป็นที่จะต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดและหาทางป้องกันความรุนแรงอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ทั้งนี้ สามารถป้องกันได้โดยการดูแลสุขภาพตนเองเป็นอย่างดี หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการใช้สารเสพติด จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายเป้นประจำและรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ค่ะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : nhs.uk, webmd.com, mayoclinic.org

Featured Image Credit : vecteezy.com/stockdevil

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save