X

ไขข้อสงสัย สมองเสื่อม กับ อัลไซเมอร์ ต่างกันอย่างไร ? มารู้จักโรคที่เกี่ยวกับความเสื่อมของสมองให้มากขึ้นกัน !

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

ไขข้อสงสัย สมองเสื่อม กับ อัลไซเมอร์ ต่างกันอย่างไร ? มารู้จักโรคที่เกี่ยวกับความเสื่อมของสมองให้มากขึ้นกัน !

ถ้าพูดถึงอาการหลงๆ ลืมๆ หรือการเกิดภาวะจำบางสิ่งบางอย่างขึ้นมาไม่ได้กระทันหัน และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ หลายๆ คนก็จะคิดถึงภาวะสมองเสื่อม หรือบางคนอาจจะเรียกว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ แต่ความจริงแล้ว รู้หรือไม่ว่า สองสิ่งนี้มีความแตกต่างกัน และการเกิดภาวะสมองเสื่อมนั้นไม่ได้มีแค่โรคอัลไซเมอร์เพียงอย่างเดียว ทั้งยังไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นโรคเดียวกัน แล้ว สมองเสื่อม กับ อัลไซเมอร์ ต่างกันอย่างไร ? ไปทำความรู้จักและทำความเข้าใจให้มากขึ้นกันเลยค่ะ

สมองเสื่อม กับ อัลไซเมอร์ ต่างกันอย่างไร ? ชวนรู้ให้กระจ่าง

สมองเสื่อม กับ อัลไซเมอร์ ต่างกันอย่างไร, โรคสมองเสื่อม
Image Credit : freepik.com

บางคนอาจจะมีความเข้าใจว่า สมองเสื่อมกับโรคอัลไซเมอร์นั้น เป็นโรคเดียวกัน แต่ความจริงแล้ว ไม่ใช่โรคเดียวกันนะคะ โรคสมองเสื่อมนั้น มีชื่อสากลว่า Dementia ซึ่งเป็นโรคที่มีความผิดปกติของสมอง กล่าวคือ มีภาวะที่เซลล์สมองเกิดการเสื่อม ตาย หรือสมองเกิดความเสียหาย ทำให้ระบบโครงสร้างและการทำงานของสมองบกพร่อง ส่งผลให้ผู้ที่เป็นโรคนี้มีปัญหาด้านความจำ ความสามารถทางสติปัญญาลดลง ซึ่งมีสาเหตุอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน อาการทั่วไปที่พบได้คือ ความทรงจำและความคิดของผู้ที่เป็นโรคนี้มีคุณภาพแย่ลง จนส่งผลกระทบต่อกิจวัตรการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น แยกทิศทางไม่ได้ จำทางกลับบ้านหรือสถานที่ที่กำลังจะเดินทางไปไม่ได้ พูดซ้ำๆ ถามซ้ำๆ เนื่องจากจำไม่ได้ว่าเคยพูดประโยคหรือคำเหล่านี้ไปแล้ว หลงลืมการวางแผนทำกิจกรรม หรือสิ่งที่กำลังจะทำในเวลาอันใกล้ รวมถึงจดจำชื่อคนหรือจดจำเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมาไม่ได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ โรคอัลไซเมอร์ หรือ Alzheimer’s Disease เป็นหนึ่งในโรคที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับความทรงจำ และนำไปสู่การเกิดโรคสมองเสื่อมหลังจากนั้น ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากความเสื่อมของสมอง หรือโรคประจำตัวอื่นๆ ทำให้บุคคลนั้นมีความทรงจำแย่ลง และอาจรุนแรงถึงขั้นใช้ชีวิตประจำวันตามปกติไม่ได้ หรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย โรคอัลไซเมอร์ เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดภาวะสมองเสื่อมนั่นเอง และจะมีอาการของโรคอย่างช้าๆ โดยไม่เป็นที่สังเกต เมื่อระยะเวลาผ่านไปประมาณ 5 – 6 ปี ความผิดปกติของโรคจะแสดงออกมา จนกระทั่งมีอาการของโรคอย่างชัดเจน

เกร็ดสุขภาพ : สมองเสื่อม กับ อัลไซเมอร์ ต่างกันอย่างไร ? โรคอัลไซเมอร์เป็นหนึ่งในสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมนั่นเอง ทั้งนี้ โรคอัลไซเมอร์ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการสมองเสื่อมเป็นอันดับ 1 ซึ่งพบได้มากถึงร้อยละ 60 – 70 ส่วนสาเหตุที่พบบ่อยเป็นอันดับ 2 ก็คือ ภาวะสมองเสื่อมอันเกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) โดยผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมองก็ได้แก่ ผู้ที่มีโรคเบาหวาน ไขมันสูง ความดันโลหิตสูง ผู้ที่สูบบุหรี่ เป็นต้น

สาเหตุของสมองเสื่อม กับ อัลไซเมอร์ ต่างกันอย่างไร ?

สมองเสื่อม กับ อัลไซเมอร์ ต่างกันอย่างไร, โรคสมองเสื่อม
Image Credit : freepik.com

ตอนนี้ก็ได้ทราบแล้วว่า สมองเสื่อม กับ อัลไซเมอร์ ต่างกันอย่างไร ซึ่งภาวะสมองเสื่อมไม่ใช่โรคเฉพาะ แต่เป็นกลุ่มอาการหนึ่งที่มีสาเหตุอยู่หลายประการด้วยกัน เราสามารถแบ่งออกเป็นสาเหตุที่รักษาได้ และสาเหตุที่รักษาไม่ได้ ดังนี้

1. สาเหตุที่สามารถรักษาได้

  • เป็นโรคต่อมไทรอยด์ หรือภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ 
  • เป็นโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับสมอง เช่น ติดเชื้อในสมอง มีเนื้องอกในสมอง น้ำคั่งในโพรงสมอง เลือดออกในสมอง เป็นต้น
  • ติดเชื้อ HIV เป็นโรคเอดส์ หรือซิฟิลิสที่ขึ้นสมอง
  • ขาดวิตามินบี 12 เป็นเวลานาน จนเซลล์สมองเสื่อม
  • สมองเสื่อมจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท
  • โรคอื่นๆ อาทิ โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคลมชัก โรคซึมเศร้า เป็นต้น

2. สาเหตุที่ไม่สามารถรักษาได้

  • โรคอัลไซเมอร์
  • โรคหลอดเลือดสมองตีบ
  • โรคพาร์กินสัน
  • สมองได้รับการกระทบกระเทือนและบาดเจ็บอย่างรุนแรง

สำหรับสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์นั้น เกิดจากการเสื่อมสภาพของโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้า – อะไมลอยด์ (beta – amyloid) ซึ่งเมื่อไปจับกับเซลล์สมอง จะส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง และทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเสียหายจากการลดลงของสารสื่อประสาทที่เรียกว่า สารแอซิติลโคลีน (acetylcholine) ที่ส่งผลโดยตรงกับความจำ และไม่สามารถรักษาให้หายได้ โดยสาเหตุของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ มีดังนี้

  • มีปัจจัยที่ทำให้เซลล์สมองเสื่อม เช่น อายุที่เพิ่มมากขึ้น ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่บ่อย 
  • นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นเวลานาน หรือนอนดึกมากและตื่นเช้า พักผ่อนน้อย ทำให้สมองเกิดความอ่อนล้าได้ง่าย และทำให้เซลล์สมองเสื่อมก่อนวัยอันควร 
  • มีโรคประจำตัวบางอย่างที่นำไปสู่โรคอัลไซเมอร์ เช่น โรคเบาหวานชนิดที่สอง โรคความดันโลหิตสูง 
  • ได้รับกรรมพันธุ์จากคนในครอบครัวที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ 
  • ได้รับบาดเจ็บที่สมองอย่างรุนแรง

อาการของภาวะสมองเสื่อม กับ อัลไซเมอร์ ต่างกันอย่างไร ?

สมองเสื่อม กับ อัลไซเมอร์ ต่างกันอย่างไร, โรคสมองเสื่อม
Image Credit : freepik.com

เนื่องจากโรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อม ทั้งยังเป็นโรคที่เกี่ยวกับสมองเช่นเดียวกัน ทำให้ลักษณะอาการมีความคล้ายคลึงกัน โดยผู้ป่วยจะมีอาการดังนี้

  • ความสามารถในการสื่อสารลดลง นึกคำศัพท์ไม่ออก ไม่สามารถสื่อสารเป็นประโยคได้ 
  • หลงลืมในสิ่งที่เพิ่งจะเกิดขึ้น เช่น ลืมว่ากินข้าวแล้ว ถามซ้ำๆ ย้ำๆ พูดซ้ำเรื่องเดิมๆ 
  • จำเส้นทางไม่ได้ บางครั้งจำทางกลับบ้านตัวเองไม่ได้ หรือเดินออกจากบ้านโดยไม่มีจุดหมาย จู่ๆ ออกจากบ้านในเวลาค่ำคืน 
  • ลืมคนรู้จัก เช่น เพื่อน หรือสมาชิกคนในครอบครัว คิดว่าเป็นคนแปลกหน้า ซึ่งเป็นอาการที่แตกต่างจากโรคจำหน้าคนไม่ได้ เนื่องจากผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะหลงลืมไปเลยว่าคนๆ นี้เป็นใคร แต่ผู้ที่เป็นโรคจำหน้าคนไม่ได้ จะไม่สามารถจดจำใบหน้าคนได้ แต่สามารถระบุตัวตนของคนๆ นั้นได้ผ่านการดูท่าทาง ทรงผม บุคลิกภาพ น้ำเสียง เป็นต้น 
  • มีพฤติกรรมที่แปลกไปจากเดิม เช่น ขี้หงุดหงิดมากขึ้น พูดจาหยาบคายมากขึ้น ก้าวร้าวมากขึ้น  
  • มีอาการหลงผิด หรือเห็นภาพหลอน เช่น คิดว่าคนจะมาทำร้าย คิดว่าคนจะมาขโมยของของตัวเอง เป็นต้น
  • มีปัญหาเรื่องตัวเลข เช่น การนับเงิน การดูนาฬิกา การจำหมายเลขโทรศัพท์
  • ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ไม่สามารถอาบน้ำ แปรงฟัน หรือติดกระดุมได้ เนื่องจากลืมวิธีการทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไป

เกร็ดสุขภาพ : อาการหลงๆ ลืมๆ บางอย่างที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เช่น ลืมว่าวางของไว้ที่ไหน จำวันที่ผิดบ้าง นึกชื่อบางคนไม่ออก คิดช้าลง นึกคำพูดนาน คิดบางคำไม่ออก แต่ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ยังคงทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างปกติ ยังคงจำคนรอบข้างหรือคนใกล้ชิดได้เป็นอย่างดี อาการเหล่านี้ เป็นภาวะหลงลืมของผู้สูงอายุโดยทั่วไป ไม่ได้เป็นอาการของโรคสมองเสื่อมแต่อย่างใด ทั้งนี้ หากสงสัยว่าผู้สูงอายุมีอาการสมองเสื่อมหรือกังวลว่าจะเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือไม่ การพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ก็จะทำให้รู้ได้อย่างชัดเจนค่ะ

การวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม กับ อัลไซเมอร์ ต่างกันอย่างไร เหมือนกันหรือเปล่า ?

ในตอนนี้ก็ได้ทราบแล้วว่า สมองเสื่อม กับ อัลไซเมอร์ ต่างกันอย่างไร บางคนอาจจะสงสัยว่า การวินิจฉัยกลุ่มโรคนี้แตกต่างกันหรือไม่ ซึ่งการวินิจฉัยโรคสมองเสื่อม ทั้งอัลไซเมอร์และอื่นๆ นั้น แพทย์จะทำการซักประวัติจากผู้ป่วย คนใกล้ชิด ญาติ หรือผู้ดูแลที่สามารถให้ข้อมูลได้ เกี่ยวกับพฤติกรรมและการใช้ชีวิตประจำวันที่มีความผิดปกติไปจากเดิม ซึ่งอาจบ่งบอกถึงความถดถอยด้านการทำงานของสมอง หรือให้ทำแบบทดสอบเกี่ยวกับทักษะการรู้คิด ร่วมกับการตรวจร่างกาย ตรวจสภาพสมองด้วยเครื่อง CT Scan หรือ MRI เป็นต้น

ในผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ แม้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การตรวจพบโรคได้ไวก็จะช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้ ปัจจุบันมียาสำหรับเพิ่มสารแอซิติลโคลีน ที่ช่วยให้ความจำดีขึ้นและลดปัญหาด้านพฤติกรรม และชะลอการดำเนินโรคให้ช้าลง นอกจากการใช้ยาแล้ว ก็สามารถรักษาเพื่อประคับประคองอาการได้ด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยฟื้นฟูสุขภาพกาย สุขภาพใจให้กับผู้ป่วย เช่น การเล่นเกมส์ฝึกสมอง การฝึกต่อติ๊กซอว์ การฝึกคิดเลข รวมถึงการพบแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถประคับประคองอาการได้ เช่น นักกิจกรรมบำบัด นักดนตรีบำบัด หรือนักศิลปะบำบัด เป็นต้น

การป้องกันโรคสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ ทำได้อย่างไร ?

สมองเสื่อม กับ อัลไซเมอร์ ต่างกันอย่างไร, โรคสมองเสื่อม
Image Credit : freepik.com
  1. ไม่ควรนอนดึก หรือพักผ่อนน้อย เนื่องจากจะทำให้สมองพักผ่อนไม่เพียงพอ และเสี่ยงต่อการเกิดความเสื่องของเซลล์สมองมากขึ้น
  2. ไม่เครียดมากจนเกินไป หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด และหากิจกรรมผ่อนคลายให้ตัวเอง
  3. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด เพราะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคความดัน ไขมัน เบาหวาน ซึ่งโรคเหล่านี้ เป็นสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมได้ 
  4. ไม่สูบบุหรี่จัดหรือดื่มแอลกอฮอล์จัด รวมถึงการใช้ยาบางชนิด เพราะส่งผลต่อความเสื่อมของสมองได้ 
  5. ทำกิจกรรมที่ได้ฝึกสมองอย่างสม่ำเสมอ เช่น เล่นเกมฝึกสมอง คิดเลข อ่านหนังสือ วาดรูป ระบายสี หรือทำกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ เช่น การพบปะพูดคุยกับผู้อื่นบ่อยๆ ซึ่งอาจช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ 
  6. ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่ศีรษะ

โดยสรุปแล้ว โรคอัลไซเมอร์ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม ซึ่งภาวะสมองเสื่อมนั้นสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งสาเหตุที่รักษาได้ และสาเหตุที่รักษาไม่ได้ แม้ว่าโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมบางอย่างจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การตรวจพบโรคได้เร็ว ก็จะสามารถประคับประคองอาการได้ ทั้งนี้ ผู้ใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวของผู้ป่วยกลุ่มโรคนี้ ต้องมีความเข้าใจในอาการของผู้ป่วยมากๆ และมีความอดทน – ใจเย็นต่อผู้ป่วยกลุ่มโรคนี้เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งสุขภาพจิตของผู้ดูแลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมก็สำคัญเช่นเดียวกัน หากต้องดูแลผู้ป่วยในบ้านแล้วก่อให้เกิดความเครียด มีความกดดัน การปรึกษานักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ก็จะทำให้สามารถผ่อนคลายความเครียดลงได้นะคะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : ekachaihospital.com, nakornthon.com, webmd.com, healthline.com, alzheimer.ca

Featured Image Credit : freepik.com/shurkin_son

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save