X

7 โรคที่มากับหน้าหนาว ! ชวนดูแลสุขภาพให้ห่างไกลโรคในทุกฤดูกาล

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

7 โรคที่มากับหน้าหนาว ! ชวนดูแลสุขภาพให้ห่างไกลโรคในทุกฤดูกาล

เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นได้ก็คือ อาการป่วยไข้ไม่สบายที่มักจะเกิดขึ้นตามฤดูกาล เนื่องจากอุณหภูมิมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน และถ้าร่างกายไม่แข็งแรง ภูมิคุ้มกันต่ำ ก็ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย และในช่วงหน้าหนาวที่กำลังใกล้เข้ามานี้ ก็มีโรคหน้าหนาวที่ระบาดในช่วงอากาศหนาวเย็นเช่นกัน ซึ่งถ้าไม่ดูแลตัวเองดีๆ ก็อาจไม่สบายได้ มาดูกันค่ะว่า โรคที่มากับหน้าหนาว จะมีโรคอะไรบ้าง และสามารถดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคนี้อย่างไรได้บ้าง เพื่อให้ไม่เจ็บป่วยจากโรคที่มากับสภาพอากาศ ไปอ่านกันเลยค่ะ

ชวนดู 7 โรคหน้าหนาว อากาศหนาวทีไรต้องคอยระวัง ก่อนป่วยเป็นโรคเหล่านี้ !

โรคที่มากับหน้าหนาว, โรคหน้าหนาว
Image Credit : unsplash.com

นอกจากโรคที่มากับฝน ที่เราจะต้องระวังเมื่อสภาพอากาศมีความอึมครึมและมีฝนชื้นแฉะแล้ว เมื่อหน้าฝนผ่านไปและเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ก็มีความเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ ที่มากับอากาศหนาวๆ เช่นกัน มาดูกันว่า โรคหน้าหนาว จะมีโรคอะไรบ้าง จะได้เฝ้าระวังกันก่อนป่วยค่ะ

1. โรคไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัส อินฟลูเอ็นซา (Influenza Virus) ซึ่งเป็นโรคหน้าหนาวที่พบได้บ่อย เพราะสามารถสัมผัสเชื้อได้จากละอองในอากาศ และติดต่อกันทางน้ำลาย น้ำมูก ผ่านการจามและไอ โดยจะมีอาการคือ มีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ และอาจมีอาการอาเจียนหรือท้องเสียร่วมด้วย วิธีรักษาเบื้องต้นคือ ดื่มน้ำให้มากๆ เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกาย เช็ดตัวบ่อยๆ กินยาตามอาการ และถ้าภายใน 3 – 5 วันอาการยังไม่ดีขึ้น ยังคงมีไข้สูงอย่างต่อเนื่อง ให้รีบไปพบแพทย์

เกร็ดสุขภาพ : บุคคลทั่วไป ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เพราะสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั้ง 4 สายพันธ์ุได้ โดยฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี ได้แก่ ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้ที่ให้บริการในระบบบริการสุขภาพ เนื่องจากเป็นโรคติดต่อที่สามารถแพร่ระบาดได้ง่าย จึงควรฉีดวัคซีนป้องกันไว้ก่อนค่ะ

2. ปอดอักเสบ

โรคปอดอักเสบ หรือรู้จักกันดีในชื่อโรค “ปอดบวม” ในผู้ป่วยบางราย เข่น ผู้สูงอายุ เมื่อมีความเจ็บป่วยไม่สบายแล้ว ก็มีโอกาสเกิดโรคปอดอักเสบร่วมด้วย ซึ่งมักมาพร้อมกับอาการไข้หวัดต่างๆ โดยโรคปอดอักเสบหรือปอดบวม เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส ทำให้มีหนองและน้ำในถุงลม ส่งผลห้เนื้อปอดในบริเวณนั้นไม่สามารถรับออกซิเจนได้ตามปกติ ทำให้มีอาการไอ จาม คัดจมูก มีเสมหะมาก (อ่านเพิ่มเติม วิธีขับเสมหะ จากคอและปอด) และทำให้มีไข้สูง หนาวสั่นร่วมด้วย หากอาการรุนแรงทรุดหนักอาจถึงขั้นแน่นห้าอก หายใจไม่ออก และเสียชีวิตได้เลยทีเดียว ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยงได้แก่ เด็กเล็กและผู้สูงอายุ สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงความรุนแรงของโรคได้

3. โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน

โรคที่มากับหน้าหนาว, โรคหน้าหนาว
Image Credit : freepik.com

โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน เป็นโรคหน้าหนาวที่พบได้เช่นกัน เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มาพร้อมกับหวัด หรือแบคทีเรียในอากาศ และผู้ที่สูบบุหรี่ เป็นไซนัสอักเสบ หรือเป็นต่อมทอนซิลอักเสบอยู่เป็นทุนเดิมก็จะเสี่ยงต่อการเกิดหลอดลมอักเสบเฉียบพลันมากขึ้น โดยจะมีอาการคือ ไม่สามารถหยุดไอได้ มีเสมหะเป็นจำนวนมาก ร่วมกับมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย เป็นไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ น้ำมูกไหล หายใจถี่ และหายใจมีเสียงครืดคราด ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถดีขึ้นได้เอง แต่ถ้าอาการรุนแรงมากก็อาจนำไปสู่โรคปอดอักเสบได้ ซึ่งแพทย์จะสั่งให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการค่ะ

4. โรคหัด

โรคหัด ก็เป็นอีกหนึ่งโรคหน้าหนาวที่พบได้เช่นกัน โดยส่วนใหญ่จะพบได้บ่อยในเด็กเล็กอายุประมาณ 5 – 9 ปี เกิดจากการติดเชื้อไวรัสรูบีโอราไวรัส (Rubeola Virus) ซึ่งอาการของโรคจะคล้ายคลึงกับอาการไข้หวัด กล่าวคือ มีไข้สูง มีน้ำมูก ไอแห้งตลอดเวลา ร่วมกับอาการตาแดง จมูกแดง นอกจากนี้ จะมีผื่นแดงตามร่างกายเมื่อผ่านไปประมาณ 3 – 4 วัน และผื่นแดงจะค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้น มีสีเข้มขึ้น ซึ่งอาการที่สังเกตได้ชัดว่าน่าจะเป็นโรคหัดคือ มักจะมีตุ่มใสๆ ขึ้นในบริเวณปาก กระพุ้งแก้ม และฟันกราม ซึ่งเป็นอาการเฉพาะของโรคหัดเท่านั้น ทั้งนี้ อาการจะดีขึ้นหลังจากผื่นขึ้นประมาณ 2 – 3 วัน และต้องเฝ้าระวังโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น อุจจาระร่วง สมองอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ เป็นต้น

5. โรคไอกรน

โรคที่มากับหน้าหนาว, โรคหน้าหนาว
Image Credit : freepik.com

ไอกรน เป็นโรคหน้าหนาวที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Bordetella Pertussis ซึ่งแพร่กระจายผ่านการไอ จาม หรือแม้แต่การหายใจรดกัน ก็อาจทำให้ติดโรคไอกรนได้ โดยจะมีอาการคือ ไอติดกันอย่างน้อยเป็นเวลา 7 วัน น้ำมูกไหล คัดจมูก คล้ายกับอาการหวัด แต่อาจจะมีอาการรุนแรงมากขึ้นหากอาการทรุดหนัก เช่น หายใจเข้าจนเกิดเสียงวู๊ปสลับกับการไอติดๆ กันเป็นชุด และในเด็กเล็กอาจมีอาการไออย่างรุนแรงจนตัวเขียวได้ และอาเจียนร่วมด้วย ซึ่งอาการจะคงอยู่ประมาณ 10 วัน ไปจนถึง 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ สามารถรักษาได้ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ และสามารถป้องกันการเกิดโรคไอกรนได้โดยการฉีดวัคซีนตั้งแต่เด็ก ซึ่งจัดเป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กทุกคนจะร้องได้รับค่ะ

6. ไข้สุกใส

ไข้สุกใส หรือโรคอีสุกอีไสที่เรารู้จักกันดี เป็นโรคหน้าหนาวที่มักระบาดในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella Virus) ซึ่งติดต่อได้โดยการสัมผัสตุ่มน้ำใสโดยตรง หรือการสัมผัสกับของใช้ผู้ป่วย เช่น ผ้าห่ม ที่นอน ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ เป็นต้น โดยไข้สุกใส มักพบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จะมีอาการคือ มีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และมีผื่นแดงหรือตุ่มน้ำใสขึ้นตามร่างกาย ต่อมาจะกลายเป็นหนอง และจะแห้ง ตกสะเก็ดภายใน 5 – 10 วัน และอาการไข้จะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งจะต้องระวังการแคะ แกะเกาตุ่ม เพราะอาจทำให้อักเสบและเป็นแผลได้ และสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ ผู้ใหญ่ที่ยังไม่เคยเป็นไข้สุกใส ก็สามารถฉีดวัคซีนป้องกันได้ค่ะ

7. โรคภูมิแพ้กำเริบ

ในบางคนที่มีโรคภูมิแพ้เป็นโรคประจำตัว เมื่ออากาศเย็นลงหรือสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ก็อาจทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบรุนแรงได้ โดยเฉพาะผู้ที่แพ้ไรฝุ่น แพ้ขนสัตว์ ควันบุหรี่ ก็มีโอกาสได้รับการกระตุ้นจากสารก่อภูมิแพ้มากขึ้น ทำให้มีอาการคันจมูก คันตา จาม มีน้ำมูกใส หรือบางคนอาจมีผื่นคันร่วมด้วย ซึ่งสามารถดูแลตัวเองด้วยการหลีกเลี่ยงอาการเย็นจัด และสวมเสื้อผ้าหนาๆ เพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกาย และรับประทานยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการ

เกร็ดสุขภาพ : นอกจากโรคหน้าหนาวต่างๆ ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่มักจะพบได้บ่อยก็คือ ปัญหาผิวหนังแห้งกร้าน แตกเป็นขุยเนื่องจากอากาศเย็น จึงควรทาโลชั่นหรือน้ำมันบำรุงผิวทุกครั้งหลังอาบน้ำ เพื่อบำรุงผิวให้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ และถ้าหากมีปัญหาริมฝีปากแห้งแตก ควรทาลิปมันบ่อยๆ และไม่เลียริมฝีปาก เพราะจะทำให้ปากแห้งยิ่งกว่าเดิม

วิธีดูแลสุขภาพ ให้ห่างไกลจากโรคหน้าหนาว

โรคที่มากับหน้าหนาว, โรคหน้าหนาว
Image Credit : freepik.com

โรคที่มากับหน้าหนาว สามารถป้องกันได้ ถ้าดูแลสุขภาพของตัวเองเป็นอย่างดี และรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงที่จพเกิดความเจ็บป่วยขึ้น ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้

  1. พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น การกินอาหารแบบ Balanced Diet คือการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และดื่มน้ำมากๆ พร้อมกับออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  2. รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอในช่วงฤดูหนาวหรือช่วงที่มีอากาศเย็น สวมเสื้อกันหนาว สวมหมวกป้องกันความเย็นเพื่อลดการถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกาย
  3. อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเท หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่แออัด หรือสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอาจทำให้ติดไข้หวัดใหญ่ได้ง่าย
  4. ล้างมือบ่อยๆ เนื่องจากอาจมีการสัมผัสกับเชื้อโรคต่างๆ ตามที่สาธารณะ เช่น ประตู ราวบันได และหลีกเลี่ยงการเอามือสัมผัสกับหน้า หรือขยี้ตา เพราะจะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้
  5. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกฮอลล์ และลดการสูบบุหรี่ เพราะทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย

เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ช่วงหน้าหนาว ก็ทำให้เกิดโรคที่มากับหน้าหนาวได้ ทั้งนี้ หากดูแลตัวเองเป็นอย่างดี รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อเสริมสร้างให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง ก็จะทำให้ห่างไกลโรคเหล่านี้ได้ และโรคบางโรคสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน ดังนั้น การฉีดวัคซีนประจำปี หรือไปฉีดวัคซีนก่อนที่จะป่วย ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้ห่างไกลจากโรคได้เช่นกันค่ะ  ไม่ว่าจะฤดูไหน ถ้าดูแลตัวเองเป็นอย่างดี ก็ห่างไกลความเจ็บป่วยได้แน่นอน

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : govesite.com, siphhospital.com, si.mahidol.ac.th, hopkinsmedicine.org

Featured Image Credit : freepik.com/pvproductions

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save