“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
ผักตามฤดูกาล คืออะไร ? มีชนิดไหนบ้าง มารู้จักและเลือกกินให้ถูกกัน !
ทุกคนรู้ดีว่าการกินผักเป็นประจำนั้นดีต่อสุขภาพร่างกายอย่างมาก เพราะประโยชน์ของการกินผักมีทั้งช่วยเพิ่มวิตามินและแร่ธาตุให้กับร่างกาย ช่วยในเรื่องของการขับถ่ายที่ดี และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันและป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้ ซึ่งประโยชน์ของผักนั้นมีมากมาย แต่การจะเลือกกินผักก็สำคัญ เพราะหากเรากิน ผักตามฤดูกาล จะทำให้เราได้ผักที่สดใหม่ และได้คุณค่าทางสารอาหารครบถ้วน แล้วผักตามฤดูกาลนั้นจะมีอะไรบ้าง ? เราจะมาแนะนำให้รู้จักผักแต่ละฤดูกาล โดยแบ่งตามฤดูของไทยคือ ผักฤดูฝน ผักฤดูร้อน และผักฤดูหนาวกันค่ะ
สุขภาพดีง่ายๆ ด้วยการกิน ผักตามฤดูกาล มารู้จักผักให้ครบทุกฤดู !
ผักตามฤดูกาล คืออะไร ? คือผักที่ปลูกและเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกของผักแต่ละชนิด เพราะผักแต่ละประเภทนั้นก็มีช่วงเวลาในการปลูกและเก็บเกี่ยวที่แตกต่างกันออกไป ด้วยเงื่อนไขของพันธุ์พืช อุณหภูมิ สภาพดิน และปริมาณน้ำฝน เพื่อให้ผักเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์เต็มที่ และการที่เราบริโภคผักในแต่ละฤดูกาลของการเก็บเกี่ยวนั้น นอกจากจะดีต่อสุขภาพเพราะทำให้เราได้กินผักที่เก็บสดใหม่แล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงในการได้รับสารเคมีและสารตกค้างในผัก ที่ใช้เพื่อเร่งการเจริญเติบโตอีกด้วย รวมถึงทำให้เราได้รับสารอาหารและประโยชน์ของผักต่างๆ อย่างเต็มที่ อย่างเช่น ผักหวานบ้าน สรรพคุณดีต่อร่างกายมากมาย หากได้กินตามฤดูกาล ก็จะได้ประโยชน์เต็มๆ ทั้งยังมีราคาถูกกว่าการกินผักนอกฤดูกาลด้วยค่ะ ได้รู้ข้อดีของการกินผักตามฤดูกาลกันไปแล้ว คราวนี้มารู้จักกันค่ะว่า ในฤดูต่างๆ ของไทยเรานั้น มีผักอะไรบ้างที่เราควรเลือกกิน
ฤดูร้อน (เดือนมีนาคม – พฤษภาคม)
ฤดูร้อน จะเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม ไปจนถึงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม ช่วงฤดูร้อนอากาศจะร้อนอบอ้าว มีแสงแดดจัด ท้องฟ้าแจ่มใส และมีเมฆน้อย ทำให้ความชื้นในอากาศน้อย น้ำในดินระเหยไว และลมที่พัดมักจะเป็นลมร้อน ทำให้ผักในฤดูนี้เป็นผักที่ทนต่อความร้อน ทนต่อความแล้งได้ และไม่ต้องการปริมาณน้ำมาก ซึ่งผักฤดูร้อน ได้แก่ ถั่วฝักยาว ฟักทอง ถั่วพู มะเขือเปราะ มะเขือเทศ กวางตุ้ง แตงกวา ข้าวโพด หอมหัวใหญ่ ใบเหลียง มะระ คะน้า บวบ กะเพรา ผักกาดขาว ผักกาดหอม ผักชี เป็นต้น
เกร็ดสุขภาพ : ผักแต่ละชนิดไม่ว่าจะเป็นผักฤดูฝน หรือฤดูอื่นๆ นั้น จะมีวิธีการกินที่ดีต่อสุขภาพแตกต่างกันออกไป เพื่อให้การบริโภคผักนั้นดีต่อสุขภาพร่างกายมากที่สุด แนะนำให้กินผักที่ผ่านความร้อนน้อย เช่น อบ นึ่ง หรือย่าง เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารมากที่สุด ตัวอย่างเช่น แครอท มะเขือเทศ บร็อกโคลี่ ผักโขม หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น ส่วนผักบางชนิดจะเหมาะสำหรับการกินสด เพื่อให้ได้วิตามินและแร่ธาตุที่ครบถ้วน ตัวอย่างเช่น ผักสลัดต่างๆ กระเทียม พริกหวาน บีทรูท และหอมหัวใหญ่ เป็นต้น
ฤดูฝน (เดือนมิถุนายน – ตุลาคม)
ฤดูฝนนั้นจะเริ่มต้นประมาณเดือนมิถุนายน ไปจนถึงเดือนตุลาคม ฤดูนี้จะมีความชื้นในอากาศสูงมาก และมีเมฆมาก รวมถึงมีแดดน้อย ทั้งยังมีความเสี่ยงของปริมาณน้ำฝนที่ท่วมขัง ทำให้ผักฤดูฝนนั้นจะเป็นผักที่ชอบน้ำ ทนต่อความชื้น และไม่ต้องการแสงแดดมากจนเกินไป ได้แก่ ขิง ข่า พริกต่างๆ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บร็อกโคลี ผักโขม ดอกโสน ตำลึง ดอกขจร ขึ้นฉ่าย ผักบุ้งจีน กระเจี๊ยบเขียว กุยช่าย หน่อไม้ สายบัว เป็นต้น
ฤดูหนาว (เดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์)
ฤดูหนาวจะเริ่มต้นประมาณเดือนพฤศจิกายน ไปจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ในฤดูนี้อากาศจะค่อนข้างเย็น มีเมฆมาก และมีความชื้นในอากาศสูง รวมถึงมีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ ทำให้เป็นช่วงที่มีแสงแดดน้อย ผักในฤดูหนาวจึงเป็นผักที่ชอบอากาศเย็น หรือทนต่อความเย็นได้ดี ได้แก่ ผักสลัดชนิดต่างๆ ผักกาดขาว ผักกาดหอม แครอท ผักชี ปวยเล้ง พริกหวาน ดอกแค สะเดา ฟักข้าว ตะลิงปลิง ลูกเหรียง มะรุม กระเทียม เป็นต้น
เกร็ดสุขภาพ : รู้ไหมว่าผักบางชนิดหากกินเปลือกเข้าไปด้วยนั้น จะดีต่อสุขภาพมากกว่า ซึ่งผักที่ควรกินพร้อมเปลือกเพื่อให้ได้ประโยชน์นั้น ได้แก่ แตงกวา แครอท มะเขือเทศ มะเขือม่วง หัวไชเท้า เป็นต้น
กินผักอย่างไรให้ปลอดภัย สุขภาพดี
นอกจากการกินผักตามฤดูกาลจะช่วยให้ร่างกายของเรามีสุขภาพที่ดี เพราะได้บริโภคผักที่สด ใหม่ ปราศจากสารเคมีตกค้างแล้วนั้น การกินผักในแต่ละมื้ออย่างหลากหลายและกินในปริมาณที่เพียงพอ จะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรงอีกด้วย เราควรกินผักวันละ 400 กรัม หรือประมาณ 4 – 6 ทัพพี ซึ่งจะทำให้เรามีสุขภาพที่ดีและยังป้องกันสาเหตุการเกิดโรคและความเจ็บป่วยต่างๆ ได้ คนที่กินผักเป็นประจำนั้น จะทำให้มีภูมิต้านทานสูง และมีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งต่ำด้วยค่ะ
เคล็ดลับการเลือกซื้อผัก และการล้างผักเพื่อลดสารเคมีตกค้าง
การซื้อผักตามท้องตลาดนั้น อาจมีความเสี่ยงในการได้รับสารเคมีตกค้างได้ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ แนะนำให้เลือกซื้อจากแหล่งที่ปลอดภัย สะอาด และได้มาตรฐาน ถ้าเลือกซื้อเป็นผักออร์แกนิคได้ก็จะปลอดภัยที่สุด แต่ถ้าหากว่าไม่สามารถหาซื้อได้ เรามีเคล็ดลับในการล้างผัก 5 วิธี เพื่อลดสารพิษและสิ่งปนเปื้อนต่างๆ มาแนะนำ ดังนี้
- แช่ผักในน้ำสะอาด 15 นาที จากนั้นล้างผักด้วยการเปิดน้ำไหลผ่าน ถูผักไปมานาน 2 นาที
- ล้างผักด้วยน้ำเกลือ โดยผสมน้ำกับเกลือป่น และแช่ผักทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง
- แช่ผักในน้ำผสมน้ำส้มสายชู โดยทิ้งไว้นาน 15 นาที จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด
- แช่ผักในน้ำผสมเบกกิ้งโซดานาน 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาดสองครั้ง
- ล้างผักด้วยด่างทับทิม ผสมด่างทับทิมกับน้ำ แล้วแช่ผักทิ้งไว้ 10 นาที จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด
การกินผักนั้นดีต่อสุขภาพของเราอย่างมากในทุกๆ ด้าน ทั้งยังช่วยให้ร่างกายแข็งแรงมีภูมิต้านทาน และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ได้ แต่การจะกินผักให้ได้ประโยชน์สูงสุดนั้น นอกจากเลือกกินผักตามฤดูกาลแล้ว แนะนำการกินผักสดหรือผ่านความร้อนเล็กน้อย จะดีกว่าการกินผักอบกรอบ หรือน้ำผัก แม้ว่าผักอบกรอบแคลอรี่จะต่ำ แต่ก็ให้สารอาหารและประโยชน์ที่น้อยกว่าผักสดนั่นเองค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : thairath.co.th, thaifarmer.lib.ku.ac.th, thaihealth.or.th
Featured Image Credit : freepik.com/gpointstudio
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ