“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
Cognitive Behavioral Therapy คือ อะไร ? ชวนรู้จักวิธีการรักษาทางสุขภาพจิต ที่นักจิตบำบัดนิยมใช้กัน !
ปัญหาที่เกี่ยวกับสุขภาพจิต เป็นสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ไม่ต่างจากการเจ็บป่วยทางกาย และก่อให้เกิดความทุกข์ใจ หรือรบกวนการใช้ชีวิต อีกทั้งปัญหาสุขภาพจิตบางอย่างก็ส่งผลกระทบทางลบให้กับตนเองและคนรอบข้างด้วย เช่น การมีบุคลิกภาพผิดปกติ หรือโรคซึมเศร้าที่อาจร้ายแรงถึงขั้นนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ดังนั้น จึงต้องทำการรักษาให้มีอาการดีขึ้น ปัจจุบันมีบริการให้การปรึกษา รักษา และบำบัดในด้านสุขภาพจิตมากมายหลายวิธี หนึ่งในวิธีที่นิยมใช้กันคือ Cognitive Behavioral Therapy คือ การบำบัดด้านความคิดและพฤติกรรม ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาทางด้านสุขภาพจิตเลยก็ว่าได้ และได้มีการใช้วิธีนี้กันอย่างแพร่หลาย เพราะมีประสิทธิภาพและได้ผลจริง มารู้จักการบำบัดรักษาทางใจด้วยวิธีนี้กันให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้เข้าใจวิธีการรักษาทางสุขภาพจิตกันให้ดีขึ้น ซึ่งอาจไม่น่ากลัวอย่างที่เคยเข้าใจกันก็ได้นะคะ
Cognitive Behavioral Therapy คือ อะไร ?
Cognitive Behavioral Therapy หรือ CBT คือ การบำบัดความคิดและพฤติกรรม เป็นวิธีการรักษาแบบจิตบำบัดรูปแบบหนึ่ง โดยใช้วิธีการพูดคุยกับนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ เพื่อให้ผู้ที่เข้ารับการบำบัดได้เข้าใจถึงความคิด ความเชื่อ หรือการรับรู้ของตนเองที่บิดเบือนไปจากความจริง และมีจุดประสงค์เพื่อจัดการกับอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งแนวคิดของการบำบัดความคิดและพฤติกรรม เชื่อว่ากระบวนการคิด สภาวะอารมณ์ และพฤติกรรมที่แสดงออกมามีความเกี่ยวข้องกัน และส่งผลต่อกัน หากมีการปรับเปลี่ยนความคิดที่ไม่เหมาะสมของผู้รับการบำบัด ให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น อารมณ์และพฤติกรรมก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ด้วย
หลักการในการทำ Cognitive Behavioral Therapy
วิธีการทำจิตบำบัดแบบ Cognitive Behavioral Therapy คือการใช้เทคนิคและรูปแบบที่หลากหลาย โดยนักจิตบำบัด จะทำงานร่วมกับผู้รับการบำบัดโดยการสอบถาม พูดคุย และหาวิธีการบำบัดความคิดและพฤติกรรมที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งมีวิธีการดังนี้
- มีการวิเคราะห์และประเมินปัญหาของผู้เข้ารับการบำบัดแต่ละคนอย่างละเอียด
- สร้างการตระหนักรู้ให้กับผู้เข้ารับการบำบัดว่า กระบวนการคิดที่ไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้องได้
- ให้ผู้เข้ารับการบำบัดเกิดกระบวนการเรียนรู้ที่จะเผชิญกับความกลัวและความท้าทาย
- เสริมสร้างการเรียนรู้ทักษะการแก้ปัญหาใหม่ๆ และนำไปปรับใช้ในชีวิต
- ส่งเสริมความมั่นใจในตัวเอง ความเข้าใจตัวเอง และการเห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้น เช่น ในผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า เป็นโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง เป็นต้น
- การจำลองสถานการณ์และการเล่นบทบาทสมมติและเทคนิคการคุมอารมณ์เมื่อเจอสถานการณ์ที่ท้าทาย เช่น ในผู้ที่ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ มีอารมณ์โกรธรุนแรง หรือมีบุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคม เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น ผู้เข้ารับการบำบัดมักมีความคิดลบๆ กับตัวเอง และคิดว่าตัวเองเป็นคนไม่เก่ง ไม่มีคุณค่า ซึ่งเป็นความคิดที่เกิดขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ (Automatic Thought) การพูดคุยกับนักจิตบำบัด ก็จะทำให้ผู้เข้ารับการบำบัดได้มีการตกตะกอนและตระหนักรู้ว่า ความคิดที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลอย่างไรต่อความรู้สึก และพฤติกรรมของตนเอง การคิดแบบนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร อะไรเป็นสิ่งที่ขัดขวางไม่ให้คิดบวกกับตัวเอง และมีการตั้งคำถามให้ผู้เข้ารับการบำบัดลองคิดด้วย Mindset ที่แตกต่างไปจากเดิม และประเมินการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งการทำ CBT คือการช่วยให้ผู้รับการบำบัดได้เห็นภาพของปัญหาโดยรวม และตระหนักรู้ได้ว่าการรับรู้ของตนเองอาจไม่สมเหตุสมผลและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เช่น คิดว่าตัวเองยังเก่งไม่พอ ดีไม่พอ ทั้งๆ ที่ได้เลื่อนตำแหน่ง มีผลงานโดดเด่น เป็นต้น เพื่อก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมให้เป็นไปในทิศทางบวกมากขึ้นนั่นเอง
เกร็ดสุขภาพ : นอกจากทักษะการบำบัดตามวิชาชีพที่นักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์จะต้องมีเพื่อใช้ในการรักษาแล้ว อีกหนึ่งทักษะที่จำเป็นมากๆ ที่ผู้ให้การบำบัดจะต้องมีคือ ทักษะการฟังอย่างมีประสิทธิภาพ หรือ Active Listening และวิเคราะห์ให้รู้ถึงวิธีคิด อารมณ์ ความต้องการของผู้เข้ารับการปรึกษา โดยปราศจากการ Bias หรือการมีอคติกับผู้รับการบำบัด ซึ่งบางความคิดหรือบางการกระทำของผู้เข้ารับการบำบัดนั้นอาจเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม แต่นักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ไม่ควรไปตำหนิ ต่อว่า แต่เน้นการพูดคุย ทำความเข้าใจ ให้ผู้เข้ารับการบำบัดสะท้อนความคิด ความรู้สึกของตัวเองออกมา และเกิดการตกตะกอน เรียนรู้ เข้าใจกระบวนการคิดของตัวเองมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นนั่นเอง
ระยะเวลาในการรักษา
ระยะเวลาในการรักษานั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ในตอนแรก นักจิตบำบัดจะเริ่มทำการรักษาด้วยการสอบถามประวัติ ทำความเข้าใจปัญหาและความต้องการของผู้เข้ารับการบำบัด โดยให้เล่าเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงความคิด ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ข้อมูลที่พูดคุยกันนั้นจะถูกเก็บเป็นความลับ และจะไม่เปิดเผยให้ผู้อื่นได้รับรู้ ตามจรรยาบรรณวิชาชีพ หลังจากพูดคุยกันแล้ว ก็จะมีการประเมินว่าควรนัดพบกันเพื่อทำการบำบัดประมาณกี่ครั้ง โดยทั่วไปแล้ว Cognitive Behavioral Therapy จะนัดทำการบำบัดรักษาประมาณ 5 – 20 ครั้ง ครั้งละประมาณ 30 – 60 นาที โดยอาจนัดทุกๆ 1 – 2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับตัวของผู้เข้ารับการบำบัดเองว่าอาการดีขึ้นหรือไม่ ส่วนใหญ่ผู้ที่เข้ารับการบำบัดจะรู้สึกว่าตัวเองอาการดีขึ้นในช่วง 2 – 3 เดือนหลังเข้ารับการบำบัดความคิดแและพฤติกรรม
ทั้งนี้ การทำ Cognitive Behavioral Therapy คือการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เข้ารับการบำบัดกับนักจิตบำบัด เป็นการพูดคุยกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และวิเคราะห์ถึงรูปแบบความคิดที่บิดเบือนไปจากความจริงหรือเป็นความคิดที่ไม่เหมาะสม ที่ส่งผลเสียต่อผู้เข้ารับการบำบัด ซึ่งนักจิตบำบัดจะช่วยหาวิธีหรือกระตุ้นให้เกิดรูปแบบความคิดใหม่ๆ ที่ต่างไปจากเดิม เพื่อการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น และอาจมีการฝึกฝนให้ปรับเปลี่ยนความคิด พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน และติดตามความคืบหน้าในการนับพบครั้งต่อๆ ไป โดยเป้าหมายสุดท้ายของการบำบัดรักษาแบบ CBT คือ ให้ผู้เข้ารับการบำบัดตระหนักและเรียนรู้ในกระบวนการคิดรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงการทำการบำบัด และสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น เห็นคุณค่าตัวเองมากขึ้น มั่นใจในตัวเองมากขึ้น มีภาวะซึมเศร้าน้อยลง เป็นต้น
Cognitive Behavioral Therapy สามารถใช้กับโรคอะไรได้บ้าง ?
การบำบัดความคิดและพฤติกรรม หรือ Cognitive Behavioral Therapy คือวิธีการรักษาในทางสุขภาพจิตที่สามารถใช้ได้กับหลายหลายโรคมาก ร่วมกับรูปแบบการรักษาอื่นๆ หรือการจ่ายยาตามการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งวิธี CBT สามารถรักษาโรคต่างๆ ได้ ดังนี้
- โรคซึมเศร้า
- โรคไบโพลาร์
- โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบก้ำกึ่ง หรือ Borderline Personality Disorder
- โรคการกินผิดปกติ เช่น Anorexia หรือ Bulimia
- โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ Obsessive Compulsive Disorder (OCD)
- โรคแพนิค
- โรคโฟเบียหรือโรคกลัวต่างๆ
- โรค PTSD หรือ Post-Traumatic Stress Disorder
- โรคจิตเภท หรือ Schizophrenia
- โรคที่เกี่ยวกับการนอนหลับ เช่น ภาวะนอนไม่หลับหรือ Insomnia
- โรคติดแอลกอฮอล์
- โรค Kleptomania คือ โรคชอบขโมยของ
เกร็ดสุขภาพ : ปัจจุบันเริ่มมีการให้บริการจิตบำบัดทางออนไลน์ เรียกว่า Internet – Based Cognitive Behavioral Therapy (ICBT) ในการบำบัดรักษาผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคเครียดเรื้อรัง เป็นต้น ซึ่งเป็นการให้คำปรึกษาผ่านทางระบบออนไลน์ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการรับบริการแต่ไม่สะดวกเดินทางไปพบนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ที่คลินิกหรือโรงพยาบาล ก็สามารถเข้ารับการบำบัดแบบออนไลน์ได้ ซึ่งสะดวกสบาย เข้าถึงได้ง่าย เพียงแค่มีอุปกรณ์เทคโนโลยีอย่างคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ก็สามารถเข้ารับคำปรึกษาได้ที่บ้านของตัวเอง
ข้อดีของการเข้ารับการบำบัดแบบ Cognitive Behavioral Therapy คืออะไร ?
- ช่วยเสริมการรักษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในกรณีที่การรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียวไม่ได้ผล
- ใช้เวลาแต่ละครั้งไม่นาน เพียงครั้งละ 30 – 60 นาทีเท่านั้น
- สะดวกสบาย สามารถเข้ารับการปรึกษาได้แม้อยู่ที่บ้านของตัวเอง
- มีวิธีการที่หลากหลาย สามารถเลือกวิธีได้ตามความเหมาะสม แล้วแต่อาการและของแต่ละบุคคล สามารถรักษาบำบัดทั้งแบบกลุ่ม หรือแบบเดี่ยวก็ได้
- เน้นให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบความคิดและพฤติกรรม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว
สามารถเข้ารับการบำบัดแบบ CBT ได้ที่ไหนบ้าง ?
หากมีปัญหาในด้านสุขภาพจิต หรือมีความเครียด ความไม่สบายใจ ต้องการปรึกษากับนักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัด แล้วกำลังกังวลว่า จะปรึกษาจิตแพทย์ที่ไหนดี ? สามารถเข้ารับบริการได้ที่คลินิกสุขภาพจิตหรือโรงพยาบาลสุขภาพจิตใกล้บ้านได้ หรือสอบถามกับกรมสุขภาพจิตก็ได้ค่ะว่า มีบริการเกี่ยวกับการเข้ารับการบำบัดปรึกษาที่ไหนบ้างในพื้นที่ที่เราอยู่อาศัย เบื้องต้นแล้วจิตแพทย์จะทำการประเมินและวินิจฉัยก่อนว่า ควรได้รับการรักษาในรูปแบบใดบ้าง หากมีความเห็นว่า ควรรักษาด้วยวิธีการจิตบำบัดแบบ CBT ก็จะทำการนัดพบกับนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ในครั้งต่อๆ ไป ซึ่งการมาตามนัดและให้ความร่วมมือในการเข้ารับการบำบัด ก็จะทำให้อาการดีขึ้นได้
ปัญหาด้านสุขภาพจิต สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย หากปัญหาด้านสุขภาพใจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ก่อให้เกิดความเครียด ความทุกข์ใจ หรือก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม การเข้ารับการรักษาด้วยการบำบัดความคิดและพฤติกรรม หรือ CBT ก็จะทำให้ผู้เข้ารับการบำบัดมีอาการดีขึ้น ทั้งยังเป็นการรักษาที่มุ่งเน้นการวิเคราะห์และประเมินปัญหาที่เผชิญอยู่ สร้างการตระหนักรู้และเข้าใจถึงความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกัน ถ้าหากปรับเปลี่ยนวิธีคิดหรือรูปแบบการคิด ปรับปรุงอารมณ์ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ก็จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้ค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : mayoclinic.org, apa.org, healthline.com, nhs.uk
Featured Image Credit : freepik.com/artursafronovvvv
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ