“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
ใบวัดความดันดูยังไง ? ชวนดูวิธีอ่านผลความดัน ให้ดูแลตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม !
เมื่อไปโรงพยาบาลเพื่อทำการตรวจต่างๆ สิ่งหนึ่งที่ทุกคนจะต้องทำ และน่าจะเคยทำกันมาทุกคนคือ การวัดความดันโลหิตที่จุดตรวจวัดความดัน ซึ่งพยาบาลจะนำเอาเครื่องวัดความดันมาวัดที่แขนของเรา และแสดงค่าตัวเลขออกมา โดยปกติจะมีอยู่ 3 ค่าตัวเลข คือ SYS DIA และ PUL ค่าตัวเลขที่แสดงผลออกมานี้ ถ้าหากไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลก็อาจจะเกิดคำถามว่า ตัวเลขต่างๆ หมายถึงอะไร และเกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่า ใบวัดความดันดูยังไง ? เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจค่าความดันและตัวเลขต่างๆ กันให้มากขึ้น มาดูกันค่ะว่า มีวิธีอ่านผลความดันโลหิตอย่างไร เพื่อที่จะได้เข้าใจกันให้มากขึ้น และประเมินสุขภาพเบื้องต้นของตัวเองได้ค่ะ
ใบวัดความดันดูยังไง ? ชวนรู้วิธีดูค่าความดันโลหิตกัน
เมื่อต้องไปโรงพยาบาล ไม่ว่าจะไปตรวจสุขภาพประจำปี ไปตามคุณหมอนัด หรือมีเหตุเจ็บป่วยกระทันหันต้องไปหาหมอ นอกจากการซักประวัติแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทุกคนจะต้องทำคือ การวัดความดันโลหิต วัดค่าชีพจร อัตราการเต้นของหัวใจ แล้วเคยส่งสัยกันหรือไม่ว่า ตัวเลขที่บอกนั้น หมายถึงอะไร ? มาทำความเข้าใจค่าความดันโลหิตให้มากขึ้นกันค่ะ
ค่าความดันโลหิต คือค่าความดันของกระแสเลือดในหลอดเลือดแดง ซึ่งเกิดขึ้นจากการกระบวนการสูบฉีดเลือดของหัวใจ เมื่อหัวใจบีบตัว เราจะวัดได้เป็นค่าความดันเลขตัวบน และเมื่อหัวใจคลายตัว เราจะวัดได้เป็นค่าความดันเลขตัวล่าง ค่าความดันปกติ เฉลี่ยโดยทั่วไป จะอยู่ที่ 120/80 มิลลิเมตรปรอท โดยวัดได้จากเครื่องวัดความดันนั่นเอง และจะแสดงค่าดังนี้
- ค่าความดันโลหิตตัวบน หรือ Systolic Blood Pressure (SYS) คือค่าความดันโลหิตในหลอดเลือดที่เกิดขึ้นขณะหัวใจบีบตัว โดยปกติแล้วควรมีค่าไม่เกิน 120
- ค่าความดันโลหิตตัวล่าง หรือ Diastolic Blood Pressure (DIA) คือค่าความดันของเลือดในขณะที่หัวใจคลายตัว โดยปติแล้วควรไม่เกิน 80
- อัตราการเต้นของหัวใจ หรือ Pulse โดยปกติจะอยู่ที่ 60 – 100 bpm หมายความว่า อัตราหัวใจเต้นกี่ครั้ง / นาที
วิธีดูใบวัดความดัน จะรู้ได้อย่างไรว่าความดันสูงหรือต่ำ ?!
ในประเทศไทยกำหนดค่าความดันโลหิตปกติคือ ค่าความดันโลหิตตัวบนไม่เกิน 140 และตัวล่างไม่เกิน 90 มิลลิเมตรปรอท ทั้งนี้ ใบวัดความดันดูยังไงถึงจะทราบว่ามีความดันโลหิตสูง และได้มีการแบ่งค่าความดันโลหิตสูงออกเป็น 3 ระดับคือ
• ความดันโลหิตสูงระยะที่ 1 หรือ Hypertension Stage 1
ความดันโลหิตสูงระยะที่ 1 คือ มีความดันโลหิตคงที่ในเลขตัวบน เกิน 140 และเลขตัวล่างเกิน 90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน การออกกำลังกาย หรือตรวจเพิ่มว่ามีค่าไขมันสูงด้วยหรือไม่ และอาจพิจารณาจ่ายยาลดความดันโลหิตให้ เนื่องจากเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจวาย หรือโรคหลอดเลือดสมอง
• ความดันโลหิตสูงระยะที่ 2 หรือ Hypertension Stage 2
ความดันโลหิตสูงระยะที่ 2 คือเมื่อความดันโลหิตอยู่ในช่วง 160/100 มิลลิเมตรปรอท หรือสูงกว่าอย่างคงที่ ในระยะนี้แพทย์มักจะจ่ายยาลดความดันโลหิตให้ ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเคร่งครัด
• ความดันโลหิตสูงระยะที่ 3 หรือ Hypertension Stage 3
ความดันโลหิตสูงระยะที่ 3 คือ วัดค่าความดันโลหิตเลขตัวบนเกิน 180 และเลขตัวล่างเกิน 110 มิลลิเมตรปรอท หากวัดได้ที่บ้านและวัดค่าความดันได้สูงขนาดนี้ แม้วัดซ้ำแล้วก็ตาม ให้รีบไปพบแพทย์หรือปรึกษาแพทย์ทันที เนื่องจากอันตรายต่อชีวิต และเสี่ยงมีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้
เกร็ดสุขภาพ : อาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงคือ เวียนศีรษะ ตึงต้นคอ ใจสั่น อ่อนเพลีย ตาพร่ามัว และอาจมีเลือดกำเดาไหลร่วมด้วย โดยอาจมีสาเหตุหลายประการที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง เช่น เป็นโรคไต หรือเกิดจากพฤติกรรมของผู้ป่วย อาทิ การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ออกกำลังกาย หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
อย่างไรก็ตาม วิธีดูใบวัดความดันนั้น ในกรณีที่วัดค่าความดันโลหิตเพียงครั้งเดียวแล้วความดันออกมาสูงผิดปกติ ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง จะต้องวัดซ้ำ 2 – 3 ครั้ง และมีการตรวจติดตามผลเป็นระยะ เนื่องจากค่าความดันโลหิตมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผล เช่น ความเหนื่อย ความเครียด ความวิตกกังวล การดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน ก็ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงชั่วขณะได้เช่นกัน
ความดันโลหิตต่ำ ในใบวัดความดันดูยังไง ?
หากวัดค่าความดันแล้วได้เลขต่ำว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท หรือมีค่าต่ำในตัวใดตัวหนึ่ง เช่น ค่าเลขตัวบน (SYS) ต่ำกว่า 90 หรือเลขตัวล่าง (DIA) ต่ำว่า 60 ก็อาจแสดงว่ามีภาวะความดันโลหิตต่ำ ซึ่งพบได้ในทุกเพศ ทุกช่วงอายุ ขึ้นกับสาเหตุหลายประการ อาทิ การขาดสารอาหารบางชนิด เช่น โปรตีน วิตามินซี หรือ มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบเลือด เช่น ภาวะโลหิตจาง
เกร็ดสุขภาพ : หากความดันต่ำและอยู่ในภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ อาจทำให้เกิดการเวียนศีรษะ หน้ามืด เป้นลมกระทันหัน ใจเต้นแรง ใจสั่น ตาพร่าเบลอ คลื่นไส้ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย กระหายน้ำ และอาจหน้ามืดจากการเปลี่ยนท่านั่ง ท่ายืนโดยกระทันหัน ซึ่งสามารถดูแลตัวเองด้วยการเคลื่อนไหวช้าๆ หรือไม่กินอาหารที่เสี่ยงต่อสุขภาพและไม่ดีต่อคนเป็นความดันต่ำ (อ่านเพิ่มเติม ความดันต่ำ อาหารแบบไหนที่ไม่ควรกิน)
ค่าอัตราการเต้นของหัวใจในใบวัดความดัน วิธีดูใบวัดความดัน ดูยังไง ?
อีกหนึ่งค่าตัวเลขที่แสดงบนใบวัดความดันคือ อัตราการเต้นของหัวใจ ในวิธีดูใบวัดความดัน นอกจากจะดูค่าความดันแล้ว ค่าอัตราการเต้นของหัวใจ ก็มีความสำคัญเช่นกัน แล้วในใบวัดความดันดูยังไงถึงจะทราบอัตราการเต้นของหัวใจที่ปกติ ? อัตราการเต้นของหัวใจในระดับปกติ ขณะพัก จะอยู่ที่ 60 – 100 ครั้งต่อนาที โดยผู้ที่มีอัตราการเต้นของหัวใจสูง จะวัดได้ตัวเลขสูงกว่า 100 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป
หัวใจเต้นเร็ว เกิดจากอะไร ?
- ความเครียด ความวิตกกังวล
- เครื่องดื่มชูกำลัง หรือชา กาแฟ ที่มีคาเฟอีน คือสารที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วได้
- ยาบางชนิด เช่น ยาลดอาการคัดจมูก
- โรคหัวใจ
- โรคไทรอยด์
- ภาวะซีดหรือโรคเลือดอื่นๆ
- การเคลื่อนไหวร่างกาย หรือออกกำลังกาย
ทั้งนี้ ผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น ป่วยเป็นเบาหวาน หรือมีภาวะความดันโลหิตสูง มีไขมันในเลือดสูง ก็อาจทำให้มีอัตราการเต้นของหัวใจที่สูงกว่าคนปกติได้ เมื่อไปวัดความดัน ก็อาจจะแสดงค่าอัตราการเต้นของหัวใจที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติค่ะ
การเตรียมตัวเพื่อวัดความดันโลหิต
ในตอนนี้ เราก็ได้ทราบกันแล้วว่าวิธีดูใบวัดความดันที่ถูกต้อง ดูอย่างไร ใบวัดความดันดูยังไงถึงจะทราบค่าที่แสดงผลได้ครบถ้วน เพื่อที่จะได้เข้าใจผลการตรวจสุขภาพของเรามากขึ้น และก่อนที่จะไปวัดความดันเพื่อให้ได้ค่าที่เป็นจริงนั้น ควรปฏิบัติตัวดังนี้ค่ะ
- ก่อนวัดความดัน 30 นาที ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ชา กาแฟ แอลกอฮอล์ ไม่ออกกำลังกายมาก่อน และไม่ได้อยู่ในอารมณ์โกรธ โมโห เครียด วิตกกังวล เพราะอาจวัดได้ค่าความดันที่สูงกว่าปกติได้
- เมื่อมาถึงจุดตรวจวัดความดัน ควรนั่งพักเป็นเวลา 5 – 15 นาที ก่อนวัดความดัน
- ควรปัสสาวะก่อนทำการวัดความดัน
- ไม่พูดคุยมากเกินไปในขณะที่ทำการวัดความดัน
สำหรับใครที่ไปโรงพยาบาลแล้วทำการตรวจวัดความดัน เมื่อได้ใบวัดความดันมาแล้วเกิดความสงสัยว่า ใบวัดความดันดูยังไง ? ตอนนี้ก็น่าจะได้เข้าใจค่าตัวเลขที่แสดงในใบวัดความดันมากขึ้นแล้ว ซึ่งการที่เราเข้าใจความหมายตัวเลขที่แสดงผลออกมานั้น ก็จะทำให้เราสามารถประเมินสุขภาพเบื้องต้นของตัวเองได้ว่า มีสุขภาพดีหรือไม่ มีค่าความดันโลหิตปกติหรือไม่ อัตราชีพจรหัวใจปกติอยู่หรือเปล่า เพราะถ้ามีค่าที่สูงหรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ก็จะได้ปรึกษาแพทย์ต่อไป และดูสุขภาพตัวเองให้มากขึ้น เพื่อให้ตัวเลขค่าต่างๆ อยู่ในระดับปกติค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : bloodpressureuk.org, princsuvarnabhumi.com, rama.mahidol.ac.th, heart.org
Featured Image Credit : freepik.com
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ