X

ชวนดู พัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย ลูกเราวัยนี้ พัฒนาการช้าไปหรือเปล่า ?

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

ชวนดู พัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย ลูกเราวัยนี้ พัฒนาการช้าไปหรือเปล่า ?

สำหรับคนเป็นพ่อแม่ หรือเป็นผู้ปกครองเด็กแล้ว นอกเหนือจากการที่เด็กๆ เติบโตได้ตามวัย มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือ การมีพัฒนาการที่เหมาะสมในแต่ละช่วงอายุ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหว การหัดพูด หัดเดิน หรือการจับสิ่งของ การช่วยเหลือตัวเองได้ รวมถึงการมีพัฒนาการด้านสติปัญญา อารมณ์ และสังคมที่เป็นไปอย่างปกติด้วยเช่นกัน ในบทความนี้ จะชวนคุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองเด็กๆ มาดู พัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย ว่าเป็นอย่างไร เด็กในวัยต่างๆ ควรมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง ? ลูกหลานของเรามีพัฒนาการที่เป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ ? เพื่อที่จะได้สังเกตเด็กๆ กันค่ะ

พัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย คืออะไร ?

พัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย, พัฒนาการเด็ก
Image Credit : unsplash.com

ก่อนที่จะไปดูพัฒนาการของลูกๆ ในแต่ละช่วงวัย เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการกันก่อนว่า หมายถึงอะไร ? พัฒนาการ (Development) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงการทำหน้าที่และโครงสร้างของอวัยวะต่างๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงวุฒิภาวะของบุคคลตามระยะเวลา ให้สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมหรือสภาวะใหม่ๆ ได้ โดยเริ่มจากสิ่งที่ง่ายไปจนถึงสิ่งที่ยาก และสลับซับซ้อนมากขึ้นจนกระทั่งเติบโตเต็มที่ ซึ่งพัฒนาการเกิดขึ้นตลอดเวลาคู่กับการเจริญเติบโตของมนุษย์ และพัฒนาการด้านต่างๆ มีความเกี่ยวข้องกัน หากด้านใดด้านหนึ่งมีความผิดปกติ ก็จะทำให้ด้านอื่นๆ บกพร่องไปด้วย ดังนั้น จึงต้องมีการส่งเสริมพัฒนาการควบคู่กันทั้งทางด้านร่ายกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา

ทั้งนี้ พัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย คือลักษณะการเติบโตในแต่ละด้านของเด็กตามช่วงอายุ ได้มีการกำหนดเกณฑ์ไว้จากการเต็บโตโดยปกติของมนุษย์ว่า ในแต่ละช่วงวัยควรมีพัฒนาการอย่างไร ซึ่งการมีพัฒนาการปกติแสดงถึงการมีสุขภาพที่แข็งแรง และมีการเรียนรู้ที่เป็นไปตามช่วงวัยนั่นเองค่ะ

เจาะลึกพัฒนาการเด็ก อายุเท่านี้ควรมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง

พัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย, พัฒนาการเด็ก
Image Credit : unsplash.com

เมื่อเด็กเริ่มเติบโตขึ้น ก็จะมีพัฒนาการในแต่ละช่วงอายุควบคู่กันไป ทั้งนี้ ได้แบ่งพัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัยออกไป็น 4 ด้าน ดังนี้

  1. พัฒนาการด้านการทรงตัวและการเคลื่อนไหว เป็นพัฒนาการด้านร่างกายร่วมกับการประยุกต์ใช้ร่างกายในการตอบสนองต่างๆ เช่น การหยิบจับสิ่งของ การขีดเขียน นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนไหว เช่น นั่ง ยืน เดิน วิ่ง กระโดดปีนป่าย ขี่จักรยาน รวมถึงการใช้มือติดกระดุมเสื้อได้เอง ใส่เสื้อผ้าได้เอง เป็นต้น
  2. พัฒนาการด้านภาษาและสติปัญญา มีความเข้าใจทางภาษาและการใช้ท่าทาง สามารถพูดได้ ฟังเข้าใจ รู้จักเรียนรู้การใช้สิ่งของต่างๆ 
  3. พัฒนาการด้านอารมณ์ สามารถแสดงความรู้สึกออกทางสีหน้าหรือการกระทำได้ รู้จักควบคุมอารมณ์ และสามารถสร้างความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง มั่นใจและมีความนับถือต่อตนเองได้ (Self – Esteem)
  4. พัฒนาการด้านสังคม เป็นการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น เล่นกับเพื่อนคนอื่นได้ เข้ากลุ่มได้ ทำตามกฎกติกาต่างๆ ในสังคมได้

ทั้งนี้ เด็กๆ ก็จะมีพัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัยแตกต่างกันไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยเด็กในวัยต่างๆ จะมีพัฒนาการดังนี้

  • แรกเกิด : มีการเคลื่อนไหว ปฏิกิริยาแบบ Reflex มองชัดระยะใกล้ ร้องไห้ หยุดฟังเสียง
  • 1 เดือน : ชันคอ หันหน้า มองตามสั้นๆ ทำเสียงในคอ 
  • 2 เดือน : ชันคอ 45 องศาได้ มองตามมากขึ้น ฟังเสียงคนคุยกัน มีการสบตาคนมอง
  • 4 เดือน : ชันคอ 90 องศา คว่ำได้ สามารถคว้าของได้ อ้อแอ้โต้ตอบ หัวเราะได้ 
  • 6 เดือน : คว่ำหงายได้เอง หยิบของมือเดียวได้ มองเห็นใกล้ไกล หันหาเสียง ส่งเสียงหลายเสียง
  • 9 เดือน : นั่งตัวตรง คลาน เกาะยืน ใช้นิ้วหยิบของ เปิดหาของได้ เข้าใจสีหน้า เริ่มเรียนรู้ภาษา เลียนเสียงพยัญชนะ พัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัยนี้ เริ่มเล่นจ๊ะเอ๋กับแม่ หยิบอาหารได้เอง ร้องตามแม่ เป็นต้น
  • 12 เดือน : เกาะเดิน เริ่มตั้งไข่ หยิบของชิ้นเล็กได้ เริ่มหัดพูด ทำตามคำบอกง่ายๆ ได้ เลียนแบบท่าทางง่ายๆ ได้ 
  • 15 เดือน : เริ่มเดินได้เอง ชี้อวัยวะบนใบหน้าได้ ใช้ช้อนตักอาหารได้ 
  • 18 เดือน : เริ่มวิ่ง ชี้รูปภาพถูก ฟังพ่อแม่เข้าใจมากขึ้น ถือแก้วดื่มน้ำได้เอง 
  • 2 ปี : เดินขึ้นบันไดได้ กระโดดได้ ขีดเขียนได้ เปิดหนังสือทีละหน้า พูดได้ 2 – 3 พยางค์ บอกชื่อตัวเองได้ เริ่มเลียนแบบท่าทางผู้ใหญ่
  • 3 ปี : ปั่นจักรยาน 3 ล้อได้ วาดรูปง่ายๆ ได้ เช่น วงกลม เล่าเรื่องเข้าใจมากขึ้น พูดเป็นประโยค ชอบตั้งคำถาม 
  • 4 ปี : วาดรูปทรงต่างๆ ได้มากขึ้น ร้องเพลงได้ เล่าเรื่องเข้าใจหมด แต่งตัวเองได้ ติดกระดุมเองได้
  • 5 ปี : จับดินสอถูกต้อง วาดรูปได้มากขึ้น พูดฟังเข้าใจ เริ่มถามเหตุผล เล่นเกมที่มีกติกาได้ เริ่มเล่นบทบาทสมบติ เข้าใจภาษามากขึ้น

ชวนสังเกต ! สิ่งที่แสดงถึงการมีพัฒนาการช้าของเด็กๆ

พัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย, พัฒนาการเด็ก
Image Credit : unsplash.com

ในข้างต้นเราก็ทราบกันแล้วว่า พัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัยเป็นอย่างไร เด็กอายุเท่าไหร่ควรจะมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ มีจุดสังเกตที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่เอะใจได้ว่า ลูกเราอาจมีพัฒนาการช้าก็ได้ เพื่อที่จะได้ไปปรึกษาแพทย์ให้ทันท่วงที ซึ่งสามารถสังเกตได้ดังนี้

เกร็ดสุขภาพ : เด็กที่มีพัฒนาการช้า คือเด็กที่มีพัฒนาการไม่สมวัยตามเกณฑ์ปกติ โดยเด็กอาจมีพัฒนาการช้าในทุกๆ ด้าน หรือมีพัฒนาการช้าในบางด้านก็ได้เช่นกัน ซึ่งเกิดได้หลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม สุขภาพที่ไม่สมบูรณ์ของแม่ขณะตั้งครรภ์ สุขภาพเด็กหลังคลอด เป็นต้น

  • อายุ 1 – 2 เดือน เด็กไม่ตอบสนองต่อเสียง
  • อายุ 6 เดือน ไม่คว่ำ ไม่ส่งเสียงอ้อแอ้ 
  • อายุ 9 เดือน ไม่นั่งเอง ไม่แสดงอารมณ์หรือเล่นกับคนอื่น
  • อายุ 12 เดือน ไม่สื่อสารด้วยท่าทาง ไม่สนใจคน 
  • อายุ 18 เดือน ไม่เดิน ไม่เข้าใจคำสั่งง่ายๆ 
  • อายุ 2 ปี ไม่รู้จักการเล่น พูดเป็นคำๆ 
  • อายุ 3 ปี ภาษาที่เด็กพูด คนอื่นฟังไม่ค่อยเข้าใจ ยังไม่สามารถพูดเป็นประโยคได้
  • อายุ 4 – 5 ปี ไม่เล่นเข้ากลุ่มกับเพื่อน ไม่เข้าใจการเล่นบทบาทสมมติ ไม่สามารถแต่งตัวเองได้

ทั้งนี้ หากลูกอยู่ในช่วงวัยเรียนแล้ว แต่ยังมีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ที่ผิดปกติ เช่น มีความยากลำบากในการสื่อสารเข้าสังคมกับคนอื่น ทำการทดสอบ IQ (Intelligence Quotient) แล้วคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ มีปัญหาในการจดจำสิ่งต่างๆ ไม่สามารถคิดในเชิงเหตุและผลได้ มีปัญหาในการเรียนหนังสือ ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เอง เช่น แปรงฟัน แต่งตัว เข้าห้องน้ำ ควรจะปรึกษาแพทย์เด็กที่มีความเชี่ยวชาญด้านพัฒนาการ เพื่อให้ลูกน้อยมีพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัยที่เหมาะสมได้ค่ะ

สาเหตุของ พัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย ที่ไม่ปกติ เกิดจากอะไร ?

พัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย, พัฒนาการเด็ก
Image Credit : unsplash.com

การที่เด็กมีพัฒนาการช้า หรือมีพัฒนาการไม่เป็นไปตามเกณฑ์ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ดังนี้

  1. เกิดขึ้นจากความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือมีความผิดปกติของยีน เช่น มีภาวะดาวน์ซินโดรม
  2. เด็กได้รับการบาดเจ็บที่สมองเมื่อตอนแรกคลอด ทำให้พัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัยมีความผิดปกติได้ 
  3. คุณแม่มีสุขภาพไม่แข็งแรงในขณะที่กำลังตั้งครรภ์ 
  4. การคลอดที่ไม่ราบรื่น หรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นระหว่างคลอด 
  5. เด็กมีภาวะทุพโภชนาการ หรือมีโภชนาการที่ไม่เหมาะสม ขาดสารอาหาร 
  6. เด็กได้รับการกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง มีอาการ Trauma คือบาดแผลทางใจในวัยเด็ก หรือ PTSD
  7. การได้รับสารพิษบางชนิด เช่น ตะกั่ว แอลกอฮอล์ ในกรณีที่แม่ดื่มหนักในระหว่างตั้งครรภ์ หรือมีการติดเชื้อที่ร้ายแรงบางอย่าง

ลูกมีพัฒนาการช้า สามารถรักษาได้หรือไม่ ?

ถ้าพ่อแม่หรือผู้ปกครองคนไหนกำลังสงสัยว่าลูกเรามีพัฒนาการช้าหรือไม่ แล้วกำลังกังวลใจว่า สามารถรักษาพัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัยที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ได้หรือเปล่า ? ไม่ต้องกังวลไปค่ะ แม้พัฒนาการเด็กที่ไม่ปกตินั้นจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ในทันที แต่มีการใช้วิธีการบำบัดในรูปแบบต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการในแต่ละด้านให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นและช่วยให้เด็กๆ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้ และช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งมีวิธีการบำบัดในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

1. กายภาพบำบัด

มักจะใช้ฟื้นฟูพัฒนาการใส่ส่วนของกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหว ส่งเสริมทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ ในกรณีที่เด็กมีพัฒนาการส่วนนี้ช้ากว่าเกณฑ์

2. กิจกรรมบำบัด

เช่น ศิลปะบำบัด เพื่อฟื้นฟูทักษะที่ช่วยในการพัฒนากล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวัน รวมถึงระบบประสาทสัมผัส เพื่อให้เด็กมีการพัฒนาในด้านการประมวลผลรับรู้ประสาทสัมผัสทั้ง 5

3. การพูดและภาษาบำบัด

การบำบัดด้านการพูดมักใช้เพื่อแก้ปัญหาในด้านความเข้าใจในด้านภาษาและการสื่อสาร

4. พฤติกรรมบำบัด

อาจใช้ในกรณีที่เด็กมีปัญหาเรื่องพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม เช่น มีอารมณ์รุนแรง ไม่สามารถเข้าสังคมได้ หรือไม่เข้าใจกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมได้

5. การเล่นบำบัด

เพื่อช่วยในการพัฒนาทักษะเบื้องต้น เช่น การเคลื่อนไหวร่างกาย การเข้าสังคม รวมถึงส่งเสริมให้เด็กมีทักษะการเล่นเพื่อการมีพัฒนาการที่ดี

เกร็ดสุขภาพ : ารบำบัดในรูปแบบต่างๆ นั้น จะมีการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์ นักจิตวิทยา และนักบำบัดที่ร่วมกันวินิจฉัยและค้นหาวิธีการรักษาที่เหมาะสม และนักบำบัดจะต้องเรียนมาเฉพาะทาง มีใบอนุญาตและมีใบประกอบวิชาชีพ จึงจะสามารถเป็นนักบำบัดได้

พัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย เกิดขึ้นคู่กับการเจริญเต็บโตของเด็กๆ ทั้งทางกายภาพ การเรียนรู้ อารมณ์ และสังคม หากเด็กมีการเจริญเติบโตเป็นไปตามเกณฑ์ ก็จะมีพัฒนาการที่เป็นไปอย่างปกติ ทั้งนี้ ในเด็กบางคนอาจมีพัฒนาการช้าได้เช่นกัน ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายประการ ดังนั้น คุณแม่จะต้องรักษาสุขภาพร่างกายในแข็งแรงตั้งแต่ที่ลูกน้อยยังอยู่ในครรภ์ เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดพัฒนาการล่าช้าได้ รวมถึงสังเกตลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอว่ามีความผิดปติด้านใดหรือไม่ หากสงสัยว่าพัฒนาการเด็กมีความผิดปกติหรือมีพัฒนาการช้าสามารถปรึกษาแพทย์เด็กได้ เพื่อตรวจสอบวินิจฉัยให้กระจ่าง และหาทางรักษาฟื้นฟูพัฒนาการลูกน้อยให้ทันท่วงทีค่ะ

ทั้งนี้ การมีพัฒนาการล่าช้าไม่ใช่ความผิดของเด็กแต่อย่างใด การให้กำลังใจเด็กๆ เสริมความอบอุ่นในครอบครัวให้กับลูกๆ จะทำให้ลูกมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เชื่อว่าตัวเองทำได้ และค่อยๆ มีพัฒนาการที่เป็นไปตามวัยได้ค่ะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : phyathai.com, ssmhealth.com, sutir.sut.ac.th:8080

Featured Image Credit : unsplash.com/Josh Applegate

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save