“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
โรคพาร์กินสัน อาการ เป็นยังไง ? รู้จักโรคเกี่ยวกับระบบประสาทและสมองที่ส่งผลร้ายในวัยสูงอายุ
ถ้าพบเจอใครที่มีอาการมือสั่น นิ้วสั่น หรือแขนขาสั่น เท้าสั่นอย่างควบคุมไม่ได้ เคลื่อนไหวลำบาก อาจสันนิษฐานได้ว่า บุคคลนั้นมีอาการของโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) หรือรู้จักกันในชื่อ โรคสันนิบาต ซึ่งคนไทยคุ้นเคยกับชื่อโรคสันนิบาตกันมานานแล้ว ปัจจุบันมีการตื่นตัวของโรคนี้กันมากขึ้น เนื่องจากเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคสมองเสื่อมที่พบได้ในผู้สูงอายุ และส่งผลต่อสุขภาพ รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคนี้อย่างมาก มาเจาะลึกกันว่า โรคพาร์กินสัน อาการ เป็นอย่างไร สาเหตุเกิดจากอะไร สารถป้องกันและรักษาได้หรือไม่ มีวิธีการดูแลผู้ที่เป็นโรคพาร์กินสันอย่างไร ? ติดตามได้ในบทความนี้ค่ะ
ชวนรู้จัก ! โรคพาร์กินสัน อาการ ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ
Parkinson’s disease หรือโรคพาร์กินสัน คือโรคที่เกิดจากความเสื่อมในบริเวณสมองส่วนกลางและระบบประสาท โดยเป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ รองจากโรคอัลไซเมอร์ (อ่านเพิ่มเติม วิธีป้องกันอัลไซเมอร์) มักพบในผู้ป่วยที่มีอายุเกิน 65 ปี และโรคพาร์กินสันเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่รักษาให้อาการบรรเทาลงได้หรือไม่ลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ดังนั้น หากมีอาการที่เห็นได้ชัดคือ สั่น เกร็ง และเคลื่อนไหวช้า เดินช้า ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ
ทั้งนี้ อาการที่เกิดขึ้น เกี่ยวพันกับการที่เซลล์สมองถูกทำลายไปแล้วอย่างน้อยร้อยละ 60 ในส่วนก้านสมองและสมองส่วนกลาง (Midbrain) ทำให้สารสื่อประสาทโดพามีนซึ่งควบคุมการเคลื่อนไหวของร่ายกายลดลง ส่งผลให้ควบคุมการเคลื่อนไหวและอาการสั่นไม่ได้ มาเจาะลึกกันให้มากขึ้นว่า โรคพาร์กินสัน มีอาการอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะได้สังเกตตัวเอง หรือสังเกตคนใกล้ตัว และจะได้ทำการรักษาได้ทันท่วงทีค่ะ
เกร็ดสุขภาพ : ในประเทศไทยมีการเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติการเกิดโรค จากสภากาชาดไทย พบว่าอุบัติการณ์การเกิดโรคพาร์กินสันอยู่ที่ 425 คนต่อประชากร 100,000 คน และคนไทยสมัยโบราณรู้จักโรคพาร์กินสันมานานแล้วในชื่อ “โรคสันนิบาตลูกนก” ปัจจุบันคนไทยตื่นตัวเรื่องนี้กันมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ได้เร็วขึ้น และได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ
เจาะลึก ! โรคพาร์กินสัน อาการ เป็นอย่างไร จะได้สังเกตตัวเอง
มาดูกันว่า โรคพาร์กินสัน จะมีอาการอย่างไรบ้าง นอกจากอาการสั่น เกร็ง และเคลื่อนไหวช้า ยังมีสัญญาณอื่นๆ ที่สามารถบ่งบอกว่าอาจเป็นโรคพาร์กินสันได้ด้วย ดังนี้
- มีอาการสั่น ไม่ว่าจะเป็นการสั่นถี่ๆ หรือสั่นเป็นจังหวะ มักจะเริ่มที่แขน ขา มือ นิ้วมือ หรือเท้า ซึ่งจะมีการสั่นมากขึ้นในขณะที่อยู่เฉยๆ แต่อาการสั่นจะลดลงเมื่อมีการใช้งานอวัยวะนั้นๆ และมีอาการปวดเมื่อยแขนขา กล้ามเนื้อเกร็งร่วมด้วย
- เคลื่อนไหวช้าลง หรือที่เรียกว่า Bradykinesia ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป โรคพาร์กินสัน อาการทำให้ผู้ที่เป็นโรคเคลื่อนไหวช้าลง เช่น เดินช้าลง ก้าวเท้าได้สั้นๆ เดินลากเท้า หรือลุกจากเก้าอี้ได้ยากกว่าเดิม
- ท่าทางการทรงตัวผิดปกติ เช่น เดินตัวโก่งไปข้างหน้า หลังค่อม หลังงอ ลุกยืนลำยาก ทำให้มีโอกาสล้มง่าย
- นอนไม่หลับ พลิกตัวไม่ได้ หรือมีอาการขยับแขนขารุนแรงขณะหลับ
- พูดเบาลง พูดช้าลง ใช้เวลานานกว่าจะพูด
- กลัดกระดุมได้ยาก หรือเปิดฝาขวดน้ำได้ลำบากมากขึ้น
- เขียนได้ช้าลง การเขียนอาจกลายเป็นเรื่องยาก หรือเขียนตัวหนังสือเล็กลง
- หากมีอาการหนักขึ้น ผู้ป่วยอาจเคลื่อนไหวไม่ได้เลย กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง มือเท้าหงิกงอ ไม่มีการแสดงความรู้สึกทางสีหน้า ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ ร่างกายซูบผอมลง ทรวงอกเคลื่อนไหวได้น้อยลง และเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินหายใจ
อาการที่เกิดขึ้นนี้ ล้วนเกิดจากความเสื่อมของสมองเนื่องจากเซลล์สมองมีความผิดปกติอย่างช้าๆ ซึ่งเซลล์เหล่านี้มีส่วนในการสร้างสารสื่อประสาทโดพามีนที่ช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ดังนั้น โรคพาร์กินสัน อาการของผู้ป่วยจึงมีความผิดปกติในเรื่องของการเคลื่อนไหวซึ่งเป็นอาการสำคัญของโรคนั่นเอง
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน อาการแทรกซ้อนอื่นๆ ก็อาจเกิดขึ้นจากการป่วยด้วยเช่นกัน อาทิ มีปัญหาด้านความคิดความจำอันเนื่องมาจากความเสื่อมของสมอง มีอาการซึมเศร้าเนื่องจากอาการของโรคและการทำงานของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้ที่ป่วยเป็นโรคพาร์กินสันอาจรู้สึกวิตกกังวล ซึมเศร้า มีความกลัวเกิดขึ้นในใจ ด้านการทำงานของกล้ามเนื้ออวัยวะอื่นๆ นั้น อาจจะกลืนได้ยากขึ้น กลืนช้าลง มีปัญหาด้านการเคี้ยวและการกิน ซึ่งทำให้มีอาการสำลักได้ รวมถึงท้องผูก อาหารไม่ย่อย เป็นต้น
เกร็ดสุขภาพ : การวินิจฉัยผู้ป่วยโรคพาร์กินสันต้องอาศัยการซักถามประวัติและตรวจร่างกายเป็นหลัก รวมถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือการถ่ายภาพเอ็กซเรย์สมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อแยกโรคอื่นๆ ที่มีอาการแสดงคล้ายโรคพาร์กินสันออกไป และตรวจการทำงานของสมองที่เรียกว่า Functional MRI ซึ่งสามารถตรวจวัดความผิดปกติของสารโดพามีนในสองของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันได้
โรคพาร์กินสัน สามารถป้องกันได้หรือไม่ ?
ความเสื่อมของสมองและระบบประสาทที่เกิดนั้น นอกจากในเรื่องของวัยแล้ว ในทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของสาเหตุการเสื่อมของสมองอันทำให้เกิดอาการของโรคนี้ แต่ได้มีการสันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ส่งผลต่อสมองและการทำลายสมองได้ เช่น การใช้สารเสพติด ไมว่าจะเป็นยาเสพติด บุหรี่ แอลกอฮอล์ การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลภาวะและเต็มไปด้วยสารพิษ การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอติดต่อกันเป็นเวลานาน เป็นต้น
ดังนั้น เพื่อชะลอความเสื่อมในสมอง ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และหันมาดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารบำรุงสมองโดยเฉพาะอาหารที่มี วิตามินบี 12 ในพืชผักและเนื้อสัตว์ซึ่งช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เกิดโทษต่อร่างกาย งดใช้สารเสพติด และฝึกสมองเป็นประจำ เช่น การอ่านหนังสือ การเล่นเกมคำศัพท์ คิดเลขเร็ว Crossword Binggo หรือกิจกรรมฝึกสมองต่างๆ และถ้าหากมีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าจะเข้าข่ายเป็นโรคพาร์กินสัน ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที
วิธีดูแลรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคพาร์กินสัน
แม้โรคพาร์กินสัน คือโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาให้อาการทุเลาลงได้ ด้วยวิธีเหล่านี้
- รักษาด้วยา โดยการเพิ่มปริมาณสารเคมีในสมองอย่างโดพามีนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งแพทย์จะพิจารณาการให้ยาตามอาการของผู้ป่วย
- การทำกายภาพบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ
- รักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งมักจะรักษาในผู้ป่วยที่ยังมีอาการไม่หนักมาก หรือผู้ที่มีอาการแทรกซ้อนจากการรับประทานยา โดยการผ่าตัดจะใช้วิธีฝังขั้วไฟฟ้าเพื่อไปกระตุ้นสมอง ซึ่งเรียกว่า การผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation)
นอกจากวิธีการรักษาแล้ว การดูแลตัวเองก็สำคัญเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอาหารการกิน โดยการกินอาหารที่ย่อยง่าย และแบ่งเป็นมื้อเล็กๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่ย่อยยากและอาหารไขมันสูง กินอาหารที่มีเส้นใยสูงเพราะดีต่อระบบขับถ่าย ไม่เสี่ยงท้องผูก นอกจากนี้ อาจมีการเคลื่อนไหวร่างกายเบาๆ เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อเกร็งมากเกินไป เช่น การนวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เล่นโยคะ เป็นต้น และคนในครอบครัวและคนใกล้ตัวจะต้องดูแลผู้ป่วยโรคพาร์กินสันอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการเคลื่อนไหวร่างกายผิดปกติ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น การลื่นล้มหลังกระแทกพื้นในผู้สูงอายุ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา
ทั้งนี้ การดูแลสภาพจิตใจของผู้ป่วยก็สำคัญด้วยเช่นกัน เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้จะมีอารมณ์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะพยายามปลีกตัวออกจากสังคม รู้สึกกลัวและกังวลว่าจะไม่มีใครดูแล เกิดความท้อแท้ หมดกำลังใจ คนในครอบครัวจึงควรดูแลอย่างใกล้ชิด ทำความเข้าใจความทุกข์ใจของผู้ป่วยที่กำลังเผชิญกับโรคนี้ และอยู่เคียงข้างผู้ป่วยให้ปรับตัวกับการดำรงชีวิตอยู่กับอาการของโรคพาร์กินสันได้
โรคพาร์กินสัน คือโรคที่ควรเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด และถ้าหากพบว่ามีความผิตปกติของการเคลื่อนไหวร่างกายดังที่กล่าวมาข้างต้น ให้รับไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย และทำการรักษาโดยเร็วที่สุด แม้โรคพาร์กินสันไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรู้ตัวเร็วและรักษาให้ไวก็จะทำให้อาการไม่ทรุดหนักขึ้น เนื่องจากโรคนี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้น การรักษาให้ทันท่วงที จะทำให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติมากที่สุด และถ้าหากใครกำลังป่วยด้วยโรคพาร์กินสันอยู่ การดูแลตัวเองเป็นที่สำคัญมาก ทั้งการไปพบแพทย์เป็นประจำ ระมัดระวังในการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึง ดูแลสุขภาพอยู่เสมอด้วยการรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย ออกกำลังอย่างพอดี นอนหลับอย่างเพียงพอ และฝึกจิตใจให้อารมณ์ดี ไม่เครียดจนเกินไป ก็จะทำให้มีสุขภาพที่ดีและประคับประคองอาการของโรคได้
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : mayoclinic.org, bumrungrad.com, petcharavejhospital.com
Featured Image Credit : vecteezy.com/siewwy8484301
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ