“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
ชวนรู้จัก Trauma คืออะไร ? บาดแผลทางใจในวัยเด็ก ที่อาจส่งผลต่อชีวิตในวัยผู้ใหญ่
บางคนอาจมีแผลเป็นที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก อาจเป็นเพราะความซน หรือเกิดอุบัติเหตุโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น แผลเป็นที่คิ้ว แผลเป็นที่แขน ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และแผลเป็นเหล่านี้ไม่มีความรู้สึกเจ็บอีกแล้ว ในทางกลับกัน มีแผลเป็นชนิดหนึ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ แต่ยังคงรู้สึกเจ็บปวดอยู่แม้เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม นั่นคือแผลเป็นในจิตใจที่เกิดจากบาดแผลทางใจในวัยเด็ก หรือ Trauma นั่นเอง ซึ่งส่งผลต่อชีวิตวัยผู้ใหญ่ในแง่มุมต่างๆ ทั้งรูปแบบความสัมพันธ์ บุคลิกภาพ หรือสุขภาพใจ ในบทความนี้ เราจะพาไปรู้จักกับอาการ Trauma หรือบาดแผลทางใจ Trauma คืออะไร ? ร้ายแรงขนาดไหน ทำไมถึงส่งผลต่อชีวิตมากมาย ไปดูกันเลยค่ะ
Trauma คืออะไร ? ทำความรู้จักกับ “บาดแผลทางใจในวัยเด็ก” ที่ส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตและบุคลิกภาพในวัยผู้ใหญ่
บาดแผลทางใจในวัยเด็ก หรือ Trauma ถูกนิยามโดยสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกาว่า เป็นประสบการณ์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก ซึ่งสร้างความเจ็บปวดทางอารมณ์ ทำให้เกิดความทุกข์ใจอย่างสาหัส และมีผลกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจในระยะยาว หากในวัยเด็กต้องพบเจอกับเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกหวาดกลัว รู้สึกว่าชีวิตไม่ปลอดภัย ตกอยู่ในอันตราย แม้จะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว หรือเกิดขึ้นหลายๆ ครั้ง ก็ตาม เหตุการณ์เหล่านี้ จะทำให้เกิดบาดแผลในจิตใจ เกิดเป็นประสบการณ์ฝังใจที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตตั้งแต่เด็กไปจนถึงตอนโต และทำให้เกิดบุคลิกภาพต่างๆ ในวัยผู้ใหญ่ อาจมีอาการ Trauma คือสูญเสียการควบคุมตัวเอง ตื่นตระหนก เครียดเรื้อรัง วิตกกังวล และมีปัญาสุขภาพจิตอื่นๆ ตามมาได้
ประสบการณ์ในวัยเด็กแบบไหนบ้าง ที่ทำให้เกิดบาดแผลทางใจได้
Trauma คืออะไรที่เป็นประสบการณ์ลบๆ ในวัยเด็ก ซึ่งยังคงจำฝังใจและเป็นบาดแผลทางใจที่ติดตัวมาจนถึงตอนเป็นผู้ใหญ่ มาดูกันว่า ประสบการณ์แบบไหนบ้าง ที่จะทำให้เกิด Trauma ได้
- การล่วงละเมิดทางร่างกาย จิตใจ การถูกล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงขบวนการค้ามนุษย์ด้วย
- การประสบกับภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหว สึนามิ เป็นต้น
- สงคราม การก่อการร้าย เป็นผู้ลี้ภัยจากสงคราม ถูบจับ ถูกทรมาน
- ความรุนแรงในครอบครัว ถูกทำร้ายร่างกาย หรือเห็นคนในครอบครัวทำร้ายร่างกายกัน
- การสูญเสียคนที่รักอย่างกระทันหัน เช่น พ่อแม่ พี่น้อง
- คนในครอบครัวใช้สารเสพติดและมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อเด็ก
- เติบโตมาในบ้านที่ผู้เลี้ยงดูมีปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น โรคจิตเภท โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ ซึ่งอาจจะทำให้มีความไม่มั่นคงทางจิตใจได้
เมื่อเด็กๆ ตกอยู่ในสถานการร์ที่ทำให้เกิดความหวาดกลัวอย่างรุนแรง หรือถูกทำร้าย ได้รับบาดเจ็บ เป็นความรุนแรงที่กระทบกระเทือนร่างกายและจิตใจ ก็จะทำใก้เกิดความเครียดอย่างหนัก และก่อให้เกิดเป็นโรค PTSD (อ่านเพิ่มเติม PTSD คืออะไร) และติดตัวมาเป็นอาการ Trauma คือ บาดแผลในใจตอนเป็นผู้ใหญ่ได้ แม้เหตุการณ์จะผ่านมาเป็นสิบๆ ปีแล้วก็ตาม นอกจากนี้ การถูกล้อเลียนที่โรงเรียน ถูกรังแก กลั่นแกล้ง ถูกทำให้อับอาย ก็สามารถเกิดเป็นบาดแผลทางใจได้เช่นกัน
เกร็ดสุขภาพ : สถิติจาก National Institute of Mental Health หรือ สถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา พบว่า เด็กหญิงจำนวน 7 % และเด็กชายจำนวน 2 % มีภาวะ PTSD (Post Traumatic Stress Disorder) หลังจากผ่านเหตุการณ์ที่รุนแรง เมื่อเด็กมีภาวะ PTSD มักจะฉายภาพเหตุการณ์ความรุนแรงที่มีประสบการณ์ในหัวซ้ำๆ และมีพฤติกรรมในการพยายามหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ หรือหลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆ ที่จะทำให้นึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งเด็กที่มีภาวะ PTSD จะมีความวิตกกังวล ระแวดระวัง หวาดระแวง และพยายามมองหาสัญญาณที่เด็กๆ คิดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์รุนแรงในความทรงจำ และมีพฤติกรรมหลีกหนี เพื่อป้องกันตัวจากการนึกถึงเหตุการณ์รุนแรงที่เคยเกิดขึ้น
อาการ Trauma คืออะไร ได้บ้าง สามารถสังเกตได้หรือไม่ ?
เมื่อเด็กเผชิญกับเหตุการณ์รุนแรงและสร้างบาดแผลในจิตใจ ในวัยเด็กอาจจะมีการแสดงอาการ Truama คือ อารมณ์ไม่มั่นคง อารมณ์รุนแรง มีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล หวาดระแวง หวาดกลัว ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ มีปัญหาด้านการพัฒนาการ อาจส่งผลกระทบต่อการเรียน ทักษะความจำลดลง ไม่มีสมาธิ ในด้านร่างกาย สามารถสังเกตอาการ Truama คือ กินอาหารน้อยลง รู้สึกเจ็บปวดหรือปวดเมื่อยตามร่างกาย มีปัญหาด้านการนอนหลับ อาจมีอาการฝันร้ายซ้ำๆ ผวาตื่นตอนกลางคืน เป็นต้น
หากไม่ไม่ได้รับการรักษาในวัยเด็ก อาการ Trauma อาจส่งผลต่อสมองและระบบประสาทและส่งผลให้มีพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงในด้านสุขภาพเมื่อเติบโตขึ้น เช่น ใช้สารเสพติดเป็นประจำ มีพฤติกรรมการกินผิดปกติหรือ Eating Disoder ต่างๆ หรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เช่น แข่งรถ หรือมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย เป็นต้น อีกทั้งความเครียดจากบาดแผลในจิตใจอาจนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพจิตอื่นๆ และส่งผลต่อบุคลิกภาพในวัยผู้ใหญ่ และอาจร้ายแรงถึงขั้นเกิดโรคบุคลิกภาพผิดปกติต่างๆ ได้ด้วย
ผลกระทบของTrauma คืออะไรบ้าง ?
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า Trauma ส่งผลต่อวิถีชีวิตและบุคลิกภาพในวัยผู้ใหญ่ มาดูกันค่ะว่า ผู้ที่มีบาดแผลทางใจในวัยเด็ก เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ สิ่งที่เป็นบาดแผลทางใจ จะส่งผลกระทบต่อชีวิตในวัยผู้ใหญ่อย่างไรบ้าง
1. ด้านความสัมพันธ์
ผู้ที่มีอาการ Trauma คือ มีบาดแผลทางใจในวัยเด็ก เมื่อโตขึ้นและมีความสัมพันธ์แบบคู่รัก ก็อาจจะมีรูปแบบความสัมพันธ์ที่ต่างออกไปตามประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในวัยเด็กของแต่ละคน อิงจาก Attachment Theory หรือทฤษฎีความผูกพัน ทำให้มีพฤติกรรมต่างๆ เช่น หึงหวงคู่รัก ไม่เชื่อใจคนรัก อยากควบคุมคนรัก หรือไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ไม่เชื่อในตัวเอง เนื่องจากประสบการณ์ที่ได้รับในวัยเด็กจึงต้องแสวงหาความรักความมั่นคงในจิตใจ ส่งผลให้มีพฤติกรรมดังกล่าว หรืออาจเป็นรูปแบบละเลยหรือไม่สนใจคนรักไปเลย เนื่องจากในวัยเด็กถูกทอดทิ้ง ถูกละเลยความรู้สึก เป็นต้น ทำให้เมื่อโตมาก็แสดงพฤติกรรมแบบนี้กับคนรักเช่นกัน
2. มีปัญหาด้านการไว้ใจผู้อื่น
บาดแผลจิตใจในวัยเด็กอาจทำให้เติบโตมาแล้วเป็นคนที่มีปัญหาด้านการไว้ใจผู้อื่น ไม่เชื่อใจใครง่ายๆ เกิดความระแวงสงสัย เพราะกลัวว่าจะถูกทำร้าย หรือถูกหักหลัง หรือไม่เชื่อว่าตัวเองจะได้รับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ไม่เชื่อว่าตนเองจะได้รับความเคารพหรือถูกปฏิบัติอย่างดีเพราะประสบการณ์ที่โดนทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจนั่นเอง
3. ถูกดึงดูดจากประสบการณ์เดิมโดยไม่รู้ตัว (Trauma Reenactment)
สิ่งนี้เป็นกระบวนการทางจิตที่อาจเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว เช่น เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อติดสุราอย่างหนักจนทำร้ายร่างกายคนในบ้าน เมื่อโตขึ้นและมีคู่ครอง ก็มีสามีที่ติดสุราและทำร้ายร่างกายตัวเองเช่นกัน แม้ว่าจะเกลียดคนแบบนี้และไม่อยากเผชิญกับเหตุการณ์เดิมๆ ในวัยเด็กอีกครั้งก็ตาม แต่เกิดจากกลไกการป้องกันทางจิต ที่คนเรามักจะแสวงหาความคุ้นเคย หรือเป็นความต้องการภายในจิตใจที่เกิดขึ้นอย่างไม่ได้ตั้งใจให้เป็นแบบนั้น แต่เป็นความท้าทายลึกๆ ที่อยากจะเอาชนะหรืออยากรักษาบาดแผลจิตใจในวัยเด็กให้ได้ เช่น เลือกคู่ครองที่มีพฤติกรรมติดสุรา (ด้วยความคุ้นเคย ไม่ใช่ความตั้งใจ) และต้องการทำให้สามีเลิกสุราให้ได้ เพื่อที่ตนเองจะได้หลุดพ้นจากเหตุการณ์นั้นๆ ที่เคยเกิดขึ้นในวัยเด็ก ซึ่ง Dr. Nancy Irwin นักจิตวิทยาคลินิกกล่าวไว้ว่า “หากบาดแผลทางใจยังไม่ได้รับการรักษา บุคคลนั้นจะแสวงหาความปลอดภัยจากความคุ้นเคยโดยที่ไม่รู้ตัว แม้ว่าจะทำให้เจ็บปวดก็ตาม”
เกร็ดสุขภาพ : คนที่มีบาดแผลทางใจในวัยเด็กจำนวนมาก มีความคิดว่า ตัวเองคู่ควรกับการกระทำเหล่านั้น ประกอบกับความคิดลบๆ การพูดในเชิงลบอยู่เสมอส่งผลต่อระบบความคิดในสมอง และการรับรู้โลกรอบๆ ตัวเอง และคิดว่าสิ่งที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่จะต้องเจออยู่แล้ว ซึ่งอาจลืมไปว่า ตนเองมีทางเลือกและสามารถกำหนดชีวิตตัวเองให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้จากการเลือกของตัวเอง ซึ่งการสร้างความรู้สึกเคารพในตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง (Self – Esteem) ในวัยผู้ใหญ่ จะทำให้เกิดการตระหนักรู้ และตัดสินใจเลือกสิ่งที่เหมาะสมได้
4. มีปัญหาด้านความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence)
ผู้ที่มีอาการ Trauma คือ ได้รับการกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างหนักในวัยเด็ก อาจส่งผลต่อการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ ในด้านการควบคุมอารมณ์หรือการแสดงออกทางอารมณ์ที่เหมาะสม เช่น ไม่สามารถควบคุมอารมณ์โกรธที่เกิดขึ้นได้เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์คล้ายๆ กัน หรือ ไม่มีการตระหนักรู้ในอารมณ์ของตัวเองว่า กำลังรู้สึกอะไรอยู่ แสดงความรู้สึกไม่เก่ง เป็นต้น
5. ปัญหาด้านสุขภาพจิตอื่นๆ
มีงานวิจัยเป็นจำนวนมากที่ผลการศึกษาออกมาว่า บาดแผลทางใจในวัยเด็กมีความสัมพันธ์กับการเกิดความผิดปกติด้านสุขภาพใจ รวมถึงศักยภาพภายในที่เกี่ยวข้องกับการะบวนการทำงานทางจิตใจ และส่งผลต่อการทำงานของร้างกายด้วยเช่นกัน เนื่องจากร่างกายแทบจะตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาเพราะความรู้สึกกลัว วิตกกังวล หวาดระแวง ทำให้ฮอร์โมนความเครียดหลั่งมากขึ้น และคนที่มีบาดแผลทางใจในวัยเด็กมีโอกาสที่จะเป็นโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้าสูงกว่าคนที่ไม่มีอาการ Thruma ในวัยเด็ก
6. ปัญหาด้านบุคลิกภาพผิดปกติ
หนึ่งในสาเหตุของการเกิดบุคลิกภาพแบบผิดปกติชนิดต่างๆ มาจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม หรือมีประสบการณ์ที่ไม่ดีในวัยเด็ก เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทารุณกรรม ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกทอดทิ้ง ฯลฯ ก่อให้เกิดบาดแผลทางจิตใจ และพัฒนาไปเป็นบุคลิกภาพแบบผิดปกติชนิดต่างๆ ได้ อาทิ บุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder ) บุคลิกภาพแบบหลีกเลี่ยง (Avoidant Personality Disorder) หรือโรคหลายอัตลักษณ์ (Dissociative Identity Disorder) ที่เคยได้ยินกันบ่อยๆในชื่อ โรคหลายบุคลิก ก็มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการถูกทารุณกรรมในวัยเด็กและเกิดเป็นบาดแผลทางใจได้เช่นกัน
วิธีการรักษาดูแลตัวเองเมื่อมีอาการ Thruma
แม้บาดแผลในจิตใจจากวัยเด็กที่เกิดขึ้น จะส่งผลให้เกิดเป็นแผลเป็นในใจติดตัวมาจนถึงวัยผู้ใหญ่ แต่ก็ใช่ว่าจะต้องจมอยู่กับประสบการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้น และใช้ชีวิตอย่างไม่มีความสุขไปตลอด แม้จะเคยมีบาดแผลทางใจ ก็สามารถดูแลรักษาตัวเองได้ตามนี้ค่ะ
1. พูดคุยกับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์
ถ้ารู้สึกว่า Trauma คืออะไรที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ทำให้ฝันร้ายบ่อยๆ หรือฝันถึงเรื่องราวเก่าๆ ในวัยเด็ก พอตื่นมาก็รู้สึกดิ่งหรือรู้สึกแย่ อีกทั้งยังทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล หวาดระแวง คิดถึงประสบการณ์ร้ายๆ ซ้ำๆ ก็สามารถไปพูดคุยกับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ได้ค่ะ รวมถึงในกรณีที่มีปัญหาด้านความสัมพันธ์หรือมีปัญหาในการใช้ชีวิตคู่อันเนื่องมาจากบาดแผลทางใจในวัยเด็ก ก็สามารถไปปรึกษานักจิตวิทยาครอบครัวได้เช่นกัน
2. บริหารความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
ถ้ารู้สึกปลอดภัยและสบายใจที่จะเล่าเรื่องราวบาดแผลทางใจในวัยเด็กให้กับคนสนิทรอบกาย เช่น เพื่อนสนิท หรือคู่รัก คู่แต่งงาน ก็เป็นการดีที่จะแบ่งปันเรื่องราวเหล่านั้นให้กับคนที่เรารักและไว้ใจ และบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในวัยเด็กส่งผลกระทบต่อเราอย่างไร เพื่อให้คนรักหรือเพื่อนสนิทจะได้เข้าใจเรามากขึ้น อาจจะไม่ต้องเล่าเรื่องราวทั้งหมดก็ได้ สิ่งสำคัญคือ เราสามารถเล่าได้เมื่อเรารู้สึกพร้อมและรู้สึกปลอดภัยที่จะเล่ามันออกมาเพื่อให้ความสัมพันธ์เป็นไปในทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้ายังไม่พร้อมที่จะเล่าก็ไม่เป็นไร แต่การบอกกับคนรอบข้างว่ามีบางสิ่งบางอย่างเคยเกิดขึ้นกับเราและส่งผลต่อจิตใจของเราอย่างมาก คนรอบข้างก็จะได้ทำตัวถูกและไม่เผลอทำให้เรารู้สึกแย่ๆ หรือทำสิ่งในที่ไปสะกิดแผลในใจของเราได้
3. ไม่ลืมที่จะดูแลตัวเอง
การดูแลตัวเองทั้งทางร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลตัวเองขั้นพื้นฐานอย่างการกิน การออกกำลังกาย การนอนหลับให้เพียงพอ การฝึกสติ ทำสมาธิ และดูแลจิตใจตัวเองโดยการไม่เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่อาจไปกระทบกับบาดแผลทางใจที่เคยเกิดขึ้น ฝึกการตระหนักรู้ในอารมณ์และความคิดของตัวเองโดยใช้เวลาอย่างน้อยวันละ 5 -10 นาทีไปกับการจดบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ะละวัน หรือตรวจสอบตัวเองว่าวันนี้เป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร อยากแก้ไขสิ่งไหน วันนี้มีสิ่งดีๆ อะไรเกิดขึ้นบ้าง อยากขอบคุณอะไร ซึ่งจะทำให้เรามีมุมมองเชิงบวกกับชีวิตมากขึ้น และเป็นการพัฒนาจิตใจตัวเองไปด้วย
บาดแผลทางจิตใจ หรือ Trauma ส่งผลกระทบกับชีวิตในตอนโตก็จริง แต่ก็ใช่ว่าทุกคนที่เคยมีอาการ Trauma คือ ความเจ็บป่วยทางใจในวัยเด็ก แล้วจะต้องโตมาเป้นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตหรือมีบุคลิกภาพผิดปกติกันทุกคน ในผู้ใหญ่บางคนที่เคยมีบาดแผลทางใจในวัยเด็กก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ แต่ก็อาจจะมีบางครั้งที่มาอะไรบางอย่างมาสะกิดแผลในใจ หากเราดูแลตัวเองเป็นอย่างดีทั้งกายและใจ หมั่นสังเกตความคิด อารมณ์ ความรู้สึกของเราอยู่บ่อยๆ ไม่ให้ดิ่งลบจากเหตการ์ณ์ร้ายๆ ในอดีตจนเกินไป ก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขได้เช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : helpguide.org, psychcentral.com
Featured Image Credit : pexels.com/Pixabay
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ