“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
Dissociative Identity Disorder คือ ? มีจริงหรือไม่ หลายคนในร่างเดียว !
ถ้าใครเป็นแฟน Disney Hotstar จะต้องเคยเห็นซีรีย์เรื่อง Moon Knight ผ่านตากันมาบ้าง ซึ่งตัวละครหลักของเรื่องเป็นโรค Dissociative Identity Disorder คือ โรคหลายอัตลักษณ์ หรือคุ้นเคยกันด้วยชื่อโรคหลายบุคลิก หรือ Multiple Personality Disorder คือ มีตัวตนหลายคนในร่างเดียว หรือถ้าใครจำภาพยนตร์ชื่อดังเรื่อง Split (2016) นำแสดงโดย James McAvoy ซึ่งตัวละครนี้ มีถึง 24 ตัวตนในคนเดียว! แม้จะฟังดูเกินจริงมากๆ แต่รู้หรือไม่ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ มีเค้าโครงมาจาก “เรื่องจริง” เป็นเรื่องราวของชายที่ชื่อว่า บิลลี่ มิลลิแกน (Billy Milligan) ซึ่งจิตแพทย์ได้ระบุว่าบิลลี่ มีตัวตนที่แตกต่างกันถึง 24 คน เพราะฉะนั้น โรคหลายอัตลักษณ์หรือ Dissociative Identity Disorder เป็นอาการป่วยทางจิตชนิดหนึ่ง ที่มีอยู่จริงค่ะ
แต่ถ้าใครไม่เคยดูทั้งหนังหรือซีรีย์ และอยากรู้ว่าโรคหลายอัตลักษณ์หรือโรคหลายบุคลิกคืออะไร ? แล้วผู้ป่วยจะมีอาการอย่างไรบ้าง ? มีสาเหตุมาจากอะไร สามารถรักษาได้หรือไม่ ? แล้วแบบไหนที่เรียกว่ามีตัวตนหลายคน ถ้าเราอยู่กับเพื่อนสนิทเราเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าอยู่กับคนแปลกหน้าเราก็จะมีการแสดงออกอีกแบบ แบบนี้เรียกว่าหลายบุคลิกหรือไม่ ? มาหาคำตอบไปพร้อมๆ กันในบทความนี้เลยค่ะ
ไขข้อสงสัย โรคหลายอัตลักษณ์หรือ Dissociative Identity Disorder คือ อะไร ?
โรคนี้รู้จักกันในชื่อเดิมว่า Multiple Personality Disorder คือ โรคหลายบุคลิกภาพ จัดเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งในกลุ่มโรค Dissociative Disorders ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรคหลายอัตลักษณ์ หรือ Dissociative Identity Disorder คือความผิดปกติทางบุคลิกภาพชนิดหนึ่งที่มีความซับซ้อนทางจิต ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีอาการหลายอัตลักษณ์ (Identity) หรือมีตัวตนมากกว่าหนึ่ง และมีการแสดงตัวตนแต่ละแบบแล้วแต่จังหวะ เวลา สถานการณ์ ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่างที่เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ป่วยแสดงตัวตนในแบบต่างๆ ออกมา
สาเหตุที่เปลี่ยนชื่อเป็นโรคหลายอัตลักษณ์ หรือ Dissociative Identity Disorder จากชื่อเดิม Multiple Personality Disorder คือ คนเราโดยทั่วไปสามารถมีความหลากหลายทางบุคลิกภาพได้ และไม่จัดว่าเป็นโรค เช่น เมื่ออยู่ในกลุ่มเพื่อนสนิทจะมีความกล้าแสดงออก พูดเก่ง มีอารมณ์ขัน สนุกสนาน แต่อยู่ในที่ทำงานอาจมีบุคลิกแบบเอาจริงเอาจัง เจ้าระเบียบ ค่อนข้างเครียด เป็นต้น ซึ่งเป็นบุคลิกภาพที่แตกต่างตามสถานการณ์ ไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติอย่างใด
ชวนชี้ชัด อาการของผู้ที่เป็นโรคหลายอัตลักณ์ หรือ Dissociative Identity Disorder
ในบุคคลทั่วไปแล้วจะมีเพียงอัตลักษณ์เดียว คือ มีตัวตนอยู่เพียงหนึ่ง และมีสติรู้คิดว่าตัวเองคือใคร แต่ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหลายอัตลักษณ์จะมีตัวตนอยู่มากกว่าหนึ่ง และเป็นตัวตนที่ถูกแยกออกจากกันเป็นหลายส่วน หรือหลายคนนั่นเอง ทำให้อารมณ์และพฤติกรรมที่แสดงออกไม่มีความต่อเนื่องกันและไม่เหมือนกัน โดยระบบความจำ การรับรู้ ความคิด และความรู้สึกมักแยกขาดจากกัน ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถจดจำตัวเองได้เมื่ออีกอัตลักษณ์หนึ่งปรากฏออกมา
นอกจากนี้ แต่ละอัตลักษณ์อาจมีชื่อ เพศ อายุ ลักษณะนิสัยแตกต่างกันไป และสับเปลี่ยนไปมาในตัวคนๆ นั้น ซึ่งแล้วแต่ว่าอัตลักษณ์ใดจะเข้ามาควบคุมความคิด การกระทำ และพฤติกรรม มาดูกันว่า อาการของผู้ที่ป่วยเป็นโรคหลายอัตลักษณ์ หรือ Dissociative Identity Disorder มีอาการอย่างไรบ้าง
- มีตัวตนมากกว่าหนึ่งซึ่งมีความแตกต่างกัน โดยแต่ละตัวตนมีรูปแบบมีการรับรู้ ความจำ มีพฤติกรรมที่แสดงออกต่อสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน พูดง่ายๆ คือ เป็นละคนกันนั่นเอง
- ความทรงจำขาดๆ หายๆ เนื่องจากไม่สามารถจดจำเรื่องราวระหว่างที่อัตลักษณ์อื่นๆ ปรากฏออกมาได้ ผู้ป่วยมักจะปะติดปะต่อความทรงจำไม่ได้ และรู้สึกว่ามีบางอย่างผิดปกติ เช่น รู้สึกว่าเหตุการณ์ในชีวิตไม่ต่อเนื่องกัน
- ในผู้ป่วยบางรายที่รู้ตัวว่าตนเองป่วยเป็นโรคหลากหลายอัตลักษณ์ จะรู่สึกว่าตนเองเป็นผู้มองดูการกระทำของตนเอง และอาจได้ยินเสียงผู้อื่นพูดแทรกขึ้นมา (ตัวตนอีกคนหนึ่ง) ซึ่งเป็นเสียงจากภายในที่ควบคุมตนเองอยู๋
- ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองไม่มีอำนาจควบคุมเมื่ออัตลักษณ์เปลี่ยนไป
- ตัวตนอื่นๆ หรืออัตลักษณ์รองมักจะปรากฏออกมาเมื่ออยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดหรือได้รับความกดดันอย่างหนัก
สาเหตุของโรคหลายอัตลักษณ์หรือ Dissociative Identity Disorder
ตอนนี้เราก็ได้ทราบแล้วว่า โรคหลายอัตลักษณ์หรือ Dissociative Identity Disorder คืออะไร และมีอาการอย่างไรบ้าง ซึ่งผู้ที่ป่วยเป็นโรคหลายอัตลักษณ์ ผู้เชี่ยวชาญได้มีการสันนิษฐานว่า มีสาเหตุมาจากการได้รับความกระทบกระเทือนทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากการถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจในวัยเด็ก เช่น ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกทารุณกรรม หรือประสบกับเหตุการณ์ร้ายแรงในชีวิต เช่น สงคราม ภัยพิบัติ อุบัติเหตุ การจากไปของคนที่รักหรือคนในครอบครัว หรือถูกทอดทิ้งเป็นเวลานาน
อย่างไรก็ตาม โรคหลายอัตลักษณ์สามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกช่วงวัย โดยการพบเจอกับเหตุการณ์เหล่านี้ ทำให้ผู้ป่วยสร้างตัวตนที่แตกต่างออกมาโดยไม่รู้ตัวเพื่อตัดขาดจากสถานการณ์เหล่านั้น และพยายามตัดขาดความทรงจำที่เลวร้ายออกไป อีกทั้งยังเป็นกลไกป้องกันตัวจากความเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
เกร็ดสุขภาพ : การวินิจฉัยผู้ป่วยโรคอัตลักษณ์จะประกอบไปด้วยหลายขั้นตอน ตั้งแต่การสอบถามอาการ เช็คประวัติสุขภาพของผู้ป่วย และตรวจร่างกาย รวมถึงการตรวจ MRI เพื่อให้ทราบว่าไม่มีการบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือมีความผิดปกติทางสมองอื่นๆ ที่มีอาการคล้ายคลึงกับโรคหลายอัตลักษณ์ และแพทย์อาจวินิจฉัยด้วยการตรวจทางจิตเวช (Psychiatric Exam) และใช้คู่มือการวินิจฉัยและสถิติของความผิดปกติทางจิต ฉบับที่ 5 ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (DSM – 5) เพื่อประเมินและวินิจฉัยโรคหลายอัตลักษณ์ร่วมด้วย
โรคหลายอัตลักษณ์หรือ Dissociative Identity Disorder สามารถรักษาได้หรือไม่ ?
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหลายอัตลักษณ์ สามารถทำการรักษาได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตอย่างปกติ และเป็นการเชื่อมโยงอัตลักษณ์แต่ละแบบเข้าด้วยกัน ซึ่งกุญแจสำคัญในการรักษาโรคคือ การเข้ารับการบำบัดกับจิตแพทย์ ในส่วนของการปรึกษาจิตแพทย์ที่ไหน? จริงๆ แล้ว ต้องขึ้นอยู่กับความสะดวกและความสบายใจของผู้ป่วยว่า เข้ากับวิธีการรักษาของจิตแพทย์คนไหนมากที่สุด การรักษาโรค Dissociative Identity Disorder คือวิธีการดังต่อไปนี้
1. จิตบำบัด (Psychotherapy)
ซึ่งจะเป็นการบำบัดด้วยการพูดคุย เพื่อค้นหาถึงสาเหตุหรือสถานการณ์ที่ทำให้อัตลักษณ์ต่างๆ ปรากฏออกมา โดยให้ผู้ป่วยพูดถึงความทรงจำ วิธีรับมือกับสถานการณ์ตึงเครียด และวิธีพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้อื่น
2. การสะกดจิต (Hypnotherapy)
โดยส่วนมากแล้วจะใช้ร่วมกับวิธีการจิตบำบัด ซึ่งการสะกดจิตจะช่วยให้เข้าถึงความทรงจำที่ถูกปิดกั้นเอาไว้ และสามารถควบคุมพฤติกรรมเชิงลบที่เกิดขึ้นเมื่ออัตลักษณ์เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งช่วยให้เกิดการหลอมรวมอัตลักษณ์ให้เป็นหนึ่งเดียวกันด้วย
3. การบำบัดแบบอื่นๆ (Adjunctive therapy)
เช่น ศิลปะบำบัด พฤติกรรมบำบัด สมาธิบำบัด ดนตรีบำบัด เพื่อใช้ในการรักษาร่วมสำหรับการปรับปรุงอัตลักษณ์
เกร็ดสุขภาพ : ปัจจุบันยังไม่มียาที่รักษาโรคหลายอัตลักษณ์ได้โดยตรง ยกเว้นในกรณีที่ผู้ป่วยจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล ก็อาจจะมีการจ่ายยาที่เกี่ยวข้องกับอาการนั้นๆ เช่น ยาต้านเศร้า ยาต้านอาการทางจิต ยารักษาโรควิตกกังวล ตามดุลพินิจของแพทย์
กรณีตัวอย่าง บุคคลที่ป่วยเป็นโรคอัตลักษณ์
เมื่อทราบแล้วว่า โรคหลายอัตลักษณ์ หรือ Dissociative Identity Disorder คืออะไร มีอาการอย่างไร มีสาเหตุมาจากอะไร และสามารถทำการรักษาได้อย่างไรบ้าง คราวนี้ มาดูกันค่ะว่า มีบุคคลดังทั้งในชีวิตจริง และตัวละครในภาพยนตร์ดังๆ เรื่องใดบ้าง ที่ป่วยด้วยโรคหลายอัตลักษณ์
• เชอร์ลี เมสัน หรือ ซีบิล อิสซาเบล ดอร์เซ็ต (Shirley Mason / Sybil Isabel Dorsett)
ผู้ป่วยด้วยโรคหลายอัตลักษณ์ ซึ่งในสมัยนั้น (ปี 1973) ยังรู้จักกันในชื่อโรค Multiple Personality Disorder คือ โรคหลายบุคลิกภาพ แพทย์ได้ระบุไว้ว่า เธอมีตัวตนถึง 16 แบบด้วยกัน เรื่องของซีบิลได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ซีรีย์ และหนังสือขายดีที่ชื่อว่า Sybil ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคหลายอัตลักษณ์คือ การถูกทารุณกรรมทางเพศในวัยเด็กโดยแม่แท้ๆ ของตัวเอง
• คิม โนเบิล (Kim Noble)
คิม โนเบิล ถูกทำร้ายร่างกายตั้งแต่เด็ก เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นได้ประสบกับปัญหาทางสุขภาพจิตมากมายและมีประวัติใช้ยาเกินขนาด จนกระทั่งอายุ 20 ปี อัตลักษณ์อื่นๆ ได้ปรากฏขึ้น ซึ่งมีการคาดเดาว่า เธอมีอัตลักษณ์ถึง 100 ตัวตนเลยทีเดียว ในปี 2010 โนเบิลและลูกสาวได้ไปออกรายการ The Oprah Winfrey Show และในปี 2012 ได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ “All of Me: How I Learned to Live with the Many Personalities Sharing My Body” ในหนังสือได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประสบการณ์ทางโรคหลายอัตลักษณ์ของตัวเอง
• แอรอน ในภาพยนตร์เรื่อง Primal Fear (1996)
ตัวละครแอรอนในเรื่อง Primal Fear ป่วยเป็นโรคหลายอัตลักษณ์ (แต่ในหนังใช้ชื่อเดิม Multiple Personality Disorder คือ โรคหลายบุคลิก) แอรอนเป็นเด็กหนุ่มท่าทางเรียบร้อย ไม่สู้คน แต่จริงๆ แล้วเขาเป็นคนเดียวกับฆาตกรที่สังหารบาทหลวงอย่างเหี้ยมโหด เป็นฝีมือของ “รอย” ตัวตนอีกคนหนึ่งของเขา ซึ่งกำเนิดขึ้นจากการที่แอรอนถูกพ่อถูกทำร้ายร่างกายและถูกบาทหลวงทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจในวัยเด็กเช่นเดียวกัน
เป็นยังไงกันบ้างคะ ? ได้รู้จักโรคหลายอัตลักษณ์ หรือ Dissociative Identity Disorder กันมากขึ้นแล้ว แม้จะดูน่ากลัวเพราะบางตัวตนที่ปรากฏขึ้นก็มีพฤติกรรมรุนแรง ก้าวร้าว ขาดความเห็นอกเห็นใจ ที่อาจทำร้ายทั้งร่างกายตัวเอง และทำร้ายร่างกายผู้อื่น แต่จะเห็นว่า สาเหตุส่วนใหญ่ของโรค Dissociative Identity Disorder คือ การถูกทำร้ายทั้งทางร่างกายจิตใจ และถูกทารุณกรรมในวัยเด็ก ทำให้ต้องสร้างตัวตนอีกคนหนึ่งขึ้นมา ซึ่งเป็นกลไกทางจิตในการปกป้องตัวเอง สิ่งที่จะทำให้คนเป็นโรคหลายอัตลักษณ์มีอาการดีขึ้นคือ การรักษาอย่างสม่ำเสมอโดยการพบจิตแพทย์เป็นประจำ รวมทั้งได้รับความรัก ความเข้าใจจากคนใกล้ชิดหรือบุคคลที่รัก และช่วยเหลือประคับประคองจิตใจผู้ป่วย ก็จะทำให้อาการดีขึ้นและสามารถรักษาได้ค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : my.clevelandclinic.org, psychologytoday.com, healthyplace.com, webmd.com
Featured Image Credit : pexels.com/Elīna Arāja
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ