X

โรคจิตเวชในผู้สูงอายุ มีอะไรบ้าง ? ชวนรู้จัก เพื่อสังเกตและดูแลคนในบ้านกัน !

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

โรคจิตเวชในผู้สูงอายุ มีอะไรบ้าง ? ชวนรู้จัก เพื่อสังเกตและดูแลคนในบ้านกัน !

เมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ นอกจากจะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย  มีความเสื่อมของวัย เช่น สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง สมรรถภาพทางกายไม่ดีเหมือนเดิม เคลื่อนไหวช้าลงไม่คล่องแคล่วว่องไวเหมือนแต่ก่อน และยังมีโรคประจำตัวตามมาอีกมากมาย ทั้งนี้ ผู้สูงอายุยังมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจอีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว อ้างว้าง รู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ไม่ได้อยู่ในวัยทำงาน ต้องอยู่บ้านและพึ่งพิงลูกหลานเป็นหลัก ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเครียด ความกังวล และก่อให้เกิด โรคจิตเวชในผู้สูงอายุได้

โรคทางจิตเวช หรือ Mental Disorder เป็นความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ก่อให้เกิดความผิดปกติของความรู้สึกนึกคิด การรับรู้ และพฤติกรรม และมีอยู่หลายกลุ่มโรคด้วยกัน ซึ่งโรคจิตเวช มีอะไรบ้างนั้น ก็มีอยู่หลายกลุ่มโรค อาทิ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคสมองเสื่อม โรคหลงผิด เป็นต้น ซึ่งเป็นโรคที่เรามักจะเคยได้ยินชื่อกันอยู่บ่อยๆ ในบทความนี้ เราจะมาดูกันว่า โรคจิตเวชในผู้สูงอายุนั้น มีโรคอะไรบ้าง และแต่ละโรคมีอาการเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้รู้วิธีสังเกตผู้สูงอายุ ใกล้ตัว และดูแลหรือรักษาได้อย่างทันท่วงทีค่ะ

โรคจิตเวชในผู้สูงอายุ, โรคจิตเวช มีอะไรบ้าง
Image Credit : pexels.com

เกร็ดสุขภาพ : ปัจจุบันประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ซึ่งจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับประชากรวัยแรงงาน ดังนั้น ปัญหาทางสุขภาพกาย – สุขภาพจิตในผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงควรมีการเตรียมพร้อมเพื่อการรองรับสังคมผู้สูงอายุโดยการฝึกอบรมผู้ประกอบวิชาชีพด้านการดูแลผู้สูงอายุให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคทางจิตเวชในผู้สูงอายุมากขึ้น รวมถึง ให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีป้องกันและแนวทางการจัดการโรคที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้กับผู้สูงอายุเอง หรือบุตรหลาน – สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว ก็จะทำให้มีความพร้อมสำหรับการรับมือสถานการณ์นี้ได้

ชวนรู้จัก โรคจิตเวชในผู้สูงอายุ มีโรคอะไรบ้าง

หลังจากที่ได้รู้ว่า โรคจิตเวช มีอะไรบ้างแล้ว มาดูกันว่า เราสามารถพบโรคจิตเวชกลุ่มโรคในบ้างในผู้สูงอายุ พร้อมรู้ถึงสาเหตุ และวิธีการรักษา เพื่อที่จะได้ดูแลผู้สูงอายุได้อย่างถูกต้อง

1. โรคซึมเศร้า (Depression)

เรียกได้ว่า โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชในผู้สูงอายุที่มักพบได้บ่อย เนื่องจากเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ผู้สูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งในเชิงกายภาพ เช่น ความเสื่อมถอยของร่างกาย สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงเหมือนเดิม เกิดความเจ็บป่วยหรือเป็นโรคต่างๆ มากขึ้น ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เช่น ต้องออกจากงานเนื่องจากอยู่ในวัยเกษียณ กลายเป็นบุคคลว่างงาน ต้องพึ่งพาลูกหลานเป็นหลัก ทำให้บทบาททางสังคมเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้อาจทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกเครียด คับข้องใจ ไม่มีความสุข หรือรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า นำมาสู่อาการซึมเศร้าได้

สาเหตุ : เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสุขภาพ – ทางสังคมของผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกโดดเดี่ยว รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า รู้สึกสิ้นหวัง มองโลกในแง่ร้าย หรือมีปัญหาในเรื่องสุขภาพ – การเงิน อาจก่อให้เกิดความเครียดสะสม และนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้

โรคจิตเวชในผู้สูงอายุ, โรคจิตเวช มีอะไรบ้าง
Image Credit : pexels.com

วิธีการรักษา : การรักษาโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุนั้นสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกับนักจิตวิทยาการปรึกษา การพบจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยและแนะนำแนวทางการรักษารูปแบบต่างๆ เช่น การใช้ยา การทำกิจกรรมฟื้นฟูจิตใจ หรือใช้วิธีจิตบำบัดต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ คนใกล้ตัวหรือลูกหลานก็ยังสามารถ ให้กำลังใจผู้เป็นโรคซึมเศร้า ด้วยการใช้คำพูดที่เหมาะสม เข้าอกเข้าใจผู้สูงอายุอย่างแท้จริง และคอยช่วยเหลือในเวลาที่ผู้สูงอายุต้องการ ก็จะทำให้ผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามีอาการดีขึ้นค่ะ

2. โรคสมองเสื่อม (Dementia)

โรคสมองเสื่อม หรือภาวะสมองเสื่อม เป็นกลุ่มอาการผิดปกติที่มีผลมาจากความเสื่อมของสมองหลายส่วน ทำให้เกิดความบกพร่องด้านการรู้คิด ความจำ การตัดสินใจ การวางแผน การใช้ภาษา รวมไปถึงความสามารถในการรับรู้เกี่ยวกับสังคมรอบตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการเข้าสังคม ผู้ป่วยมักมีอาการหลงลืม ถามซ้ำๆ หลงทาง ลืมวิธีการบางอย่าง หรือถึงขั้นไม่สามารถจัดการกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตัวเอง ซึ่งโรคสมองเสื่อมเป็นโรคทางจิตเวชในผู้สูงอายุที่มักพบได้บ่อยเช่นเดียวกัน

สาเหตุ : ภาวะสมองเสื่อมนั้น มีสาเหตุมาจากหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดในสมอง โรคพาร์กินสัน เนื้องอกในสมอง รวมถึงโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด

โรคจิตเวชในผู้สูงอายุ, โรคจิตเวช มีอะไรบ้าง
Image Credit : pexels.com

วิธีการรักษา : สามารถรักษาภาวะสมองเสื่อมได้ทั้งวิธีการใช้ยาและไม่ใช้ยา เช่น การดูแลเรื่องกิจวัตรประจำวันและฝึกทักษะการเข้าสังคม การปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม การเสริมสร้างด้านอารมณ์ด้วยดนตรีบำบัดหรือศิลปะบำบัด รวมถึงการฝึกกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสโดยการบีบ จับ นวด รวมถึงเสริมสร้างกิจกรรมเคลื่อนไหว ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีสมรรถภาพทางกายที่ดีขึ้น

เกร็ดสุขภาพ :  โรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยมากที่สุด โดยมีอัตรามากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มว่าจำนวนผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันผู้สูงอายุมีอายุยืนมากขึ้น ซึ่งอาการของโรคอัลไซเมอร์ไม่ได้มีแค่การสูญเสียความจำระยะสั้นเท่านั้น แต่อาจมีพฤติกรรมทางจิตเวชร่วมด้วย

3. โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ

โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือ โรค PTSD คืออะไร  PTSD เป็นโรคจิตเวชในผู้สูงอายุที่สามารถพบได้เช่นกัน เนื่องจากผู้สูงอายุมีเหตุต้องเผชิญกับการสูญเสียอย่างร้ายแรง เช่น สูญเสียคู่ครอง เนื่องจากคู่ครองได้เสียชีวิตไปก่อนตนเอง สูญเสียอวัยวะเนื่องจากปัญหาทางสุขภาพ เช่น จำเป็นต้องตัดเต้านมเนื่องจากป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม หรือเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายแรงอื่นๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความรู้สึกอย่างรุนแรง ทำให้เกิดความกลัว วิตกกังวล หวาดระแวง หวาดผวา ตกใจง่าย ฝันร้าย กลัวว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นซ้ำได้อีก

โรคจิตเวชในผู้สูงอายุ, โรคจิตเวช มีอะไรบ้าง
Image Credit : pexels.com

สาเหตุ : เกิดจากการสูญเสียในชีวิต หรือเผชิญเหตุการณ์เลวร้ายที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรง การถูกคุกคาม การเผชิญหน้ากับภัยพิบัติ สงคราม เป็นต้น

วิธีการรักษา : สามารถรักษาได้โดยวิธีการทางจิตบำบัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบำบัดโดยการพูดคุย การบำบัดโดยการทำกิจกรรมต่างๆ รวมไปถึง การใช้ยาเพื่อควบคุมอาการของ PTSD

4. ภาวะสับสนเฉียบพลัน (Delirium)

ภาวะสับสนเฉียบพลัน หรือ อาการเพ้อ เป็นความผิดปกติทางจิตที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการสับสนและสูญเสียการรับรู้ความเป็นจริงอย่างรุนแรง มีอาการเซื่องซึมสลับกับอาการกระสับกระส่าย พูดจาเพ้อเจ้อ เอะอะโวยวาย จำลูกหลานตัวเองไม่ได้ หรือสูญเสียการรับรู้สิ่งรอบตัว และมักมีอาการเป็นๆ หายๆ ซึ่งนับได้ว่าเป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวชในผู้สูงอายุที่มักพบได้ 

สาเหตุ : เกิดจากการใช้ยาบางชนิด ความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทจำพวก  Acetylcholine และ Dopamine หรือเป็นโรคที่ทำให้สมองขาดออกซิเจนหรือโรคที่ส่งผลต่อระบบการทำงานของร่างกาย การเปลี่ยนสภาพแวดล้อม ความเครียด เป็นต้น

วิธีการรักษา : รักษาโดยการใช้ยา การรักษาแบบประคับประคองเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจ การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม การดูแลสุขภาพจิตของผู้ช่วยอย่างใกล้ชิด

5. โรคจิตเภท (Schizophrenia)

ผู้สูงอายุบางท่านอาจมีโอกาสที่จะเป็นโรคจิตเภทได้ สืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย – การเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมทางสังคมอย่างฉับพลัน ทำให้ผู้สูงอายุปรับตัวไม่ทัน ส่งผลให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวลได้ โดยอาการโรคจิตเวชในผู้สูงอายุกลุ่มนี้คือ มีอาการประสาทหลอน เห็นภาพหลอน หูแว่ว สับสนในการเวลา สถานที่ พูดคนเดียวหรือหัวเราะคนเดียว หรือมีอาการหลงผิดต่างๆ เชื่อว่าจะมีคนมาทำร้ายตัวเอง หลงผิดคิดว่าลูกหลานจะเอายาพิษใส่ในอาหารให้ตนกิน เป็นต้น

โรคจิตเวชในผู้สูงอายุ, โรคจิตเวช มีอะไรบ้าง
Image Credit : pexels.com

สาเหตุ : เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง  และเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างสมองบางส่วน ทั้งนี้ อาจเกิดจากความเครียดสะสมในชีวิตประจำวัน การเผชิญกับความรุนแรง ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการของโรคได้

วิธีการรักษา : หากผู้สูงอายุมีอาการของโรคจิตเภท จำเป็นที่จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทันที ดังนั้นบุตรหลานควรนำผู้สูงอายุมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะอาจมีอาการคุ้มคลั่ง ทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายผู้อื่นได้ ซึ่งแพทย์จะทำการรักษาโดยการใช้ยา หรือการรักษาโดยการบำบัดในรูปแบบอื่นๆ ตามการวินิจฉัยของแพทย์

ตอนนี้เราก็ได้รู้ว่า โรคทางจิตเวช มีอะไรบ้าง และในผู้สูงอายุนั้นมีโอกาสที่จะเป็นโรคอะไรได้บ้าง ซึ่งถ้าหากเรามีการเตรียมความพร้อมโดยการศึกษาหาข้อมูลมาก่อน หรือทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนั้นๆ ให้ดี หากผู้สูงอายุในบ้านเราเกิดเป็นโรคต่างๆ ขึ้นมาอย่างไม่คาดฝัน อย่างน้อยเราในบทความนี้เราก็ได้ทำความรู้จักกับโรคจิตเวชในผู้สูงอายุมาประมาณหนึ่ง เพื่อที่จะได้เตรียมตัวได้ทัน และปฏิบัติตนในการดูแลผู้สูงอายุได้ดียิ่งขึ้นค่ะ 

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : journals.sagepub.com, verywellmind.com, who.int, psychiatry.or.th

Featured Image Credit : pixabay.com/Hallmackenreuther

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save