“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
Binge eating disorder คือ อะไร ? กินไม่หยุด ! ไม่หิวก็กิน กินเยอะมาก! ผิดปกติหรือไม่ ใช่โรคการกินผิดปกติไหม ? มาเช็คกัน!
หลายๆ คนอาจเคยได้ยินคำว่า โรคการกินผิดปกติ หรือ Eating Disorders กันมาบ้าง ซึ่ง Eating Disorders คือความผิดปกติของพฤติกรรมการกิน และมักมีความเกี่ยวข้องกับภาวะทางจิตใจ ก่อให้เกิดนิสัยหรือพฤติกรรมการกินที่ไม่ดีต่อสุขภาพ โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นกับคนที่มีความกังวลในน้ำหนักและรูปร่างของตัวเองอย่างหนัก สามารถแบ่งประเภทได้หลากหลาย เช่น Anorexia Nervosa, Bulimia Nervosa,ฺ Binge eating disorder เป็นต้น
ในบทความนี้ เราอยากชวนคุณมาทำความรู้จักว่า Binge eating disorder คืออะไร เนื่องจากเป็นกลุ่มโรคการกินผิดปกติที่พบได้บ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน และก่อให้เกิดผลเสียกับสุขภาพมากมาย เพื่อเป็นการสังเกตตัวเองและคนรอบข้างว่า เข้าข่ายเป็นโรคนี้หรือไม่ มีอาการเป็นยังไง และสามารถรักษาได้ไหม
ชวนทำความรู้จัก Binge eating disorder คือ อะไร
Binge eating disorder คือโรคการกินผิดปกติประเภทหนึ่ง รู้จักกันในชื่อ ‘โรคกินไม่หยุด’ เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีพฤติกรรมรับประทานอาหารปริมาณมากอย่างผิดปกติ และมักจะเกิดขึ้นหลายครั้ง ซ้ำยังไม่สามารถควบคุมการกินอาหารของตัวเองได้ โดยจะกินอาหารในปริมาณมากแม้ไม่รู้สึกหิว และไม่รู้สึกอิ่ม ในบางคนแม้รู้สึกอิ่มแล้วก็ยังคงรับประทานต่อจนกระทั่งรู้สึกจุกหรือแน่นท้องจนต้องอาเจียนออกมา ทั้งยังรู้สึกผิดกับตัวเอง รู้สึกรังเกียจตัวเองที่กินอาหารเข้าไปในปริมาณมาก แต่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เป็นหนึ่งในกลุ่มของ Eating Disorders นั่นก็คือพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติประเภทหนึ่งนั่นเอง
เกร็ดสุขภาพ : โรคกินไม่หยุด เป็นหนึ่งในโรคการกินผิดปกติที่สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่มักพบได้มากที่สุดในช่วงวัยรุ่นตอนปลายหรือช่วงอายุ 20 ปี โดยจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
สาเหตุของพฤติกรรมกินไม่หยุด
เบื้องต้นเราได้รู้ว่า Binge eating disorder คืออะไร ในปัจจุบันยังไม่สามารถวินิจฉัยได้อย่างแน่ชัดถึงสาเหตุของโรค แต่ได้มีการศึกษาว่าโรคกินไม่หยุดนี้ เกิดจากปัจจัยใดบ้าง ได้แก่
- เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักเกิน โดยพบว่าผู้ที่มีพฤติกรรมกินไม่หยุดมักมีโรคอ้วนเป็นโรคประจำตัว
- ไม่มั่นใจในรูปร่างของตัวเอง และมีความพึงพอใจในรูปร่างของตัวเองต่ำ
- เคยล้มเหลวในการลดน้ำหนัก เครียดหรือเสพติดการลดน้ำหนัก
- ดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติดเป็นประจำ
- คนในครอบครัวมีประวัติเกี่ยวข้องกับโรคการกินผิดปกติ
- มีภาวะทางจิต หรือมีปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น เป็นโรคเครียด เป็นโรคซึมเศร้า ไบโพลาร์ และภาวะป่วยทางจิตหลังผ่านเหตุการณ์รุนแรง (Post-traumatic Stress Disorder : PTSD)
ชวนส่องพฤติกรรม – อาการของโรค
หลังจากที่ได้ทราบว่า Binge eating disorder คืออะไร และมีสาเหตุมาจากปัจจัยอะไรบ้าง มาสังเกตพฤติกรรมของตัวเองหรือคนรอบตัวว่า เข้าข่ายการเป็นโรคกินไม่หยุดหรือไม่ เพราะถ้าจับสัญญาณได้ทัน ก็สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือรักษาได้ไว โดยผู้ที่เป็นโรค Binge eating disorder มักมีอาการต่อไปนี้
- รับประทานอาหารในปริมาณมาก แม้ไม่รู้สึกหิว
- ไม่สามารถควบคุมตัวเองให้หยุดกินได้ แม้จะอิ่มแล้วก็ตาม
- รับประทานอาหารปริมาณมากๆ อย่างรวดเร็วในเวลาสั้นๆ
- หลังรับประทานอาหารมักรู้สึกผิด รู้สึกเกลียดตัวเอง โกรธตัวเอง ละอายใจ หรือโทษตัวเองที่กินไม่หยุดและไม่สามารถควบคุมได้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในที่สาธารณะหรือหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารต่อหน้าผู้อื่น
- กักตุนอาหารในปริมาณมาก
- มีความกังวลเกี่ยวกับรูปร่างสูง ลดน้ำหนักบ่อยๆ หรือน้ำหนักขึ้นๆ ลงๆ อยู่เป็นประจำ
ผลกระทบจากโรคกินไม่หยุด
Binge eating disorder คือสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ทำให้เกิดภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดผลร้ายต่อสุขภาพอีกมากมาย อาทิ
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- เบาหวานชนิดที่ 2
- ไขมันในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูง
- ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องผูก กรดไหลย้อน
- ในผู้หญิงอาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ไข่ไม่ตก และมีภาวะมีบุตรยาก
- มีภาวะทางอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล เครียด
Binge eating disorder รักษาได้ไหม ? แนวทางการรักษาโรคทำยังไง ?
หลักจากที่รู้ว่า Binge eating disorder คืออะไร มีอาการเป็นยังไง และส่งผลเสียต่อสุขภาพขนาดไหนแล้ว เรามาดูวิธีการรักษาโรคนี้กันบ้าง ซึ่งโรคนี้รักษาได้หลายวิธีด้วยกันค่ะ
1. รักษาโดยการใช้ยา
เนื่องจาก binge eating disorder ได้ถูกจัดว่าเป็นโรคที่เกี่ยวข้องทางจิต ใจ ดังนั้น คุณหมออาจจะสั่งยาต้านเศร้าหรือยาชนิดอื่นๆ เพื่อรักษาความสมดุลของสารเคมีในสมอง ซึ่งจะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์เฉพาะทาง
2. รักษาโดยวิธีจิตบำบัด
การรักษาด้วยจิตบำบัด โดยการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงปัญหาและสาเหตุของพฤติกรรมด้านลบที่เกิดขึ้น รู้จักวิธีการจัดการกับอารมณ์และความคิดของตนเอง และสามารถควบคุมตัวเองได้มากขึ้น
ทีนี้ทุกคนก็ได้รู้จักโรคกินไม่หยุดหรือ Binge eating disorder กันแล้ว ถ้าหากกำลังสงสัยว่าตัวเองมีอาการแบบนี้อยู่หรือไม่ การพูดคุยกับนักจิตวิทยาหรือแพทย์จะทำให้เราได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดค่ะ และไม่ต้องกลัวว่าตัวเองจะเป็นโรคจิตหรือเป็นผู้ป่วยทางจิต การพูดคุยกับจิตแพทย์นั้นเป็นเรื่องปกติสามัญ และใครๆ ก็สามารถมีความเครียดหรือความทุกข์ในจิตใจได้ ยิ่งไปพบแพทย์เร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งดีต่อสุขภาพกายและใจของเรามากเท่านั้น
เกร็ดสุขภาพ : หากพบว่าคนใกล้ตัวมีอาการของโรคการกินผิดปกติ สิ่งที่เราสามารถทำได้คือ รับฟังอย่างจริงใจ ให้กำลังใจ ชวนกันออกไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยไม่หมกมุ่นอยู่กับตัวเอง และช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยมี Self – Esteem หรือสามารถสร้างกำลังใจให้ตัวเอง ชื่นชมให้รู้สึกว่าพวกเขามีคุณค่า และสามารถผ่านเรื่องนี้ไปได้ โดยที่เราจะให้กำลังใจอยู่ข้างๆ
ประเภทของ Eating Disorders แบบอื่นๆ
นอกจาก Binge eating disorder หรือโรคกินไม่หยุดแล้ว ยังมีโรคที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติแบบอื่นๆ อีก ซึ่งจะขอนำมาเล่าให้ฟังคร่าวๆ ดังนี้ค่ะ
• Anorexia Nervosa
หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘โรคคลั่งผอม’ ซึ่งผู้ที่มีอาการของโรคนี้มักจะจำกัดการกินอาหาร หรือรับประทานอาหารน้อยมากๆ และเลือกกินอย่างเข้มงวด มักปฏิเสธความรู้สึกหิว และมีความหมกมุ่นอยู่กับน้ำหนักของตัวเอง แม้ว่าจะมีน้ำหนักในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าปกติก็ตาม
• Bulimia Nervosa
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคบูลีเมีย ดูเผินๆ เหมือนจะไม่มีความผิดปกติอะไร เพราะรับประทานอาหารเป็นปกติ ไม่ได้ปฏิเสธอาหาร บางครั้งดูเหมือนเป็นคนกินเก่ง แต่เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว จะรู้สึกผิด เนื่องจากมีพฤติกรรมหมกมุ่นเกี่ยวกับการควบคุมน้ำหนักและรูปร่างเช่นกัน และพยายามกำจัดอาหารที่กินเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นการล้วงคออาเจียน การใช้ยาระบาย หรือออกกำลังกายอย่างหนัก
• Avoidant Restrictive Food Intake Disorder
หรือ โรคเลือกกินอาหาร โดยผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายโรค Anorexia Nervosa คือ จำกัดการกินอาหาร ไม่ค่อยอยากอาหาร และเลือกรับประทานอาหารบางชนิดเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกังวลในรูปร่างหรือน้ำหนักของตัวเอง แต่เป็นการเลือกกินที่เกิดจากพฤติกรรมหรือเหตุการฝังใจในวัยเด็ก เช่น ไม่กินอาหารประเภทนี้เพราะกลัวจะสำลัก หรือมีประวัติแพ้อย่างรุนแรง เป็นต้น
• Orthorexia
หรือ โรคคลั่งกินคลีน ใครจะไปนึกว่า เทรนด์การกินอาหารคลีนหรืออาหารเพื่อสุขภาพจะทำให้เกิดพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติได้ ผู้ที่เป็นโรคคลั่งกินคลีนนั้นจะมีความกังวลเกี่ยวกับอาหารมาก และคัดเลือกอาหารที่จะกินอย่างพิถีพิถัน อาจถึงขึ้นหมกมุ่นและก่อให้เกิดความเครียด และจะรู้สึกเครียด กังวลใจอย่างมากถ้าต้องกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ จำกัดอาหารจำพวกโปรตีน ไขมัน คาร์โบรไฮเดรต ซึ่งอาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารและอ่อนเพลียได้
หวังว่าทุกคนจะเข้าใจว่า Eating Disorders คืออะไรกันมากขึ้น และโรคการกินผิดปกติมีประเภทไหนบ้าง อย่างที่บอกไปว่า โรคเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และสามารถรักษาให้หายได้ บางครั้งค่านิยมในด้านความงาม ความผอม หรือการพูดแซวเกี่ยวกับน้ำหนัก รูปร่างของคนอื่น ทำให้ผู้ฟังก่อให้เกิดความรู้สึกเครียด กังวล และอาจทำให้ก่อให้เกิด Eating Disoders ในแบบต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การมีสุขภาพที่ดี และมีความสุขในชีวิตค่ะ ยืดหยุ่นกับชีวิตบ้าง อย่าหมกมุ่นเกี่ยวกับน้ำหนักหรือรูปร่างมากเกินไป ตราบใดที่เรายังคงมีสุขภาพที่แข็งแรง และมีความสุขกับชีวิต เท่านี้ก็เพียงพอแล้วค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : psychiatry.org/patients-families, mayoclinic.org, nationaleatingdisorders.org
Featured Image Credit : freepik.com/wayhomestudio
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ