“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
โรคเรื้อรังมีอะไรบ้าง ? ชวนรู้เท่าทันเพื่อป้องกันไม่ให้บานปลาย !
โรคเรื้อรัง คำนี้ หลายๆ ท่านคงเคยได้ยินมาบ้างไม่มากก็น้อย แต่มีใครทราบบ้างไหมว่า จริงๆ แล้ว โรคเรื้อรังคืออะไร มีการส่งผลเสียต่อร่างกายของเราขนาดไหน ดังนั้นวันนี้เราจึงขออาสาพาทุกท่านไปทำความรู้จักว่า 7 โรคเรื้อรังมีอะไรบ้าง มีสาเหตุมาจากอะไร และเราสามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันโรคเหล่านั้นได้อย่างไร
นิยามของคำว่า โรคเรื้อรัง
นิยามของคำว่า โรคเรื้อรังนั้นได้ถูกกำหนดความหมายแบบกว้างๆ ว่าเป็นโรคที่มีอาการยาวนาน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ และส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า โรคที่เข้าข่ายของโรคเรื้อรังจึงมีเยอะมาก เราจึงขอแนะนำว่า 7 โรคเรื้อรังมีอะไรบ้างที่ค่อนข้างใกล้ตัวของเรา เพื่อให้ทุกคนได้ดูแลตัวเองกัน
โรคเบาหวาน
โรคเบาหวานเป็นโรคที่ร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) จึงทำร่างกายเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมน้ำตาลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จนทำให้มีการสะสมน้ำตาลในเลือด ส่งผลทำให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ เสื่อมถอย และยังส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา
- อาการ
อาการทั่วไปของโรคเบาหวาน คือ มีอาการกระหายน้ำบ่อย รู้สึกหิวบ่อย ปากแห้งแตก ปัสสาวะบ่อย มีการเพิ่มหรือลดของน้ำหนักที่เยอะจนผิดปกติ สายตาพร่ามัว รู้สึกเหนื่อยง่าย และเมื่อเกิดบาดแผล แผลนั้นจะหายยากกว่าคนทั่วไป
- วิธีป้องกัน
คอยหมั่นตรวจระดับน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ โดยใช้เครื่องตรวจเบาหวานแบบพกพาที่ง่ายและสามารถทำได้เอง เน้นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีกากใยอาหารที่สูง ไม่รับประทานรสหวานจนเกินไป งดการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ และควรออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ
โรคมะเร็ง
โรคมะเร็งเป็นโรคเกิดจากเซลล์ในอวัยวะของร่างกาย มีการเจริญเติบโตแบบผิดปกติ คือ มีการเกิดเป็นก้อนเนื้อตรงอวัยวะนั้นๆ และก้อนเนื้อที่เกิดขึ้นมา จะสามารถแพร่ไปติดอวัยวะอื่นๆ โดยผ่านระบบลำเลียงเลือดและระบบทางเดินน้ำเหลืองได้อีกด้วย ดังนั้น มะเร็งจึงมีหลากหลายชนิด ขึ้นอยู่กับว่าเซลล์ของอวัยวะไหนที่เกิดก้อนเนื้อขึ้นมา เช่น มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยที่มีหลายปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น อายุที่เพิ่มมากขึ้น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ สารเคมี แสงอัลตราไวโอเลต
- อาการ
อาการของโรคมะเร็ง ได้แก่ อาเจียน ปัสสาวะ และขับถ่ายเป็นเลือด มีอาการท้องผูกสลับกับท้องเสีย น้ำหนักลดลงอย่างมากในระยะเวลา 6 เดือน บริเวณผิวหนังมีจุดแดงคล้ายไข้เลือดออก ปวดศีรษะอย่างรุนแรง แขนและขาอ่อนแรงอย่างมาก และอาจมีอาการปวดหลังที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
- วิธีป้องกัน
อย่างแรกเลยคือ ควรหลีกเลี่ยงสารก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น แอลกอฮอล์ บุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ
โรคความดันโลหิตสูง
โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่ความดันโลหิตของร่างกาย มีอัตราที่สูงจนผิดปกติ ซึ่งโรคความดันโลหิตสูงนี้ อาจไม่แสดงผลอย่างชัดเจน และนั่นคือความน่ากลัวของโรคนี้ เพราะถือว่าเป็นภัยเงียบ ซึ่งเราอาจไม่รู้ตัวเลยว่าเราเป็นโรคนี้อยู่ และอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนในแบบที่เราไม่ทันได้ตั้งตัว
- อาการ
ในเบื้องต้น อาการของโรคความดันโลหิตสูงคือ มีระดับความดันโลหิตสูงถึงประมาณ 140/90 มิลลิเมตรปรอท อาจมีอาการปวดบริเวณท้ายทอย วิงเวียนศีรษะ ปวดตึงบริเวณต้นคอ แต่เมื่อปล่อยไว้นาน อาจส่งผลไปถึงหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบ และไม่สามารถลำเลียงเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้อย่างเพียงพอ ทำให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ ด้อยประสิทธิภาพลง และอาจเป็นสาเหตุของอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
- วิธีป้องกัน
จำกัดการบริโภคโซเดียมให้ไม่เกิน 2000 มิลลิกรัมต่อวัน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และดูแลควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเกร็ดสุขภาพ : นอกจากที่เราทราบว่าอันตรายจากโรคเรื้อรังมีอะไรบ้างแล้ว อันตรายจากโรคแทรกซ้อนก็น่ากลัวไม่แพ้กัน อย่างเช่น โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคความดันโลหิตสูง อย่างโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เพราะโรคความดันโลหิตสูงอาจทำให้การทำงานของหัวใจผิดปกติ และเกิดกระแสไฟฟ้าที่มีความผิดปกติไปด้วย และเป็นสาเหตุของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
โรคไขมันในเลือดสูง
โรคไขมันในเลือดสูงเป็นโรคที่เกิดจากที่ร่างกายมีภาวะไขมันมาสะสมในเลือดมากจนเกินไป ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดตีบ เลือดไปเลี้ยงอวัยวะไม่เพียงพอ และอาจส่งผลถึงชีวิตได้ โดยที่ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคไขมันในเลือดสูงนั้นมีด้วยกันหลายปัจจัย เช่น การรับประทานอาหารที่มีไขมันมากเกินไป การดื่มแอลกอฮอล์ ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ที่ทำให้ร่างกายเผาผลาญไขมันได้น้อยลง
- อาการ
มีอาการปวดท้อง หรือในบางรายอาจมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง มีอาการเดินโซเซ ควบคุมการทรงตัวได้ยากลำบาก ปวดตามข้อแขน ข้อขา รู้สึกแขนขาตึง มีผื่นสีเหลืองอยู่บริเวณแขนและขา
- วิธีป้องกัน
แน่นอนว่าการกินอาหารที่มีประโยชน์นั้นช่วยได้ทุกอย่างจริงๆ ควรงดสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงจากภาวะตึงเครียด
โรคหลอดเลือดหัวใจ
โรคหลอดเลือดหัวใจเป็นโรคที่เกิดจากการสะสมกันของคราบไขมันภายในผนังหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งอาจเกิดจากคอลเลสเตอรอลที่มากจนเกินไปในเลือด การสูบบุหรี่ หรือแม้กระทั่งความเครียด ส่งผลทำให้หลอดเลือดมีอาการอุดตันจนทำให้เกิดการขัดข้องของการไหลเวียนเลือด
- อาการ
มีอาการแน่นหน้าอกอย่างรุนแรง เมื่อยกของหนัก ทำงานหนัก หรือเครียด และอาจมีอาการอื่นๆ ได้ เช่น เหนื่อยง่าย คลื่นไส้ เหงื่อออกเยอะ และอาจมีความรู้สึกกระวนกระวาย ตัวเย็น ชีพจรเต้นเร็ว
- วิธีป้องกัน
โรคเรื้อรังมีอะไรบ้างที่ไม่สามารถแก้ด้วยการกิน แน่นอนว่าควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นอาหารที่มีกากใยสูงและไขมันต่ำ งดดื่มแอลกอฮอล์ งดหารสูบบุหรี่ ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงความเครียด เช่น การผ่อนคลายกล้ามเนื้อและการฝึกหายใจ
โรคไตวายเรื้อรัง
โรคไตวายเรื้อรังเป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถขับของเสียออกจากไตได้ จึงเกิดการสะสมของของเสีย ทำให้ไตถูกทำลายไปช้าๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเกิดจากโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรืออาจเกิดจากได้รับยาบางชนิดที่เกิดพอดี เช่น ยาแก้ปวด ถ้าไม่ทำการรักษา อาจจะทำให้ไตถูกทำลายจนมีขนาดเล็กลง และไม่สามารถทำการรักษาให้กลับมาเป็นแบบปกติได้
- อาการ
เกิดอาการบวมของแขนและขา รวมไปถึงการบวมของหนังตาและใบหน้า มีความดันโลหิตสูง ปัสสาวะมีความผิดปกติ เช่น ปัสสาวะในเวลากลางดึกมากกว่า 1 ครั้ง ปัสสาวะเป็นเลือด
- วิธีป้องกัน
หลายๆ ท่านคงเชื่อว่างดกินเค็มจัดก็สามารถเลี่ยงโรคไตวายเรื้อรังได้แล้ว แต่จริงๆ แล้ว การกินอาหารรสจัด ไม่ว่าจะเป็น หวานจัด เผ็ดจัด ก็สามารถก่อให้เกิดโรคได้เช่นกัน ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารรสจัดเป็นอย่างมาก และเลี่ยงการใช้ยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น ยาแก้ปวด
โรคอ้วน
โรคอ้วนเป็นโรคที่ร่างกายเกิดการสะสมไขมันมากกว่าปกติ จึงแปรเปลี่ยนไขมันเหล่านั้นเป็นไขมันส่วนเกิน และเก็บกักไว้ตามอวัยวะต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งในการติดโรคเรื้อรังอื่นๆ ได้ โดยที่โรคอ้วนนั้นจะถูกแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ อ้วนลงพุง ที่จะมีการเก็บกักไขมันในส่วนอวัยวะบริเวณท้อง เช่น ลำไส้ กระเพาะ ตับ และอีกแบบคือ อ้วนทั้งตัว คือมีการเก็บกักไขมันไว้ทั่วร่างกาย ไม่มีตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งโดยเฉพาะ
- อาการ
เกิดอาการปวดหลัง ข้อเข่าเสื่อม ปวดตามกระดูกต่างๆ อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง และในผู้ป่วยบางราย อาจเกิดภาวะขาดความมั่นใจในตนเอง จนทำให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน
- วิธีป้องกัน
หลังจากที่เราทราบว่าโรคเรื้อรังมีอะไรบ้าง และทราบถึงสาเหตุ จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่แล้ว สาเหตุของโรคเรื้อรังคือมาจากการกิน และแน่นอนว่าโรคอ้วนก็สามารถหลีกเลี่ยงได้โดยการปรับเปลี่ยนการกินเช่นกัน คือ ให้เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ งดอาหารที่มีไขมันสูง ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ
เกร็ดสุขภาพ : สำหรับคนที่นำหนักตัวที่มาก การออกกำลังแบบหักโหมอาจไม่เหมาะเท่าไหร่ เพราะอาจจะสร้างความเสียหายให้แก่ร่างกายได้ ควรเลือกวิธีออกกำลังแบบพอดี เช่น การเดินเร็ว การวิ่งเหยาะ หรือการคาร์ดิโอลดความอ้วนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่มีน้ำหนักตัวที่มาก
เมื่อเรารู้ว่า 7 โรคเรื้อรังมีอะไรบ้าง และลองสังเกตดู จะพบว่าส่วนใหญ่แล้ว สาเหตุของโรคเรื้อรังต่างๆ มักจะมาการกินและการออกกำลังกายเสมอ ดังนั้นเราควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และแบ่งเวลาในแต่ละวันเพื่อออกกำลังกาย เพื่อให้สุขภาพของเราดีขึ้น และห่างไกลจากโรคภัยต่างๆ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : saintlouis.or.th, paolohospital.com, sikarin.com, siphhospital.com, wattanosothcancerhospital.com
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ